19 เม.ย. 2019 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา การปรับตัวของ UNIQLO ในยุคดิจิทัล / โดย ลงทุนแมน
“เป้าหมายต่อไปของ UNIQLO คือการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าระดับโลก”
ประโยคนี้ถูกประกาศโดยคุณ Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้งแบรนด์ UNIQLO
ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการนี้มีทั้ง UNIQLO, H&M และ ZARA
1
แล้ว UNIQLO มีกลยุทธ์อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
คำตอบสำหรับภารกิจนี้ของ UNIQLO คือการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือ Digital Transformation
การเปลี่ยนแปลงองค์กรของ UNIQLO เกิดขึ้นภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Ariake Project
โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงสร้าง การดำเนินกิจการในองค์กร และยังรวมไปถึงธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับระบบ Supply Chain ทั้งหมด ผ่านการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
เรื่องนี้คงต้องเริ่มจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า..
กว่าเสื้อ 1 ตัวจะมาอยู่ในมือเราต้องผ่านอะไรบ้าง
จุดเริ่มต้นคือ การออกแบบ
จากแบบเสื้อสู่การผลิต
จากผลิตสู่การกระจายสินค้า
จนในที่สุด เสื้อผ้าเหล่านั้นจะมาอยู่บนมือเรา
ซึ่งถ้าออกแบบดี กระจายสินค้าไม่ดี ก็ไม่เข้าถึงลูกค้า
หรือ ออกแบบไม่ดี กระจายสินค้าดี ลูกค้าก็ไม่ซื้อ
เท่ากับว่า การบริหารทั้งระบบ Supply Chain ให้ดี จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า
1
ภายใต้ Ariake Project UNIQLO จึงเลือกจับมือกับ Google และ Accenture เพื่อพัฒนาขั้นตอนการวางแผนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยนำเทคโนโลยี Big Data และ AI ของทั้ง 2 บริษัทมาช่วยในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า และวิเคราะห์เทรนด์สินค้าสีไหน ประเภทไหน เหมาะกับลูกค้าในพื้นที่ใด
2
และข้อมูลเหล่านี้ ก็จะถูกนำไปใช้ในการวางแผนและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
ซึ่งถ้าเราพูดถึง UNIQLO สิ่งที่ทำให้เราแยกแบรนด์นี้ได้อย่างง่ายๆ ก็คงหนีไม่พ้นสินค้าที่ถูกคิดค้นขึ้นพิเศษเพื่อความสบายเวลาสวมใส่
ยกตัวอย่างเช่น AIRism ที่หลายคนคุ้นหูกันดี
นวัตกรรม AIRism ถูกนำมาใช้ทั้งสำหรับเสื้อผ้าผู้ชายและผู้หญิงของ UNIQLO โดยเรียกได้ว่ามีให้เลือกทุกรูปแบบตั้งแต่เสื้อกล้าม เสื้อแขนสั้น เสื้อแขนยาว ไปจนถึงเสื้อชั้นใน
AIRism ได้รับการตอบรับที่ดีในบ้านเรา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเสื้อตัวใน เพราะมีจุดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้สวมใส่สบายตัว ระงับกลิ่น เพราะนอกจากเนื้อผ้าจะนุ่มสบายแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการระบายอากาศและความร้อนได้ดี ทำให้ผ้าแห้งเร็วและไม่เหนียวเหนอะหนะในระหว่างวัน
ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน คนเหงื่อออกง่าย AIRism จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
1
การสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าของตัวเองในลักษณะนี้ของ UNIQLO เริ่มมาตั้งแต่ปี 1994
Fleece ในปี 1994
HEATTECH ในปี 2003
AIRism ในปี 2008
และอีกหลายๆ นวัตกรรมที่ติดมาบนตัวสินค้า
โดยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ UNIQLO จับมือกับบริษัท Toray และบริษัท Shima Seiki เพื่อร่วมกันพัฒนาการใช้เทคโนโลยีบนสินค้า
1
แค่นั้นยังไม่พอ UNIQLO กำลังพัฒนาโครงสร้างคลัง และการกระจายสินค้าโดยการร่วมมือกับบริษัท Daifuku เพื่อพัฒนาระบบคลังอัตโนมัติ
ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้การบริหารภาพรวมของระบบ Supply Chain ของ UNIQLO ก้าวขึ้นไปอีกระดับ..
ข้อมูลตั้งแต่การออกแบบ จนสินค้าถึงมือลูกค้าจะถูกเชื่อมถึงกัน
และกลายมาเป็นระบบ Supply Chain ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
หมายความว่า UNIQLO จะสามารถออกแบบสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด
วางแผนการผลิตได้แม่นยำมากขึ้น และควมคุมการกระจายสินค้าได้ดีขึ้น
แล้วปัจจุบัน ผลประกอบการ Fast Retailing เจ้าของ UNIQLO เป็นอย่างไร?
1
ปี 2016 รายได้ 510,000 ล้านบาท กำไร 13,750 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 532,000 ล้านบาท กำไร 34,180 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 608,000 ล้านบาท กำไร 44,350 ล้านบาท
เฉพาะในช่วงปี 2017 ถึง 2018 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 14% กำไรเพิ่มขึ้น 30%
โดยสาเหตุหลักมาจากความนิยมของแบรนด์ UNQILO ทั่วโลก ทำให้สามารถขยายสาขาได้มากขึ้นในหลายประเทศ
จำนวนสาขา UNIQLO International
ปี 2011 จำนวน 181 สาขา
ปี 2015 จำนวน 798 สาขา
ปี 2019 จำนวน 1,407 สาขา
การขยายกิจการของบริษัทไปต่างประเทศอย่างก้าวกระโดด
ส่งผลให้ภาพรวมปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทเปลี่ยนมาเป็น
UNIQLO International 42%
UNIQLO Japan 40.6%
GU และ Global Brands 17.4%
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัท UNIQLO มาจากต่างประเทศมากกว่าญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บริษัท
ที่น่าสนใจคือ กลยุทธ์ Digital Transformation ของ UNIQLO ที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้ คุณ Tadashi Yanai เผยว่าเพิ่งเสร็จสิ้นไปเพียง 3 ใน 10 ของโครงการทั้งหมดเท่านั้น..
ก็น่าติดตามว่า ในอนาคตโครงการนี้จะเปลี่ยนแปลง UNIQLO ไปอีกแค่ไหน และจะพาขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดได้หรือไม่
ปัจจุบัน บริษัท UNIQLO มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า ปตท. บริษัทมูลค่ามากสุดในประเทศไทย
เมื่อก่อนถ้าพูดถึงบริษัทญี่ปุ่น เราคงนึกถึงว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ เครื่องจักร
ใครจะคิดว่า วันนี้บริษัทญี่ปุ่นชื่อ UNIQLO ได้สร้างตำนานที่จะก้าวมาเป็นผู้นำวงการเสื้อผ้าของโลก..
Americans believe cotton is best, but we've invented new fabrics that will change your lifestyle.
- Tadashi Yanai
คนอเมริกันเชื่อว่าผ้าฝ้ายดีที่สุด แต่มาวันนี้เราได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ที่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของทุกคน
- ทาดาชิ ยานาอิ
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ ในแอป blockdit
นอกจากนั้น เรายังเขียนเองได้ และสามารถสร้างรายได้ในนี้
โหลดแอปได้ที่ blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
References
-Fast Retailing, Annual Report 2011, 2015, 2018
โฆษณา