20 เม.ย. 2019 เวลา 01:21 • ธุรกิจ
“The Disruptor”
 
ผู้เขียน: คุณรวิศ หาญอุตสาหะ
 
สนพ: We Learn
หมวด: ธุรกิจ
เหมาะกับใคร: “ผู้ต้องการอัพเดทความรู้ใหม่ๆ”
The Disruptor
มีใครรู้จัก หรือจำเครื่อง Personal Digital Assistant (PDA) หรือเรียกง่ายๆ ว่า ปาล์ม (Palm) กันได้มั่งไหมครับ?
 
มันเคยออกวางจำหน่ายเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในช่วงที่โทรศัพท์มือถือเป็นแบบปุ่มกด โดยมี “Nokia” เป็นจ้าวตลาด
 
ถ้านิยามบ้านๆ มันก็คืออุปกรณ์ “ออแกไนเซอร์ไฮเทค” ที่ (ส่วนใหญ่) มี “สไตลัส” (Stylus) เป็นแท่งใช้จิ้มที่จอทัชสกรีน เพื่อสั่งให้มันทำงานให้ตามประสงค์ ข้อเด่นอีกอย่างคือ มันสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ (ในสปีดเต่าคลาน)
 
มันช่วยจัดการงานที่ยุ่งเหยิง รุงรัง ทั้งหลายของผู้บริหาร ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นตัวเสริมฟังค์ชั่นที่โทรศัพท์มือถือยุคนั้นยังทำไม่ได้
เครื่อง PDA
เวลาที่ถือไปไหนมาไหน ก็ดูโก้ ไฮโซดีครับ แต่ประโยชน์กับราคาช่างสวนทางกันมากๆ ครับ คือ มันใช้งานยากไป สุดท้ายเลยวางแหมะไว้ที่บ้าน เพราะขี้เกียจพกทั้งมือถือ ทั้ง PDA ไปไหนๆ ให้ลำบาก
 
อ้อ! มันมีเกม (ที่ต้องให้ร้านลงให้) อยู่ในเครื่องด้วยนะครับ แต่ก็ไม่สนุกเอาซะเลย
 
ผมก็คิดเล่นๆ ว่า ทำไมหนอ ถึงไม่มีใครคิด PDA มาผสานร่างกับโทรศัพท์มือถือไปพร้อมๆ กันซะเลย
 
ระหว่างที่ PDA กำลังทำตลาดไปได้อย่างต้วมเตี้ยม และยังไม่ปังเท่าไหร่ กลายเป็นว่า ไม่ใช่ผมคนเดียวแฮะที่คิดจับอุปกรณ์ 2 อย่างมาฟิวชั่นกัน
 
มันก็โดนอุปกรณ์ตัวใหม่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ความสนใจของผู้บริโภคอย่างหนักหน่วง อุปกรณ์ที่ว่า ก็ Smart Phone ยี่ห้อ BlackBerry นั่นเองครับ!
Smart Phone ที่ถูกออกแบบให้มีคีย์บอร์ดบนเครื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูงมาก...
 
BlackBerry กินส่วนแบ่งการตลาดทั้ง PDA และโทรศัพท์มือถือ โดย “Nokia” ที่เป็นเริ่มจะเห็นเค้าลางไม่ดี เลยทำการผลิตโทรศัพท์มือถือที่มีคีย์บอร์ดออกมาสู้บ้าง
โทรศัพท์ BlackBerry
ระหว่างที่ผู้ผลิตหลักๆ ทั้ง BlackBerry กำลังชื่นมื่นกับยอดขาย Nokia ที่กำลังเร่งทำการตลาดแข่งขันอย่างเข้มข้น และ PDA ที่กำลังพะว้าพะวงเพื่อดึงยอดขายให้กระเตื้องขึ้น
 
ทั้งหมดกลับต้อง “ตื่นตะลึง” กับผู้แข่งขันรายใหม่ ที่ไม่เคยเข้ามา “เล่น” ในตลาดนี้มาก่อนเลย
 
