Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PT and Hydro
•
ติดตาม
16 เม.ย. 2019 เวลา 01:00 • ไลฟ์สไตล์
โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy)
https://www.youtube.com/watch?v=o_kus6X4h5g
โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกหรืออัมพาตแบบเบลล์ เป็นโรคที่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7
สาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีทฤษฎีที่เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Herpes (งูสวัด เริม) โดยตรง หรือเกิดจากมีการกระตุ้นเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ที่แฝงตัวหรือหลบซ่อนอยู่ให้แสดงอาการออกมาภายหลัง
อาการของโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นอย่างไร
อาการของโรคมักเกิดขึ้นแบบกะทันหัน เช่น ตื่นนอนตอนเช้าแล้วมีอาการของโรคทันที โดยจะพบว่ามีลักษณะดังนี้
1. หลับตาข้างหนึ่งไม่สนิท ทำให้มักมีปัญหาตาแดง ตาอักเสบตามมา (ควรหาผ้าก๊อซที่สะอาดปิดตาเพื่อป้องกันการระคายเคือง)
2. ไม่สามารถยักคิ้วขึ้นได้
3. มีมุมปากตกด้านเดียวกัน ทำให้เห็นลักษณะปากเบี้ยวขณะยิ้มยิงฟัน เวลากลืนน้ำลายหรือดื่มน้ำมักมีน้ำไหลมาที่มุมปากด้านนั้น และบางคนอาจรู้สึกว่าพูดไม่ชัด
1
4. อาการใบหน้าไม่สมมาตรกันจะสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อกระพริบตา ยิ้ม หรือพูด
5. อาจมีอาการลิ้นครึ่งซีกชา และส่งผลต่อความสามารถในการรับรส
6. อาจมีอาการปวดหูหรือหูอื้อด้านที่มีปัญหา
ทั้งนี้เมื่อเกิดอาการต่างๆ ขึ้นควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันการเป็นโรคและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
https://www.ipohecho.com.my/v4/article/2017/08/16/bells-palsy
ข้อสังเกตเพิ่มเติม ถ้ามีอาการนอกเหนือจากอาการข้างต้น ได้แก่ มีอาการอ่อนแรงหรือชาของแขน และขาครึ่งซีก รู้สึกเวียนศีรษะสับสน รวมถึงพูดไม่ออกฟังไม่เข้าใจ ต้องระวังเพราะนั่นเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันทีนะครับ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
การรักษาทำได้อย่างไร
การรักษามีอยู่ 3 วิธี ได้แก่
1. การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้มักเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (ยา prednisolone) และอาจมีการให้ยาต้านไวรัส ยาในกลุ่มวิตามินบีรวม หรือยาที่มีฤทธิ์รักษาเส้นประสาทส่วนปลาย โดยการให้ยาต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์
2. การรักษาทางกายภาพบำบัด การรักษามักใช้การประคบร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังบริเวณที่มีการอ่อนแรง การใช้หลักการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อใบหน้าฝ่อลีบ การใช้เทคนิคกระตุ้นร่วมกับฝึกการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าจากนักกายภาพบำบัด รวมถึงการรักษาด้วยการนวดและออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยตนเอง ซึ่งเดียวผมจะขอนำเสนอท่าออกกำลังกายในลำดับถัดไปครับ
3. การผ่าตัด กรณีมีอาการคงอยู่นานเกิน 9 เดือนขึ้นไป แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7
เรียนรู้การนวดใบหน้า
ภาพแสดงบริเวณตำแหน่งสำหรับการนวดใบหน้า
การนวดเป็นวิธีการที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อใบหน้าข้างที่อ่อนแรง ลดการหดยึดกับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้ป้องกันการผิดรูปของกล้ามเนื้อใบหน้าได้
การนวดสามารถทำได้บ่อยๆ โดยใน 1 วัน อาจทำประมาณ 3 รอบ รอบละ 10-15 นาที ก่อนเริ่มนวดสามารถใช้การประคบร้อน ประคบบริเวณด้านที่อ่อนแรงประมาณ 15-20 นาที เพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อต่างๆ นุ่มขึ้น
หลักการนวดใบหน้าควรใช้แรงกดที่เหมาะสม กล่าวคือไม่แรงจนรู้สึกเจ็บและไม่ควรเบาเกินไปเพราะอาจส่งแรงได้เพียงบริเวณชั้นผิวหนัง การนวดสามารถใช้สารหล่อลื่นที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหน้าเพื่อให้นวดได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนการนวดใบหน้ามีดังนี้
การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้า
หลักการออกกำลังกายควรฝึกหน้ากระจกเพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อด้านที่อ่อนแรง และบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งสองข้างพร้อมกัน
กรณีที่ด้านอ่อนแรงทำการเคลื่อนไหวได้น้อย สามารถใช้มือช่วยได้
และกรณีที่ด้านอ่อนแรงมีความสามารถเคลื่อนไหวหดตัวได้เพิ่มมากขึ้น ให้พยายามเกร็งค้างไว้หรือใช้มือต้านการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้
จำนวนครั้งในการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับความสามารถในแต่ละบุคคล แต่ควรทำอย่างน้อย 10-15 ครั้ง/ท่า ทำท่าละ 3-5 รอบ
ท่าที่ 1 ท่ายักคิ้ว
ท่าที่ 2 ท่าหลับตาแน่น พร้อมย่นจมูก
ท่าที่ 3 ท่าแก้มป่อง ทำแก้มป่องทั้งสองข้างโดยพยายามไม่ให้อากาศรั่วออกจากปาก อาจเพิ่มความยากด้วยการทำแก้มป่องเข้าแก้มทีละข้างและใช้มือกดดันแก้มข้างที่ทำแก้มป่อง ซึ่งควรเน้นทำด้านที่อ่อนแรง
1
ท่าที่ 4 ท่าทำปากจู๋ นอกจากนี้ยังสามารถฝึกเพิ่มเติมด้วยการเป่าลมออกทางปากให้กระดาษทิชชู่ปลิว
ทำปากจู๋แล้วพยายามเป่าลมออกให้ต่อเนื่อง
ท่าที่ 5 ท่ายิ้มไม่เห็นฟัน เม้มริมฝีปากทั้งบน-ล่างเข้าหากัน จากนั้นพยายามฉีกยิ้มออก
ทางด้านข้าง นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความยากด้วยการคาบไม้กดลิ้น (ไม้ไอศกรีม) โดยพยายามสู้แรงอย่าให้ไม้ถูกดึงออกจากปาก
ท่าที่ 6 ท่ายิ้มยิงฟัน
ท่าที่ 7 ท่าเผยอปาก ทำจมูกบาน
ข้อพึงระวังเพิ่มเติม
- บางท่านอาจคิดว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งบริเวณด้านที่อ่อนแรง จะสามารถช่วยให้อาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกล้ามเนื้อกลุ่มเคี้ยวเป็นกล้ามเนื้อกลุ่มที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ทำให้เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และการเคี้ยวหมากฝรั่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกได้มากขึ้นด้วย
จบกันไปแล้วนะครับสำหรับบทความในวันนี้ คราวหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร อย่าลืมติดตามอ่านกันได้ทางเพจ PT and Hydro กันนะครับ
16 บันทึก
61
11
38
16
61
11
38
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย