16 เม.ย. 2019 เวลา 10:34 • ประวัติศาสตร์
ว่าด้วยเรื่องของปุ๋ยยูเรีย
คนทำเกษตรไม่ว่าจะเป็น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกผัก กูว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักปุ๋ยยูเรีย หรือ ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปุ๋ยสามัญประจำไร่ ประจำสวน วันนี้มาเขียนให้เกษตรกรได้รู้ว่าไอ้เจ้าปุ๋ย ยูเรีย เนีย มันมาจากไหนและมีที่มาที่ไปยังไง
ปุ๋ยยูเรีย คือ สารอินทรีย์สังเคราะห์ ที่มีไนโตรเจน (N)
เป็นส่วนประกอบในอัตราส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 46
โดยน้ำหนัก ปุ๋ยยูเรีย ที่เป็นปุ๋ยเคมีมาตรฐาน
สูตรปุ๋ยของปุ๋ยยูเรีย คือ 46-0-0 เนื่องจากมีสัดส่วนไนโตรเจนสูงที่สุด จึงใช้เป็นแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นธาตุอาหารหลักของพืช โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเพาะปลูกที่ต้องเร่งการเจริญเติบโตของพืชอย่างรวดเร็ว ทำให้พืชมีลำต้นยาว มีใบดก ใบใหญ่ ใบสีเขียวเข้ม น้ำหนักดี
ซึ่งปุ๋ยยูเรียส่วนใหญ่ในบ้านเรามักนำเข้ามาจากแหล่งใหญ่ๆเลย คือ แถบตะวันออกกลาง เช่น การ์ตา ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และก็จากทางแถบประเทศ รัสเซีย ละก็มีอีกทางใกล้ๆบ้านเราก็มี มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งถามว่าทำไมถึงต้องนำเข้ามาจากประเทศพวกนี้ ก็เพราะว่า การผลิตยูเรีย นั้นหลักๆเลยคือต้องอาศัยแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
เริ่มจากการดูดก๊าซไนโตรเจน (N2) จากอากาศ และนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตก๊าซไฮโดรเจน (H2) (บางโรงงานผลิตจากถ่านหิน) มาผ่านกระบวนการผลิตเป็นแอมโมเนีย (NH3)
และได้ผลพลอยได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หลังจากนั้นนำแอมโมเนียเหลว และ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ผลิตได้ก่อนหน้านี้มาผ่านขบวนการทางเคมี ที่ความร้อนสูงประมาณ 180°C ที่ความดันประมาณ 200 บาร์ แล้วนำมาตกผลึก จะได้เป็นปุ๋ยยูเรีย อาจกล่าวได้อย่างง่าย ๆ ว่า ปุ๋ยยูเรียเป็นปุ๋ยที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (เพราะก๊าซไนโตรเจนดูดมาจากอากาศ) อย่างไรก็ตามในขบวนการผลิต จะได้สารพิษที่ไม่ต้องการปะปนมาด้วยคือ ไบยูเร็ต (biuret) ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมให้มีปริมาณต่ำ และใช้เป็นตัวแบ่งเกรดปุ๋ยยูเรีย โดยทั่วไป กำหนดให้ไบยูเร็ตไม่เกิน 1% (ที่กระสอบปุ๋ยยูเรียทุกกระสอบจะต้องมีบอก) อันเนื่องมาจากการผลิตแอมโมเนีย ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ (หรือถ่านหิน) เป็นวัตถุดิบ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติ (หรือถ่านหิน) มีผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตปุ๋ยยูเรีย และส่งผลต่อราคาขายปุ๋ยยูเรียอีกด้วย