บริษัทคอมพิวเตอร์อย่าง Apple Inc. แนะนำโลกให้รู้จักกับ iPhone ในปี 2007 !
iPhone ที่มีระบบการใช้งานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ภาพสวยคมชัด ขนาดกระทัดรัด รูปลักษณ์สุดล้ำ หน้าจอทัชสกรีนกว้างขวาง ที่ใช้นิ้วจิ้มได้เลย และมีปุ่มกดน้อยมาก
 
iPhone ทำงานได้ทุกอย่างที่ PDA, BlackBerry, Nokia ทำได้ และทำได้แจ๋วกว่านั้นอีก เพราะผู้ใช้ สามารถอัพเกรดระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นที่พัฒนาได้เอง มีเกมฟรีโหลดได้เอง มีกล้องถ่ายรูป เพลง และสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างดี
iPhone X และ iPhone 1
เมื่อครั้ง iPhone ออกมาใหม่ๆ พร้อมระบบปฏิบัติการ iOS ที่ไม่เหมือนใคร (Nokia ใช้ Symbian) มีราคาในตลาดที่สูงมาก และฟังค์ชั่นทั้งหลายก็ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะล้ำสมัยเกินไป ในขณะที่เทคโนโลยีพื้นฐาน (อย่างระบบอินเตอร์เน็ต) ยังพัฒนาไม่ทัน
 
จนผู้ครองตลาดก่อนๆ มีความเชื่อว่า iPhone “ไม่น่าจะ” ใช่คู่แข่งของพวกเขา และยึดจุดเด่นที่ “เคย” ประสบความสำเร็จไว้แบบเดิมต่อไป
 
อย่างไรก็ดี นอกจาก iPhone แล้ว ก็มีบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหม่ๆ หลายบริษัท (เช่น Sumsung, Sony, HTC) เลือกใช้ระบบปฏิบัติการ “Android” ที่พัฒนาโดย Google เร่งทำสมาร์ทโฟนของตัวเองออกมาอีกด้วย
เมื่อมีคู่แข่งหลายเจ้าโผล่มา และผู้นำตลาดที่เป็นองค์กรขนาดมหึมา ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้รวดเร็วพอ ทั้งยึดติดในความสำเร็จและ ระบบปฏิบัติการเดิมๆ อย่าง Symbian
 
.
หลังจากนั้น Apple ออก iPhone 2 และ iPhone 3 ยิ่งประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น สินค้าสร้างผู้บริโภคที่เป็นสาวก ทั้งการตลาดที่เร้าใจ จนยึดครองตลาดกลางค่อนไปทางบนไว้ได้แบบเบ็ดเสร็จ
 
Sumsung เองก็ออกโทรศัพท์หลากหลายรุ่น รวมทั้ง Sumsung Galaxy ที่มีความต่างของราคาหลากหลายตอบรับความต้องการ และเป็นตัวเลือกต้นๆ ของระบบปฏิบัติการ Android
PDA ทั้งหมดจึงสูญพันธ์ุไปอย่างสมบูรณ์ราวๆ ปี 2010
 
Nokia (ที่ภายหลังถูก Windows ซื้อกิจการ) และ BlackBerry ก็สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปอย่างถาวร และไม่สามารถกลับมาอยู่ที่จุดเดิมได้อีกเลย จนถึงปัจจุบัน
 
การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง แต่ผู้ที่กล้าเปลี่ยนก่อนเท่านั้น จึงจะได้รับรางวัลที่คู่ควร
“Disrupt” คือคำกิริยา เป็นศัพท์ที่เมื่อธุรกิจนำมาใช้แล้วหมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แทบไม่ทันตั้งตัว คล้ายการปฏิวัติ
 
“The Disruptor” เป็นคำนาม คือ คน หรือ บริษัท ที่เห็นโอกาส แล้วทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่างแบบทันที ซึ่งผู้ที่จะเป็น Disruptor ได้ ต้องประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่ลงมือทำได้มากพอสมควรด้วย หากเปลี่ยนแล้วล้มเหลว หรือไม่ปังพอ ก็จะไม่ถูกเรียกว่า Disruptor นะครับ
 
หวังว่าตัวอย่างข้างบน คงทำให้คุณเห็นภาพการ Disrupt และ Disruptor ได้ชัดเจนขึ้นนะครับ
 
และ… ถึงเวลาเล่าหนังสือเล่มล่าสุดของ “คุณแท๊ป” รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้เป็น Disruptor ของแป้งหอมศรีจันทร์ที่เขาเป็นเจ้าของนั่นล่ะครับ
หนังสือมี 50 ตอนที่อ่านเพลิน อ่านสนุก และทันต่อเหตุการณ์มากๆ ครับ ด้านล่างต่อไปนี้ เป็นแนวคิดเพียงสั้นๆ ที่ผมกลั่นออกมาให้คุณ เพื่อการเป็น Disruptor นะครับ
.
.
1) อย่าประมาท
.
.
ในการทำธุรกิจ หรือใช้ชีวิต หลายๆ คนมักได้รับ “คำเตือน” ในรูปแบบของเหตุการณ์ หรือ อาการเจ็บป่วยของร่างกาย เป็นคำใบ้เพื่อให้คุณเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว
 
บางคนโชคดีที่เห็น และเลือกที่จะเปลี่ยนระบบการทำงาน และกลับมาดูแลสุขภาพ จนสถานการณ์ลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่หลายคนกลับไม่ยอมเปลี่ยน จนเมื่อรู้ตัวอีกทีก็เจ็บหนักซะแล้ว
 
.
คำถามฉุกคิด: “วันนี้ คุณได้มองเห็น หรือได้ยินการเตือนอะไรบ้างรึเปล่าครับ?”
2) เลือกพัฒนาความเก่งของคุณ
.
.
เวลา และทรัพยากรของคุณมีจำกัด การที่คุณเลือกลงทุนอะไรสักอย่าง ย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการทำอะไรอีกอย่างเสมอเช่นเดียวกัน
 
สิ่งที่คุณควรทำ คือ หันมามองความสามารถที่ “เก่ง” ของคุณก่อน และพัฒนามันกลายเป็นความสามารถที่ “สุดยอด” จะดีกว่ามัวไปลงทุนจนหมดหน้าตักกับการฝึกฝนในเรื่องที่คุณไม่เก่ง ไม่ค่อยถนัด และสุดท้ายก็กลายเป็น คนที่รู้ทุกอย่าง แต่ไม่เก่งจริงสักอย่าง
 
เลือกเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดีกว่าคนที่ (ดูเหมือนจะ) เก่งไปทุกอย่างดีกว่านะครับ
 
.
คำถามฉุกคิด: “คุณมีความเก่ง เชี่ยวชาญเรื่องอะไร และจะนำไปพัฒนาต่อได้อย่างไร?”
3) สภาพแวดล้อม มีผลต่อความสำเร็จของคุณ
.
.
สภาพแวดล้อมที่คุณอยู่นั้น มีผลอย่างมากต่อความสำเร็จในการทำงาน ไม่ต่างไปจากความขยัน บากบั่น อดทน เลย
 
สิ่งที่คุณควรทำเป็นอย่างมาก คือ ออกแบบสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้สามารถเติบโตได้ เลือกคบกับผู้ที่ช่วยให้คุณสามารถพัฒนาตนเอง เลือกเสพแต่สิ่งที่ช่วยให้คุณได้เรียนรู้ และมองหาบทเรียนจากเรื่องราวที่ผิดคาด
 
ใช้เทคโนโลยีปัจจุบันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ของคุณเอง มากกว่าความบันเทิงด้วยนะครับ
 
