22 เม.ย. 2019 เวลา 02:44 • ไลฟ์สไตล์
เหตุผลสมควรโกรธไม่มีในโลก
การ มีสติกับ
การปล่อยวางตัวตน
~~~~~~~~~~~
คนเราเวลาโกรธแล้วเปิดโอกาสให้สติได้ทำงาน ก็จะปล่อยวางความโกรธได้ แต่บางครั้งเราไม่สามารถจะมีสติด้วยตัวเอง ก็ต้องอาศัยคนอื่นช่วย อย่างเด็กคนนี้มีสติได้ก็เพราะมีแม่ช่วยตั้งกติกาให้ ผู้ใหญ่บางทีก็ต้องมีคนช่วยเตือนสติเหมือนกัน
~~~~~~~~~~~~~~
เคยมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯ
ทุกเย็นพอถึงเวลาเลิกเรียน จะมีรถผู้ปกครองมารับเด็กจนแน่นขนัด จนไม่มีที่จอดรถ ผู้ปกครองจึงต้องหาทางแย่งชิงที่จอดรถกัน
มีผู้ปกครองคนหนึ่งเป็นทหารยศนายพล
ขับรถฝ่าระเบียบที่ให้ขับวันเวย์ พอได้ที่จอดรถแกก็รีบลงจากรถทันที
ผู้ปกครองอีกคนโมโหที่ถูกแย่งที่จอดรถ จึงออกไปต่อว่า
ทหารคนนั้นจึงพูดขึ้นว่า
“รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร”
อีกฝ่ายตอบว่า
“ผมไม่สนใจว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำผิดกฎจราจร”
โต้เถียงสักพัก
นายพลก็ทำท่าไม่สนใจ เดินจากไป
อีกฝ่ายจึงรีบกลับไปที่รถ
แล้วคว้าปืนออกมา
แล้วเดินตามนายพลคนนั้น หมายจะยิงให้หายแค้น เผอิญมีพนักงานขับรถคนหนึ่งอยู่ใกล้ ๆ พอดี จึงตรงไปจับมือผู้ปกครองอารมณ์ร้อน และพูดว่า
“คุณมารับลูกไม่ใช่หรือครับ ?”
ปรากฏว่าเขาได้สติทันที
จึงเก็บปืนแล้วเดินไปหาลูกที่กำลังรออยู่
~~~~~~~~~~~~~~~
มีแม่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอมีลูกสาวอายุประมาณ ๑๒ ขวบ วันหนึ่งลูกขอเงินแม่ไปซื้อไมโครโฟนของเล่น พอกดสวิตช์แล้วจะมีเสียงเพลงต่างๆ ดังขึ้น เหมือนกับว่าเจ้าตัวกำลังร้องเพลง แม่ถามว่าราคาเท่าไหร่ ลูกตอบว่า ๔๐๐ บาท แม่ก็ตกใจว่าโรงเรียนอนุญาตให้เอาของเล่นแพงๆ มาขายในโรงเรียนได้ยังไง แต่ลูกสาวรบเร้าจะเอาให้ได้ แม่เห็นว่าของเล่นแพงไป แต่ก็ไม่อยากปฏิเสธลูก จึงบอกลูกว่าถ้าลูกอยากได้แม่ก็จะให้ซื้อ แต่มีเงื่อนไขสองข้อ ข้อหนึ่ง แม่จะหักค่าขนมของลูกครึ่งหนึ่งเก็บใส่กระปุกจนกว่าจะครบ ๔๐๐ บาท ข้อสอง ทุกเย็นเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ ให้ลูกไปดูของชิ้นนั้นที่ร้านก่อนกลับบ้าน แล้วให้สังเกตด้วยว่าพอเห็นของแล้ว ใจหนูรู้สึกอย่างไร ชอบมันมากเหมือนเดิมทุกวันไหม ผ่านไปสี่วันเท่านั้น ลูกก็มาบอกแม่ว่าไม่อยากได้แล้ว แม่ถามว่าทำไม ลูกตอบว่า “เบื่อ” ลูกพูดต่อว่า ดูนาน ๆ ก็เบื่อเอง เพราะไม่เห็นมีอะไรเลย เก็บเงิน ๔๐๐ บาท ไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า