เพราะฉะนั้นถ้าใครสังเกตุหากราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ขยับขึ้น มันจะส่งผลกับราคายูเรียด้วย
คุณสมบัติของปุ๋ยยูเรีย (urea property)
มีผลึกสีขาว มีกลิ่นเฉพาะตัว ดูดความชื้นได้ดี ละลายน้ำได้ดีมาก ที่อุณหภูมิห้อง ยูเรีย 1.5 กิโลกรัม สามารถละลายหมดในน้ำเปล่า 1 กิโลกรัมได้ มีจุดหลอมเหลวประมาณ 133 องศาเซลเซียส (สูงกว่าน้ำเดือด) ไม่ติดไฟ
ยูเรีย ที่นำเข้ามาในประเทศไทยถ้าหากเทียบ 100 %
90 % คือใช้ในวงการเคมีเกษตร และอีก 10 % จะกระจายไปตามวงการอุตสาหกรรม วงการอาหาร วงการเครื่องสำอางค์ (เพราะฉะนั้นไอ้พวกคลั่งอินทรีย์จัดๆ พวกมึงหนียูเรียไม่พ้นหรอก 555+) พวกรายละเอียดวงการอื่นเอายูเรียไปใช้ทำอะไรไว้ขอเล่าโพสต่อไปแล้วกัน โพสนี้เอาเฉพาะวงการเกษตรก่อนละกันเพราะเดี๋ยวจะยาวไป พวกมึงจะมาว่ายาวไปไม่อ่านเสียเวลากูพิมพ์อีก
และยูเรียที่ใช้ในวงการเกษตร จะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆเลยคือ
1.ปุ๋ยยูเรียเม็ดโฟม (granular urea)
ปุ๋ยยูเรียเม็ดโฟม เป็นปุ๋ยที่มีเม็ดขนาดใหญ่ 2-4 มิลิเมตร มีสีขาวเหมือนเม็ดโฟม นิยมใช้ทางการเกษตร เหมาะกับการหว่าน และใช้กับเครื่องพ่นปุ๋ยทั่วไปได้ อีกทั้งยังเคลือบด้วยสาร ฟอร์มาลดีไฮด์ ที่ช่วยทำให้ละลายช้า และทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานกว่ายูเรียที่ไม่ได้ได้เคลือบสารนี้อีกด้วย
ปุ๋ยยูเรียเม็ดโฟม เป็นแม่ปุ๋ยหลักไนโตรเจน สำหรับโรงงานผลิตปุ๋ยบัลค์ โดยนำไปบัลค์ปุ๋ย (Bulk Blend Fertilizer) (คลุกปุ๋ย) กับแม่ปุ๋ยชนิดอื่น เช่น แม่ปุ๋ยแดป (DAP) 18-46-0 แม่ปุ๋ยม็อบ (MOP) 0-0-60 และฟิลเลอร์ ด้วยการคลุกเคล้า เพื่อให้ได้ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ตามต้องการ เช่น ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ปุ๋ยสูตร 16-16-8
2.ปุ๋ยยูเรียเม็ดเล็ก หรือเม็ดสาคู (prilled urea)
ปุ๋ยยูเรียเม็ดเล็ก หรือเม็ดสาคู เป็นปุ๋ยที่มีเม็ดขนาดเล็ก 1-3 มิลิเมตร มีสีขาวใสเหมือนเม็ดสาคู เฉพาะในประเทศไทยนิยมใช้ทางการเกษตรน้อยกว่าปุ๋ยยูเรียเม็ดโฟม แต่ใช้ได้ดีกับต้นไม้เหมือนปุ๋ยยูเรียเม็ดโฟม เพียงแต่ไม่เป็นที่คุ้นเคยของเกษตรกร ปุ๋ยยูเรียเม็ดเล็ก ไม่สามารถใช้บัลค์ปุ๋ยได้เนื่องจากเม็ดมีขนาดเล็ก แต่ก็มีบางบริษัทที่เอาไปทำตลาดในผัก หรือ พืชอายุสั้น เพราะว่ามีคุณสมบัติละลายได้ไวกว่าตัวเม็ดโฟมที่ถูกเคลือบมาทำให้การละลายจะช้ากว่าตัวแบบเม็ดใส อีกทั้งยังเอาไปปั่นเป็นปุ๋ยเกล็ดอีกด้วย
ที่สำคัญปุ๋ยยูเรียเม็ดเล็กนิยมใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์เพื่อเสริมโปรตีน (ไม่ใช้ปุ๋ยยูเรียเม็ดโฟม) เพื่อเพิ่มโปรตีนสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องต่าง ๆ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ
นอกจากนี้ปุ๋ยยูเรียเม็ดเล็ก ยังใช้สำหรับงานอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น ปุ๋ยยูเรีย ใช้เป็นสารให้ความเย็น เนื่องจากปุ๋ยยูเรียเวลาละลาย จะมีความสามารถดูดความร้อนได้สูง (ทำให้สิ่งรอบข้างเย็นลง)
ปุ๋ยยูเรีย ใช้เป็นส่วนผสมในพลาสติก เพื่อเพิ่มคุณสมบัติที่ดี
ปุ๋ยยูเรีย ใช้เป็นกาว
ปุ๋ยยูเรีย ใช้เป็นส่วนผสมวัตถุไวไฟ
และอื่น ๆ อีกมากมาย
การให้ธาตุอาหารไนโตรเจนของปุ๋ยยูเรีย (how urea nutrient works)
ไนโตรเจน (N2) เป็นแก๊สที่มีปริมาณมากที่สุดในอากาศ โดยมีมากถึง 78% (มากกว่าแก๊สออกซิเจนที่เราใช้หายใจ) แต่เนื่องจากไนโตรเจนเป็นแก๊สเฉื่อย มีโครงสร้างโมเลกุลยึดเกาะกันอย่างแข็งแรง พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง อีกทั้งไนโตรเจนไม่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีได้โดยง่าย ทำให้ในธรรมชาติและในดินมีไนโตรเจนซึ่งอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก ดินทั่วไปโดยเฉพาะดินสำหรับการเพาะปลูกถูกพืชดูดซึมไนโตรเจนไปใช้จนหมด ทำให้คลาดแคลนไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกต่อไป มีความจำเป็นต้องเติมไนโตรเจนกลับลงสู่ดินในรูปที่พืชดูดซึมไปใช้ได้ในรูปของปุ๋ย และปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูงที่สุดคือปุ๋ยยูเรีย
เมื่อเติมปุ๋ยยูเรียลงในดินจะเกิดกระบวนการดังนี้
• ปุ๋ยยูเรีย เมื่อละลายน้ำจะถูกแบคทีเรียในดินย่อยสลายจะเปลี่ยนรูปเป็น แอมโมเนีย (NH3)
• แอมโมเนียบางส่วน จะระเหยสูญเสียไปจากดิน
• แอมโมเนีย เมื่อโดนความชื้นจะเปลี่ยนรูปเป็นแอมโมเนียม (NH4+)
• แอมโมเนียม จะจับกับอนุภาคดินที่เป็นประจุลบ เป็นธาตุอาหารไนโตรเจนที่พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้
• แอมโมเนียมบางส่วน จะผ่านกระบวนการไนตริฟิเคชั่นถูกแบคทีเรียเปลี่ยนรูปเป็น ไนไตรท์ (NO2-)
• ไนไตรท์ จะผ่านกระบวนการไนตริฟิเคชั่นถูกแบคทีเรียเปลี่ยนรูปเป็น ไนเตรท (NO3-)
• ไนเตรท เป็นธาตุอาหารไนโตรเจนที่พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้
• เนื่องจากไนเตรทมีประจุลบไม่จับกับอนุภาคดิน ไนเตรทบางส่วนจะถูกชะล้างสูญเสียไปจากดิน
อัตราการใช้ปุ๋ยยูเรีย วิธีใช้ และระยะเวลาที่ใช้ (urea usage)
ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ลักษณะของดิน ปริมาณของสารอาหารในดิน และที่สำคัญขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของพืชที่ปลูก พันธุ์พืชที่ปลูก ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 เป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ดีมาก และพืชจึงสามารถดูดซึมธาตุไนโตรเจนไปใช้ได้ทั้งจากทางรากและทางใบ เพราะฉะนั้น การใส่ปุ๋ยยูเรียต้องใส่ในขณะที่ดินเปียกชื้นพอเหมาะ
ส่วนเรื่องการใช้ว่าพืชอะไรใช้ยังไงกูคงไม่เขียนบอกเพราะกูเชื่อว่าเกษตรกรทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่ามันใช้ยังไง แต่กูจะบอกข้อควรระวัง