.
คำถามฉุกคิด: “เพื่อนสนิทของคุณคือใครบ้าง และคุณใช้เทคโนโลยีได้คุ้มค่ารึยัง?”
.
4) ไอเดียเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นดีกับคุณ
.
.
หลายๆ ครั้ง ไอเดียของคุณก็แปลกใหม่จนคนอื่นๆ ตามไม่ค่อยทัน หลายๆ ครั้ง คนใกล้ตัว (ที่เป็นห่วงคุณ) นั่นแหละที่จะเป็นผู้กังวล และพยายามให้คุณเลิกทำมันมากกว่าคนภายนอก
 
สิ่งที่คุณควรทำคือ อย่าอวดดี อย่าโวยวาย หรือหงุดหงิด จงตั้งใจทำงานของคุณอย่างเต็มที่ อุดช่องโหว่ทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น และอย่าให้งานประจำ หรือความรับผิดชอบเดิม ของคุณเสียไป พึงระลึกไว้เสมอว่า เมื่อวันที่คุณประสบความสำเร็จ
 
คนใกล้ชิดคุณนั่นล่ะครับ เขาจะยินดีกับคุณได้ด้วยความจริงใจ
 
อย่างไรก็ตาม หากไอเดียมันไม่เวิร์คจริงๆ จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จงยอมรับความผิดนั้น แล้วคนรอบข้าง จะช่วยเหลือคุณเพื่อให้คุณได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
 
.
คำถามฉุกคิด: “ไอเดียใหม่ๆ เป็นเรื่องดี แต่คุณกำลังทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่รึเปล่า?”
5) ความซ้ำซากคือพลัง
.
.
การมีวินัย การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนเป็นเรื่องปกติ (routine) เป็นสิ่งที่ทรงพลังมากๆ สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นนักกีฬาอย่าง “ไมเคิล เฟลป์ส” นักว่ายน้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิค 18 เหรียญ ผู้บอกไว้เองว่า ตัวเขานั้น “จดจ่ออยู่กับกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์”
 
หรือจะเป็น อ.บัณฑิต อึ้งรังสี ที่ไปแข่งขันและได้รับชัยชนะที่คาร์เนกี้ ฮอลล์ ก็บอกว่า กุญแจของความสำเร็จ คือ “ฝึก ฝึก ฝึก”
 
ดังนั้น อย่าลืมฝึกฝนทักษะที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่ายกาย จิตใจ และความคิด เพื่อให้เตรียมพร้อมกับความสำเร็จในอนาคตนะครับ
 
.
คำถามฉุกคิด: “วินัยของคุณคืออะไร และคุณรู้รึเปล่าว่ามันจะพาคุณไปที่ไหน?”
6) อุปนิสัยของคุณ คือตัวชี้วัดความสำเร็จในระยะยาว
.
.
มีการวิจัยและพบว่า “อัตตาของผู้นำ” คือ ตัวที่สามารถใช้ชี้วัดความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวได้ ผู้นำที่รับฟัง ถ่อมใจ เห็นคุณค่าของพนักงาน มีใจที่เปิดกว้าง สามารถปรับตัว เรียนรู้ได้ มีแนวโน้มที่รักษาความสำเร็จทั้งตนเอง และพาองค์กรไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง
 
ในขณะที่ผู้นำผู้คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง เชิดชูความเก่งตนเอง หาประโยชน์เข้าตัวเสมอ ทั้งทำตัวเหนือกว่าพนักงานคนอื่น สุดท้ายจะประสบความล้มเหลวอย่างแน่นอน
 