การที่แม่ให้ลูกไปดูของเล่นที่อยากได้ และให้ดูใจของตัวไปด้วย ทำให้ลูกเห็นความอยาก พอเห็นมันบ่อย ๆ ความอยากก็ค่อย ๆ ลดลง หรือไม่ก็เบื่อไปเลย แต่ส่วนใหญ่เรามักจะซื้อของทันทีที่อยากได้ ขอให้สังเกตว่า ของที่เห็นใหม่ ๆ มักจะมีเสน่ห์เสมอ แต่พอเราเห็นมันบ่อย ๆ ครั้งแรก ๆ ยังชอบอยู่ แต่พอครั้งที่ห้า ครั้งที่หก มันก็เริ่มหมดเสน่ห์แล้ว เพราะว่ามันไม่ใช่ของใหม่แล้ว เป็นธรรมดา ของใหม่มักมีเสน่ห์ดึงดูดใจ แต่พอเป็นของเก่า มันก็จะหมดเสน่ห์
สังเกตไหม เรามีของกี่ชิ้น กี่ชิ้น แต่ก็ไม่เคยพอใจจนหยุดซื้อสักที เช่น เสื้อผ้า หรือโทรศัพท์มือถือ เพราะว่าพอเราซื้อมาได้ไม่กี่วันไม่กี่เดือนมันก็กลายเป็นของเก่าและหมดเสน่ห์ไปแล้ว เราจะไปติดตาต้องใจกับของใหม่ และอยากได้มันมาแทนของเดิม เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ไม่หยุดหย่อน เวลาเราซื้อของใหม่ทันที่ที่เห็นหรือเกิดความอยาก เราจะทำตามความอยากโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ทันเห็นความอยาก แต่ถ้าเราลองตั้งกติกาว่ายังไม่ซื้อของชิ้นนั้นจนกว่าจะดูมันสักสามสี่ครั้ง แล้วลองดูใจของตัวไปด้วย เราจะเห็นความอยากของตัวเองชัดขึ้น แต่ถ้าเราทำตามมันเลยเราจะไม่เห็นความอยาก ตรงกันข้ามพอเราไม่ทำตามความอยากทันที เพราะมีกติกาว่าจะยังไม่ซื้อจนกว่าจะเห็นของชิ้นนั้นหลายๆ ครั้ง เราก็จะเห็นความอยาก พอเห็นความอยาก ความอยากก็จะค่อย ๆ ลดลง จนอาจไม่อยากซื้อเลยก็ได้ อย่างเด็กคนเมื่อกี้ แม่เขาสอนลูกได้ดี แม่ไม่ได้ตามใจลูก แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธลูก แม่ใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกได้เห็นว่าความอยากมันเป็นสิ่งไม่เที่ยง อย่าไปเอาจริงเอาจังกับความอยากมากนัก
พนักงานขับรถพลเมืองดีคนนั้นฉลาดมาก สังเกตว่าแกไม่ได้ห้ามเลย ว่า “อย่าทำ ๆ” เพียงแต่พูดเตือนสติให้นึกถึงลูก คนเราพอนึกถึงลูกขึ้นมา ก็มักจะหายวู่วาม คำพูดของพนักงานขับรถทำให้เขาได้สติและรู้ว่าถ้าไปยิงคนอื่นเข้าแล้วจะเกิดเรื่องราวใหญ่โต ลูกก็จะเดือดร้อนไปด้วย
ถ้าเรามีสติ ใจก็หลุดจากอารมณ์ หายหลง หันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด ขณะเดียวกันใจก็โปร่งเบาขึ้น ไม่มีความโกรธ ไม่มีความเครียด หรือความเศร้าเสียใจมารบกวน นี่แหละคือความสุขความสงบใจ ถึงแม้ว่าเสียงภายนอกจะดัง ผู้คนจะวุ่นวาย แดดจะร้อน แต่พอมีสติ เห็นความหงุดหงิด รู้ทันมัน ก็ปล่อยวางมันได้ ใจก็เย็นลง นี่คืออานิสงส์ที่สำคัญมากของสติ
แต่ว่าสติยังมีอานิสงส์อีกประการหนึ่งที่เป็นจุดหมายสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ ทำให้เราเห็นความจริงของตัวเรา หรือพูดให้พูดต้องคือเห็นความจริงของกายและใจ เมื่อมีสติดูกายดูใจ เห็นกายเห็นใจอยู่เรื่อยๆ ก็เห็นธรรมชาติของกาย เห็นธรรมชาติของใจ โดยไม่ต้องใช้ความคิด มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้ความคิด ที่จริงถ้าเรามีสติดูกายดูใจในขณะที่สร้างจังหวะเดินจงกรม ก็จะเห็นว่าตัวที่ยกมือขึ้นเคลื่อนไหวไปมานั้นคือกาย และตัวที่รู้สึกนึกคิดนึกนั้นคือใจ แต่ก่อนเราจะคิดว่าฉันยกมือ ฉันเดิน ฉันคิด ฉันโกรธ ฉันโมโห แต่เมื่อเรามีสติเป็นกายเห็นใจเนือง ๆ ก็จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวฉันที่โกรธ แต่เห็นความโกรธเกิดขึ้นที่ใจต่างหาก แทนที่จะรู้สึกว่าฉันเครียด คือเห็นความเครียดเกิดขึ้นที่ใจ ความโกรธ ความเครียดเป็นเรื่องของใจไม่ใช่เรื่องของฉัน ที่เดินนั้นเป็นรูปเดิน ไม่ใช่ฉันเดิน ที่คิดนั้นเป็นใจคิด ไม่ใช่ฉันคิด ตัวฉันจะค่อยๆ หายไปๆ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูก็จะลดลงไปด้วย
ปกติคนเราเวลาทำอะไรก็จะมีตัวฉันนำหน้าอยู่เสมอ เช่น ฉันคิด ฉันทำ ฉันโกรธ ฉันโมโห ฉันเจ็บ ฉันปวด อันนี้คือความหลงอย่างหนึ่ง เพราะที่จริงตัวฉันมันไม่มี มันมีแต่รูปและนาม มีแต่กายและใจ รูปเคลื่อนไหว ส่วนใจคิดนึก แต่เราหลงไปปรุงให้มีตัวฉัน ว่าฉันเป็นโน่น ฉันเป็นนี่ เลยไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าตัวฉันมีจริงๆ แล้วก็เลยเป็นทุกข์เพราะตัวฉันนี้เอง ได้ยินใครต่อว่าก็จะปรุงขึ้นมาทันทีว่าฉันถูกต่อว่า ฉัน ถูกตำหนิ ทันทีที่คิดแบบนี้ก็จะทุกข์แล้วก็พร้อมจะตอบโต้ เพราะไปสำคัญมั่นหมายว่ากูถูกกระทบกระแทก ก็ต้องกระทุ้งกลับไป ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะไปปรุงตัวฉัน หรือตัวกูของกูขึ้นมา ที่ปรุงอย่างนั้นก็เพราะไม่มีสติเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง
ถ้าเรามีสติ ดูกาย ดูใจอยู่เรื่อยๆ จะเห็นความจริงข้อนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญญาขึ้นมาว่า รูปและนามมันไม่ใช่ตัวฉัน กายและใจไม่ใช่ตัวฉัน มันไม่มีตัวฉัน มีแต่กายและใจ รูปและนาม พอเห็นความจริงอย่างนี้ ความยึดติดว่าเป็นตัวกูมันก็จะเบาบางลงไป ถ้าเห็นถึงขั้นเกิดปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ เรียกว่าเกิดปัญญา ก็จะทำให้หลุดพ้นถึงขั้นเป็นอริยบุคคลได้
