19 เม.ย. 2019 เวลา 08:28 • ธุรกิจ
7 ด้านมืดแห่ง “บริษัทญี่ปุ่น” เพราะโลกไม่ได้มีเพียงเรื่องดี และความจริงมันโหดร้ายกว่าที่คิด…
ภาพเหตุการณ์การขอโทษของผู้บริหารแต่ละบริษัท
หากพูดถึงประเทศญี่ปุ่น และสินค้าคุณภาพจากบริษัทญี่ปุ่นแล้ว เราจะนึกถึงการทำงานด้วยความเนี้ยบ คุณภาพงานเยี่ยม และเป็นอะไรที่เชื่อใจได้มากที่สุด
แต่ในช่วงหลังมานี้ มีข่าวคราวที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับทั้งการทำงานอันกดดันภายในบริษัทแห่งแดนอาทิตอุทัย รวมถึงข่าวคราวความไม่ได้คุณภาพของสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแสที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากทั้งโลกต่างก็มีความเข้าใจว่า “สินค้าญี่ปุ่น” คือสินค้าที่มั่นใจได้ในคุณภาพ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการผิดพลาด (ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม) ย่อมมีกระแสลบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บทความนี้ไม่ได้จะทำมาเพื่อโจมตีประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทแห่งใดโดยเฉพาะ แต่เราจะพาไปดูกันว่าช่วงหลังมานี้ เหล่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นหลายแห่งนั้นต่างเผชิญภาวะปัญหารุมเร้ามากขึ้นกว่าในอดีตมากจริงๆ
1. นักข่าวสาวเสียชีวิต จากการทำงานหนัก
Miwa Sado ถูกพบเสียชีวิตภายในที่พักของเธอเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2013 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ภายหลังการสืบสวนทราบว่าเธอประสบภาวะการทำงานหนักจนเกินไป โดยเธอทำงานหนักมาก เฉพาะจำนวนชั่วโมง OT นั้นเธอทำถึง 159 ชั่วโมงในเดือนก่อนเสียชีวิต และหยุดงานแค่เดือนละ 2 วันเท่านั้น
อาการ Karoshi คือชื่อเรียกของการเสียชีวิตจากการทำงานหนักจนเกินไป ซึ่งสื่อญี่ปุ่นระบุว่าเธอไม่ใช่รายแรก และด้วยสภาพการทำงานอันกดดันมากเกินไปของออฟฟิศญี่ปุ่น เธอก็ไม่ใช่รายสุดท้ายด้วย
2. ผู้บริหาร Dentsu ลาออก หลังพนักงานทำงานหนักจนฆ่าตัวตาย
ทาคะฮาชิ มัตซึริ เสียชีวิตในปี 2015 ขณะที่ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโฆษณาให้กับบริษัท ภายหลังศาลมีการตัดสินว่าการฆ่าตัวตายของเธอนั้น เกี่ยวข้องกับการทำงานมากเกินไปจนเกิดความเครียดสะสม และเหล่าผู้บริหารของบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางนโยบายให้พนักงานทำงานอย่างหนักด้วย
ภายหลัง Dentsu ระบุว่าสาเหตุที่ต้องให้เธอทำงานล่วงเวลาถึงเดือนละ 105 ชั่วโมง นั่นก็เพราะเกิดปัญหาขาดแคลนพนักงานในด้านโฆษณาออนไลน์ ซึ่งบริษัทจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มพนักงานเข้ามา
3. การใช้แรงงานทาสของ Mitsubishi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงกลางปี 2015 ทางบริษัท Mitsubishi ออกมาแถลงข่าวขอโทษอย่างเป็นทางการในกรุงลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเรื่องของการใช้แรงงานทาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
พวกเขาจับเชลยศึกกว่า 900 คนมาเป็นแรงงานทาส ทั้งทุบตี ไม่ให้อาหาร สุขอนามัยย่ำแย่ จนมีเชลยศึกชาวอเมริกันเสียชีวิตกว่า 27 คน และถูกตั้งข้อครหาว่าเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่มาจากเลือดเนื้อของเหล่าทาสสงคราม