.
คำถามฉุกคิด: “คุณปฏิบัติตัวอย่างไร กับผู้ร่วมงานของคุณ?”
7) กุญแจของผู้ประสบความสำเร็จ
.
.
คุณแท๊ป ผู้เขียน ได้ไปพูดคุยกับสุดยอดนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ 4 คน และเหล่านี้ คือสิ่งที่เขาสังเกตุว่าทุกๆ คนมีเหมือนกันหมด
.
.
1. ทุกคนสังเกตรู้ว่าตัวเองมี “ช่วงเวลาทอง” (Prime Time) ระหว่างวันตอนไหน คือเป็นช่วงที่มีสมาธิ พลังสมองสูงสุด สามารถผลิตงานได้มีประสิทธิภาพ และพวกเขาจะหวงแหนเวลานี้ไว้เพื่อการทำงาน เช่น ของ “คุณบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ” (คุณบอย ไม่ใช่ 4 คนที่คุณแท๊ปไปคุยนะครับ) เล่าให้ฟังว่าของเขาคือ ช่วงหลัง 4 ทุ่ม
.
.
2. พวกเขาดูแลร่างกายดีมาก จากการออกกำลังกาย พักผ่อน และรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย
.
.
3. พวกเขาจดจ่อ ทำงานเป็นเรื่องๆ ไป ทุกคนจะแบ่ง “สล็อตเวลา” ว่าช่วงนี่จะทำงานอะไร และใช้เวลาเท่าไหร่ ไม่มีใคร สักคนที่ทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน (Multi-Tasking)
.
.
4. พวกเขาใช้เวลาไปกับสิ่งที่ถนัดที่สุด คนประสบความสำเร็จ จะไม่พยายามเป็นผู้ที่เก่งไปเสียทุกเรื่อง แต่จะเลือกเรื่องที่พวกเขา “เชี่ยวชาญที่สุด” ส่วนงานที่ไม่ถนัด ก็จ้างคนอื่นทำให้
.
.
5. พวกเขาไม่ปล่อยเวลาว่างไปอย่างเสียเปล่า ไม่เสียเวลาไปมากมายกับโซเชี่ยลมีเดีย หรือการดูซีรี่ย์ บางคนก็เลือกที่จะเขียนกิจกรรมที่ต้องทำตลอดทั้งวันออกมา แล้วทำสิ่งที่สำคัญ “ที่สุด” ของวันนั้นเพียง 5 อย่าง ก็เพียงพอแล้ว
.
.
6.ทุกคนรู้ดีว่า เวลา สำคัญกว่า เงิน จึงเรียนรู้ที่จะใช้เวลาในแต่ละวินาทีให้คุ้มค่าที่สุด เพราะต่อให้มีเงินมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถซื้อเวลาที่ผ่านไปแล้วคืนกลับมาได้เลย
.
.
คำถามฉุกคิด: “คุณมีกุญแจข้างต้นกี่ดอกแล้ว และจะเพิ่มเติมได้อย่างไร?”
บทส่งท้าย...
 
การอ่านหนังสือของคุณแท๊ปนั้นคุ้มค่าทุกเล่มจริงๆ ครับ เพราะเค้าเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมากๆ โดยเฉพาะเรื่องของการตลาด และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดูเหมือนยาก พอผ่านการเขียนกลายเป็นเรื่องที่น่าสนุก น่าติดตามอ่านจนจบ
 
เนื้อหาถึงจะมี 50 บท ทว่าทุกบทจะมีความยาวไม่มาก ใช้เวลาไม่นานก็สามารถได้ไอเดียดีๆ ไปต่อยอดได้เลย
 
ในโลกยุคนี้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมว่า เราไม่น่าจะต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเองอีกแล้วล่ะครับ อ่านหนังสือที่ผ่านการกลั่นมาแล้วสามารถนำแนวคิดมาใช้ได้เลย น่าจะสะดวกกว่านะครับ
 
หนังสือดี อ่านสนุกเช่นเคย ลองดูครับ คุณอาจจะชอบเหมือนผมก็ได้
แล้วพบกันใหม่เล่มต่อไปนะครับ
ซิม
20 เม.ย. 62
.
.
ปล.1: บทความเรื่องโทรศัพท์ข้างบน ผมเขียนขึ้นมาเองทั้งหมด ไม่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้นะครับ
ปล. 2: ผมซื้อเล่มนี้จากร้าน Se-ed ครับ
ปล. 3: ติดตามหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เพจ Books for Life ครับผม
โฆษณา