ถึงที่สุดแล้วความทุกข์ของคนเราเกิดจากความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู ทำไมเงินหายถึงทำให้เป็นทุกข์ ก็เพราะว่าเราไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเงินของฉันหาย ถ้าเป็นเงินคนอื่นหายเราจะทุกข์ไหม ไม่ทุกข์หรอก แต่พอเงินของฉันหาย จึงเป็นทุกข์ มีคนบาดเจ็บล้มตายเราทุกข์ไหม เราจะทุกข์ก็ต่อเมื่อคนที่ล้มตายนั้นเพื่อนของฉัน พ่อแม่ของฉัน ญาติของฉัน น้องของฉัน คนเรายึดติดในตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับทรัพย์สมบัติจะชัดเจนมาก เราไม่ได้ยึดติดทรัพย์สมบัติเวลามันอยู่กับเราเท่านั้น เวลามันหายไปเราก็ยังยึดว่าเป็นของเราอยู่ ไม่ยอมปล่อยวาง แม้กระทั่งเวลาเราให้ของใครไป ก็ยังอดยึดติดไม่ได้ว่ามันยังเป็นของฉันอยู่ เช่น ทำอาหารถวายพระ ก็คอยดูว่าหลวงพ่อจะฉันอาหารของฉันไหม ขนาดถวายให้ท่านไปแล้วก็ยังยึดว่าเป็นของฉันอยู่ ก็เลยไม่สบายใจที่หลวงพ่อไม่ฉันอาหารของฉัน
ในทำนองเดียวกันเวลาเราให้เงินใครไป ให้ไปแล้วก็ยังยึดว่าเป็นเงินของฉัน เลยคาดหวังว่าเขาจะสำนึกในบุญคุณของฉัน ถ้าเขาไม่ตอบแทนให้เราได้ดั่งใจ เราก็จะไม่พอใจ หาว่าเขาไม่สำนึกในบุญคุณของเรา หลายคนเป็นทุกข์เพราะเหตุนี้กันมาก เลยทำให้ผิดใจกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ถึงแม้ว่าผู้รับจะสำนึกในบุญคุณ แต่พอผู้ให้รู้สึกว่าได้รับการตอบแทนไม่ถึงขนาด ก็จะไม่พอใจ มีการทวงบุญคุณกัน ก็เลยทะเลาะกัน ถึงกับไม่มองหน้ากันก็มี อันนี้เป็นเพราะให้เงินเขาไปแล้วก็ยังยึดติดว่าเป็นเงินของฉัน รวมทั้งยึดติดคาดหวังให้เขาสำนึกในบุญคุณของเราไม่จบไม่สิ้น
ถ้ายึดติดแบบนี้เราก็พร้อมจะทุกข์ตลอดเวลา แม้ทำดีก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะคิดว่าเขาไม่สำนึกในบุญคุณของเรา หรือทุกข์ที่ไม่มีคนเห็นความดีของเรา ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวกูของกูนั้นเป็นสิ่งสมมติที่ปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโชเคยเล่าว่า ตอนท่านอายุเจ็ดขวบ เล่นวิ่งไล่จับกับเพื่อน มีกติกาว่าใครที่ถูกแตะตัวคนนั้นแพ้ ต้องกลายเป็นผู้ไล่ ที่เหลือก็ต้องวิ่งหนี ไม่ให้เขาแตะตัวได้ มีคราวหนึ่งท่านเป็นฝ่ายหนี เพื่อนก็วิ่งมาแตะที่มือท่าน แล้วก็บอกว่าแตะตัวได้แล้ว ท่านบอกแตะตัวที่ไหน แตะมือต่างหาก เพื่อนก็เลยยอมแพ้ท่านวิ่งหนีต่อ เพื่อนก็วิ่งมาไล่มาแตะที่หลัง เพื่อนบอกแตะตัวได้แล้ว ท่านก็แย้งว่าแตะตัวที่ไหนแตะหลังต่างหาก แล้วท่านก็วิ่งหนีต่อ คราวนี้เพื่อนก็วิ่งมาแตะเอว เพื่อนบอกแตะตัวได้แล้ว ท่านบอกไม่ใช่ แตะเอวต่างหาก ตกลงว่าแตะเท่าไหร่ก็ไม่เคยถูกตัวสักที เพราะแตะถูกมือบ้าง ถูกหลังบ้าง เอวบ้าง ทั้งนั้น