4. Mitsubishi ยอมรับว่าโกงผลการทดสอบอัตราการบริโภคเชื้อเพลิง
เมื่อเดือนเมษายนปี 2016 ทางผู้บริหารบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่แห่งนี้ ออกมายอมรับในเรื่องของการปลอมแปลงข้อมูลทดสอบประสิทธิภาพรถยนต์ ในแง่ของการบริโภคเชื้อเพลิง
พวกเขาบิดเบือนผลการสิ้นเปลืองน้ำมันของรถยนต์กว่า 600,000 คันที่ส่งขายภายในประเทศ นั่นทำให้หุ้นของบริษัทลดลงกว่า 15% และเสียความเชื่อมั่นอย่างสูง หลังจากที่เพิ่งจะเรียกคืนความเชื่อมั่นได้จากอีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น เบรกขัดข้อง เป็นต้น
5. โกเบ สตีล ปลอมแปลงข้อมูลคุณภาพเหล็ก
โกเบ สตีล ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่น ตกเป็นข่าวดังทั่วโลกหลังออกมาขอโทษในเรื่องการปลอมแปลงข้อมูลคุณภาพเหล็กมานานหลายปี
พวกเขาปลอมแปลงข้อมูลคุณภาพในเหล็กที่ส่งให้ลูกค้ากว่า 200 ราย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ระดับโลก บริษัทผลิตเครื่องบิน รถไฟ และบริษัทใหญ่อีกมากมาย
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้นของบริษัทตกลงกว่า 40% ภายในเวลาเพียง 2 วัน นับเป็นมูลค่าความเสียหายมหาศาล นอกเหนือไปจากยอดขายที่จะลดลง ยังรวมไปถึงภาพลักษณ์ของสินค้าจากญี่ปุ่นที่จะถูกมองว่าไร้มาตรฐานด้วยเช่นกัน
6. Nissan ขอโทษที่ใช้พนักงานไม่มีใบอนุญาต มาตรวจสอบรถ
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางผู้บริหาร Nissan ออกมาขอโทษต่อหน้าสื่อมวลชน หลังถูกเตือนว่าใช้พนักงานที่ไม่มีใบอนุญาต มาตรวจสอบคุณภาพของรถยนต์ใหม่ก่อนส่งมอบให้ลูกค้า
ภายหลังการเตือน ยังคงพบว่าโรงงาน 4 ใน 6 ของบริษัท Nissan ยังคงใช้พนักงานที่ไม่มีใบอนุญาต จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสื่อของญี่ปุ่น นั่นทำให้บริษัทต้องออกมาขอโทษ พร้อมหยุดการส่งมอบรถยนต์ภายในประเทศทั้งหมด รวมถึงเรียกคืนรถบางส่วนได้
“เราขอโทษที่หักหลัง และได้ทำลายความเชื่อมั่นของลูกค้าของเรา” ผู้บริหารกล่าวต่อสื่อมวลชน
7. Toray Industries ปลอมแปลงข้อมูลผลิตภัณฑ์
บริษัทผู้ผลิตเส้นใยคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ออกมาขอโทษต่อสังคมในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการปลอมแปลงข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพของบริษัท
พวกเขาปลอมแปลงข้อมูลในขั้นสุดท้าย ก่อนส่งสินค้าให้กับลูกค้ากว่า 13 ราย รวมไปถึงรายใหญ่อย่าง Boeing หรือ Uniqlo อีกด้วย และบริษัทโทเร เป็นรายล่าสุดในกลุ่มบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีปัญหา จนต้องออกมาขอโทษต่อหน้าสื่อมวลชนอย่างที่หลายบริษัทปฏิบัติมา
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความขาดคุณภาพ ของสินค้าจากประเทศที่ดูน่าเชื่อถือมากที่สุดในโลกอีกแห่ง ซึ่งก็มีด้านที่ไม่ค่อยดีหรือด้านมืดให้เราได้เรียนรู้ ฉุกคิด และเตือนใจให้รู้ว่าโลกเราไม่ได้มีแต่อะไรดีสุด หรือแย่สุดเสมอไป ทุกเรื่องต่างก็มี 2 ด้าน ทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไปเช่นกัน…
โฆษณา