15 เม.ย. 2019 เวลา 04:13 • สุขภาพ
สงกรานต์กับโรคตา
สงกรานต์น้ำต้องสะอาด
พาดหัวไว้อย่างนี้เพื่อต้องการให้เทศกาลดีๆที่มีมานานของไทยผ่านไปด้วยความสุขทุกครอบครัว ท่านทราบหรือไม่ว่าในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยมีสิ่งมีชิวิตเล็กๆอาศัยอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นก็มีกลุ่มที่เรียกว่า free-living amoeba ใช่แล้วเจ้าอมีบาตัวเล็กๆนี้ดำรงชีวิตเป็นอิสระอยู่ แต่ถ้าได้เข้าสู่ร่างกายคนเราแล้ว นับได้ว่าอันตรายมากมายถึงชีวิตได้ เรามาทำความรู้จักกับปรสิตกลุ่มนี้กัน.....
เชื้ออมีบากลุ่มที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระในสิ่งแวดล้อมรอบตัว พบได้ทั้งในดิน น้ำ และฝุ่นละออง กลุ่มสายพันธุ์ก่อโรคที่สามารถทำให้เกิดโรค คือ เนเกลเรีย (Naegleria) และ อะแคนธามีบา (Acanthamoeba) อมีบากลุ่มที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระมีวงชีวิตแบ่งเป็น 2 ระยะ (1) ระยะโทรโฟซอยท์ (trophozoite) อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมมีอาหารเพียงพอ สามารถเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนโดยการกินจุลชีพขนาดเล็กกว่า เช่น แบคทีเรีย รา และ ไวรัส เป็นอาหาร (2) ระยะซีสต์ (cyst) หรือระยะเข้าเกราะ มีรูปร่างกลมขึ้นและสร้างผนังมาห่อหุ้มตัว ทำให้มีความทนทานได้สูงต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตทั่วไป
สถานการณ์ของอมีบากลุ่มที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระ
จากรายงานการสำรวจในประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นสามารถพบเชื้ออมีบาได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ดิน ฝุ่น ดังรายงานวิจัยนี้ที่สำรวจในปี 2559 เก็บตัวอย่างน้ำตามแหล่งธรรมชาติจาก 63 แหล่ง จาก 11 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่ามีเชื้อ Acanthamoeba species 10 จาก 63 ตัวอย่าง(15.9 %) และอีกรายงานวิจัยที่สำรวจน้ำที่เชียงใหม่ช่วงน้ำท่วม ตรวจพบเชื้อทั้ง Acanthamoeba และ Naegleria นี่เป็นบางตัวอย่างสำรวจเขื้อ จะเห็นว่าบ้านเรายังมีเชื้ออมีบาอยู่ตามสิ่งแวดล้อมต่างๆ
การก่อโรคของอมีบากลุ่มที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระ
- Naegleria fowleri ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ (Primary amoebic meningoencephalitis) จากการที่เชื้อเข้าทางเยื่อบุผนังในช่องจมูกผ่าน cribriform plate เข้าสู่เนื้อสมอง ติดเชื้อจากการว่ายน้ำหรือสาดน้ำในสระ หรือบึงมา 3 ถึง 7 วัน ก่อนมีอาการ เมื่อเป็นจะมีอาการ รุนแรง ผู้ป่วยส่วนมากมักเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
- Acanthamoeba (Hartmannella) ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ (Acanthamoeba meningoencephalitis หรือ granulomatous amoebic encephalitis) ผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกนานกว่า ไม่มีประวัติ เล่นน้ำ หรือถูกน้ำในบ่อหรือสระะ ส่วนมากเกิดกับผู้ป่วยที่อ่อนแอและเป็นโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน
- Acanthamoeba keratitis ก่อโรคกระจกตาอักเสบและบริเวณรอบประสาทตา มักพบใ้นผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ จากการได้รับโดยบังเอิญจากดิน หรือฝุ่นละอองกระเด็นเข้าตา รวมถึงน้ำที่ไม่สะอาด
คำแนะนำจากสำนักโรคติดต่อทั่วไป สำหรับประชาชน
เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก ข้อแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อนี้ มีดังนี้
- ผู้ที่มีแผลตามผิวหนัง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคตับ โรคเบาหวาน และผู้ที่ได้รับยากดภูมิต้านทานโรค ควรเลี่ยงการลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งน้ำที่น้ำขับไม่ไหลเวียนหรือน้ำขุ่นดูสกปรก ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างเลนส์ตามวิธีที่จักษุแพทย์แนะนำ
- บุคคลทั่วไป หากว่ายน้ำหรือดำน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ควรระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก (ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆ) ในเทศกาลสงกรานต์ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่นกัน