เห็นไหมว่ามีตัวเราที่ไหนกัน แตะตรงนี้ก็แขน แตะตรงนี้ก็ไหล่ แตะตรงนี้ก็หัว ไม่มีตัวเรา ตัวเป็นสมมุติ เราเรียกอวัยวะต่าง ๆ ที่มารวมกันว่า “ตัวเรา” เหมือนกับเรียกล้อ พวงมาลัย หม้อน้ำ หลังคา และชิ้นส่วนต่าง ๆ อีกนับร้อยที่มารวมกันว่า “รถ” แต่ตัวรถจริง ๆ ไม่มี แตะตรงนี้ก็เบาะ ตรงนี้ก็หลังคา ตรงนี้ก็ท่อไอเสีย สมมุติเป็นของมีประโยชน์ถ้ารู้จักใช้ แต่พอยึดว่ามันเป็นของจริงก็เตรียมทุกข์ได้เลย เช่น เวลามีดบาดนิ้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดให้คิดว่า เวลามีดบาดนิ้ว ถ้าคิดว่ามีดบาดฉัน จะรู้สึกเจ็บมาก แต่ถ้ามองว่ามีดบาดนิ้ว ความเจ็บก็จะลดลง “มีดบาดฉัน”กับ “มีดบาดนิ้ว” มันให้ความรู้สึกต่างกัน
ตัวฉันไม่มีจริงแต่พอไปยึดว่ามันมีจริง ๆ แล้วหลงไปกับมัน ไปคิดว่าจะควบคุมบัญชาให้เป็นไปตามใจได้ ก็เลยทุกข์เวลาล้มเจ็บ หรือเวลาผิวหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก หย่อนยาน ไม่มีเรี่ยวมีแรงเหมือนแต่ก่อน ป่วยก็ทุกข์ ไม่ได้แค่ทุกข์กาย แต่ทุกข์ใจด้วย ไม่สวยไม่งาม แก่ชรา ก็ทุกข์เพราะมันสวนทางกับความยึดติดถือมั่น แต่ถ้าไม่ยึดติดถือมั่นว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงจะแก่ จะเจ็บ จะป่วย ก็ไม่ทุกข์ ทุกข์แค่กาย แต่ไม่ทุกข์ใจ
ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สมบัติทั้งหลาย รวมทั้งคนรัก ลูกหลาน ไม่มีอะไรที่จะอยู่ในอำนาจของเราได้เลย ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ อันนี้เรียกว่า “อนัตตา” ร่างกายนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเราเพราะว่าเราไม่สามารถจะควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ สั่งมันไม่ได้ อะไรที่เป็นของเรา เราต้องสั่งได้ใช่ไหม แต่เราสั่งไม่ได้เลยสักอย่าง อะไรที่เป็นตัวตนมันก็ต้องคงทนยั่งยืน แต่นี่มันก็แปรสภาพเปลี่ยนสภาพไปเรื่อย อย่างเช่น ดอกไม้ถ้ามันมีตัวตนก็ต้องเป็นดอกไม้วันยังค่ำ แต่ถ้าเด็ดมาปักในแจกันไม่กี่ชั่วโมงก็เหี่ยว แล้วก็กลายเป็นขยะ ถ้ามันมีตัวตนที่แท้จริงมันก็ต้องเป็นดอกไม้ไปตลอด แต่ทำไมกลายเป็นขยะไปเสียแล้ว และอีกไม่นานก็สลายกลายเป็นดิน