ข้อควรระวังของการใช้ปุ๋ยยูเรีย (urea usage caution)
การใช้ปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยเคมีชนิดอื่น ๆ ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น จะทำให้มีปุ๋ยตกค้างในดิน ทำให้ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพ ทำให้ดินแข็ง รากพืชชอนไชหาอาหารได้ไม่ดี ทำให้ดินเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ทำให้ดินเค็ม ถ้าใช้ปุ๋ยยูเรียในปริมาณที่สูงเกินไปมาก จะทำให้พืชมีใบสีเขียวเข้ม มีใบเพิ่มผิดปกติ อาจทำให้พืชเฉาและตายได้ (น็อคปุ๋ย) ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ในกรณีต้นข้าว จะได้ข้าวเมล็ดเล็กลีบกว่าปกติ ทำให้ต้นพืชอ่อนแอไม่แข็งแรง และเป็นโรคได้ง่าย เช่น โรคไหม้ข้าวที่เกิดจากเชื้อรา ที่เคยระบาดในจังหวัดมหาสารคาม หนองบัวลำภู
อันเนื่องมาจากใช้ปุ๋ยยูเรียปริมาณสูงมากเกินความจำเป็น ทำให้ต้นข้าวอวบ ใบข้าวอวบ แต่เปราะและอ่อนแอ ติดโรคไหม้ข้าวได้ เคยมีผลสำรวจการใช้ปุ๋ยยูเรียจากทางการ ปรากฏว่าเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยยูเรียมากเกินความจำเป็น เพราะคิดว่ายิ่งใส่ปุ๋ยปริมาณมาก จะทำให้ได้ผลผลิตปริมาณมากตาม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะนอกจากปุ๋ยส่วนเกินที่พืชไม่ได้ดูดซึมไปใช้แล้ว ทำให้ปุ๋ยตกค้าง และเป็นผลเสียต่อดินในระยะยาว และเป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ วิธีที่ถูกต้องคือ ต้องศึกษาลักษณะของดิน เคมีของดิน ปริมาณแร่ธาตุอาหารในดิน ปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในดิน ก่อนการเพาะปลูกในแต่ละครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปเกษตรกรไม่สามารถคาดเดาได้ง่าย ๆ
จากประสบการณ์ ควรส่งดินไปตรวจสอบที่หน่วยเกษตรเป็นระยะ เพื่อจะได้รู้ปริมาณปุ๋ยและแร่ธาตุในดิน เพื่อจะได้เลือกประเภทปุ๋ย และสัดส่วนการใส่ปุ๋ยได้ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนจังหวะเวลาในการใส่ปุ๋ย เพื่อให้พืชสามารถดูดซึมไปใช้งานได้สูงสุดไม่เหลือตกค้าง และยังเป็นการประหยัดค่าปุ๋ยได้อย่างดี อย่างไรก็ได้มีผลการวิจัย สรุปว่าการใช้แต่ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว กลับจะทำให้โครงสร้างดิน สมดุลของดินเสีย ตลอดจนได้ผลผลิตปริมาณต่ำ ควรใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ ควบคู่กันไปด้วยในสัดส่วนที่เหมาะสม
 
เอ้า ว่าจะเขียนสั้นๆ ก็ล่อซะยาวเลย ฝากอ่าน ฝากแชร์หน่อยละกัน จะได้มีกำลังใจเขียนเรื่อยๆ 55555
ด้วยรักจากควายดำ
ปล. ขอบคุณข้อมูลจาก
พี่ชายที่น่ารักจากลำปางที่เพิ่มเติมข้อมูลเชิงลึก
ปล 2 . พยายามเขียนให้อ่านง่ายๆ ไม่ใส่ศัพท์เฉพาะทางมาก พี่ๆท่านใดมีข้อมูลมาเพิ่มเติมได้ครับ
ปล3. ไม่มี
โฆษณา