- ผู้ที่มีอาการป่วยน่าสงสัยหลังจากลงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- สำหรับสระว่ายน้ำ ควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐานและคำแนะนำของกรมอนามัย โดยมีการตรวจวัด และเติมสารประกอบคลอรีน ให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร
แหล่งอ้างอิง
ภาพ
- Figure: Corneal ring infiltrate in a patient with Acanthamoeba keratitis. https://webeye.ophth.uiowa.edu/eyeforum/atlas/pages/acanthamoeba/index.htm
- Images of Acanthamoeba Keratitis | Acanthamoeba | Parasites | CDC: https://www.cdc.gov/parasites/acanthamoeba/health_professionals/acanthamoeba_keratitis_images.html
ข้อมูลโรค
- วิภาภรณ์ เรืองจิระชูพร. อันตรายจากอะมีบาที่ดำรงชีวิตอิสระในธรรมชาติ. ศรีนครินทร์เวชสาร. 2544;16(4):284
- Thammaratana T, et al. Isolation and identification of Acanthamoeba species from natural water sources in the northeastern part of Thailand. Parasitol Res. 2016
- Wannasan A, et al. Potentially pathogenic free-living amoebae in some flood-affected areas during 2011 Chiang Mai flood. Rev Inst Med Trop Sao Paulo. 2013 Nov-Dec.
- ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์. ตำราปรสิตวิทยาสำหรับพยาบาลและสาธารณสุข. 2562
- สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข http://thaigcd.ddc.moph.go.th/2016/knowledges/view/24
ท่านชอบรับประทานปลาดิบ?
หากท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่นิยมชมชอบปลาดิบ อาทิ ซูชิ ซาซามิ ที่ทำมาจากพวกปลาทะเล ท่านอาจจะได้รับสิ่งพิเศษตามมาพร้อมกับมีอาการคล้ายๆโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ อันเนื่องมาจากการติดเชื้อพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis)
พยาธิตัวกลมอะนิซาคิส
มีลักษณะเป็นเส้นสีขาว ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ที่สำคัญๆ คือ Anisakis simplex ตัวอ่อนของพยาธิอะนิซาคิส จะแทรกอยู่ภายในเนื้อปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาหมึก ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน ในประเทศไทยตรวจพบ ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุแรกล้วย ปลาลัง เป็นต้น
การระบาดของพยาธิ
พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เนเธอร์แลนด์ อเมริกาใต้ ประเทศไทยก็เคยมีรายงานการติดเชื้อ
อาการ
อาการต่าง ๆ อาจเกิดหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้ เป็นชั่วโมง หรือเป็นวันก็ได้ อาจจะพบอาการดังนี้
- อาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารจากการเกาะเจาะด้วยปากที่มีหนามและหางที่แหลม จนทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณลิ้นปี่
- คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย จะมีลักษณะอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคอาหารเป็นพิษ
การวินิจฉัย
ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
การรักษา
- ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิชนิดนี้
- ใช้กล้องคีบตัวพยาธิออก ถ้าพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้
การป้องกัน
- ไม่รับประทานเครื่องในปลาแบบดิบ ๆ
- ตรวจดูเนื้อปลาก่อนว่ามีสิ่งแปลกปลอมลักษณะเส้นสีขาวคล้ายๆตัวพยาธิอะนิซาคิสหรือไม่
- นำปลามาแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนทำการประกอบอาหาร
- นำปลามาประกอบอาหารด้วยการผ่านความร้อน 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 1 นาที
เอกสารอ้างอิง
- Uichiro Fuchizaki and Masahi Nishikawa. Gastric Anisakiasis. N Engl J Med 2016; 375:e11
- Center for Disease Control and Prevention, USA. Anisakiasis. https://www.cdc.gov/dpdx/anisakiasis/index.html
- พัชรพร เตชะสินธุ์ธนา. สิ่งที่มากับ…..ปลาดิบ. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=437
- ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์. Anisakis ในพยาธิตัวกลม. ตำราปรสิตวิทยาทางการพยาบาลและสาธารณสุข. 2562, 410 หน้า
ดวงตาของเรา กำลังเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง
190910
โฆษณา