ถ้าเราเจริญสติเราก็จะเห็นของจริง เห็นความจริง เห็นสัจธรรมเกี่ยวกับตัวเรา เห็นความจริงเกี่ยวกับกายและใจ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นอย่างนี้แล้วก็จะปล่อยวาง เพราะรู้ว่ายึดไม่ได้ และไม่น่ายึด เพราะมันเป็นทุกข์ แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ นี้คือปัญญาที่เกิดจากการเห็นกายเห็นใจอยู่เสมอ ปัญญาทำให้ใจสว่าง ทีแรกจะทำให้เกิดความสงบ แต่ในที่สุดก็ทำให้เกิดความสว่าง ส่วนความสงบนั้นถือว่าเป็นเรื่องสมถะ สมถกรรมฐานคือการฝึกใจให้เกิดความสงบ แต่การทำให้ใจสว่างเป็นเรื่องของวิปัสสนา สว่างคือเกิดปัญญาแล้วปล่อยวางได้ ปล่อยวางความยึดติดถือมั่นใน ตัวกูของกู นี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราควรจะเข้าใจ ถึงแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ว่ามันช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง เพราะว่าความทุกข์ถึงที่สุดแล้วเกิดจากความยึดติดว่าเป็นตัวกูของกู ยึดติดร่างกาย ยึดติดจิตใจว่าเป็นตัวกูของกู หลงคิดว่า ใจนี้บังคับได้ ร่างกายนี้บังคับได้ พอไม่เป็นไปอย่างที่คิดหวังก็ทุกข์ โมโห โกรธกายกับใจ บางทีก็โมโหใจที่มันเอาแต่โกรธเอาแต่อยาก ทำไมไม่ยอมสงบเสียที นี่ก็เพราะความยึดติด เพราะความไม่รู้ว่าใจไม่ใช่ของเรา
การเจริญสติทำให้เราเกิดปัญญา ไม่ใช่แค่ปล่อยวางอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ที่สำคัญคือปล่อยวางความยึดติดถือมั่นในตัวตน ซึ่งเป็นรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง เป็นเพราะยึดติดอย่างนี้แหละที่ทำให้แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าหากวางความยึดติดถือมั่นได้ ไม่มีตัวกูของกูอีกต่อไป อะไรจะเกิดขึ้นก็เห็นเป็นธรรมดา แก่ก็เป็นธรรมดาไม่ใช่ทุกข์ เจ็บก็เป็นธรรมดาไม่ใช่ทุกข์ ตายก็เป็นธรรมดาไม่ใช่ทุกข์ โกรธก็เกิดขึ้นได้แต่ไม่เอา
เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น ผู้คนเชื่อว่าท่านเป็นพระอริยะ วันหนึ่งมีคนถามว่าหลวงปู่มีความโกรธไหม ท่านตอบว่า “มีแต่ไม่เอา” เรามาคิดต่อซิว่าทำไมถึงไม่เอา ก็เพราะมันไม่มีตัวกูจะไปยึดเอาความโกรธนั้นมาเป็นของกู มันไม่มีตัวกูเป็นผู้โกรธ มีนักปฏิบัติธรรมบางคนเล่าว่าเคยถูกคนด่าต่อหน้า เห็นความโกรธมันพุ่งขึ้นมาเลย แต่พอมันขึ้นมาแล้วก็วูบดับลง เหมือนกับว่าพุ่งขึ้นมาแล้วก็หายไป ทำไมถึงหาย ก็เพราะไม่มีตัวกูเข้าไปฉวยเอาความโกรธนั้น คนธรรมดาพอมีความโกรธเกิดขึ้น ก็ปรุงตัวกูเข้าไปฉวยเอาความโกรธมาเป็นของกู แต่เมื่อไม่มีตัวกู ความโกรธเกิดขึ้นก็วูบหายไป
คนธรรมดาเวลาถูกด่า มันเหมือนกับมีก้อนหินตกลงมาถูกกระจก เกิดอะไรขึ้นกับกระจก ถ้าไม่ร้าวก็แตก แต่ถ้าไม่มีกระจกล่ะ ก้อนหินตกลงมาจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านเว่ยหล่างซึ่งเป็นสังฆปริณายกของลัทธิเซนในจีน ตอนที่ท่านยังหนุ่ม มีลูกศิษย์รุ่นพี่เขียนโศลกว่า “กายคือต้นโพธิ์ ใจเหมือนกระจกใส ต้องหมั่นเช็ดถูกเพื่อไม่ให้มีฝุ่นจับ” ท่านเว่ยหลางมาเห็นก็แอบเขียนใกล้ ๆ กันว่า “ต้นโพธิ์หามีไม่ ทั้งไม่มีกระจกใส แล้วฝุ่นจะจับอะไร”
ท่านเว่ยหล่างมีปัญญาเห็นชัดว่า ถ้ายังมีตัวกู ก็เหมือนกระจกที่ต้องเช็ดต้องถูไม่ให้ฝุ่นมาเกาะ ต้องคอยระวังไม่ให้หินมาตกใส่ เพราะถ้าตกใส่เมื่อไร กระจกก็แตก อันนี้อาตมาเสริมต่อ แต่ถ้าไม่มีตัวกู ก็เปรียบเสมือนว่าไม่มีกระจก ก็ไม่ต้องห่วงว่าฝุ่นจะจับ ไม่ต้องห่วงว่าก้อนหินจะตก ก้อนหินตกลงมาก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีกระจกตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เรียกว่าตัวกูไม่มี หรือไม่ปรุงให้มีตัวกู อะไรจะเกิดก็ไม่เป็นปัญหา คือไม่เป็นทุกข์ นี้แหละคือความพ้นทุกข์ในพุทธศาสนา ไม่ได้แปลว่าไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่หมายความว่าไม่มีฉันผู้แก่ ฉันผู้เจ็บ หรือฉันผู้ตายอีกต่อไป จึงเป็นอิสระจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความสุขอย่างยิ่ง
ดังนั้นจึงขอให้ตระหนักว่า เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความสงบอย่างเดียว แต่จุดหมายปลายทางอยู่ไกลกว่านั้น คือเกิดปัญญาเห็นความจริงจนปล่อยวางความยึดมั่นว่ามีตัวตนได้ เมื่อเรารู้แบบนี้แล้วก็ขอให้มีความเพียรในการปฏิบัติ แต่อย่าใจร้อน อย่ากระเหี้ยนกระหือรือ หนทางอันยาวไกลต้องใช้ความอดทนในการเดินทาง ทางแม้จะไกลแค่ไหน ให้ระลึกว่าจุดหมายอยู่ที่ปลายเท้า ทางจะไกลแค่ไหนก็ต้องเดินทีละก้าว จะใจร้อนไม่ได้ เราต้องเดินทีละก้าว แล้วก็พอใจในแต่ละก้าวที่เดิน ถ้าเดินไม่หยุด สักวันก็ต้องถึงเอง อย่าไปรีบร้อน แต่ให้รู้ว่าจุดหมายปลายทางอยู่ตรงไหนเราจะได้ไปถูก แต่อย่าไปกังวลกับจุดหมายปลายทาง หาไม่เราจะเป็นทุกข์กับการเดิน เป็นทุกข์ที่ยังไปไม่ถึง อย่าทำอย่างนั้น ให้ใส่ใจกับการเดินทีละก้าว ไม่ถึงก็ไม่ถึง แต่เราก็มีความสุขทุกก้าวที่เดิน ให้การปฏิบัติของเราเป็นอย่างนี้คือให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปอยู่กับจุดหมายปลายทางมาก มันเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป็นอนาคตที่ไม่ควรยึดติด
1
เหตุผลสมควรไม่มีในโลก
โฆษณา