5 พ.ค. 2019 เวลา 10:17 • ประวัติศาสตร์
เปิดประวัติ (สามก๊ก) "เตงงาย และ จงโฮย"
(สองวีรบุรุษขุนพลผู้เกรียงไกรและชาญฉลาด)
ประวัติสามก๊ก จงโฮยกับเตงงาย
ในเรื่องสามก๊ก เราผู้ได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า จ๊กก๊กที่เล่าปี่และขงเบ้งเพียรสร้างขึ้นมาจนสำเร็จนั้น ถูกพิชิตลงได้ด้วยฝีมือ สติปัญญา และความกล้าหาญของชายผู้มีนามว่าเตงงาย
ภาพ : สามก๊กวิทยา
เตงงายเป็นขุนศึกที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ เชี่ยวชาญในพิชัยยุทธ์ แฟนๆสามก๊กต่างรู้จักเขาดีในฐานะของขุนศึกแห่งวุยก๊กที่สามารถต้านทานเกียงอุย ศิษย์เอกของขงเบ้งไว้ได้ตลอดหลายปีที่เกียงอุยพยายามบุกวุยก๊ก ทั้งที่ก่อนนี้เขาก็ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมาจากไหนเหมือนเกียงอุย
ในประวัติศาสตร์นั้นบันึกทึกว่าสุมาอี้เป็นคนค้นพบเตงงาย และมีส่วนผลักดันให้เขาขึ้นมาทำงานและแสดงความสามารถจนโดดเด่นขึ้นมา ก็เท่ากับว่าเขานับเป็นศิษย์ของสุมาอี้ได้เช่นกัน และผลงานแห่งชีวิตของเขาก็คือการพิชิตจ๊กก๊กได้นั่นเอง แต่ช่วงสุดท้ายของชีวิตเขานั้นนับว่าจบลงแบบไม่สวยนัก ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาได้เช่นกัน
ไม่ให้เสียเวลา ไปดูเรื่องราวของเขากันได้เลย
ประวัติโดยย่อ
เตงงายชื่อรองสือไท่ เกิดเมื่อปี ค.ศ.193 เป็นชาวเมืองอี้หยาน กำพร้าบิดาแต่เด็ก เนื่องจากครอบครัวของเขายากจนมาก จึงต้องใช้ชีวิตอดๆอยากๆและลำบากตั้งแต่เด็ก
ในวัยเด็กนั้นเขาและครอบครัวต้องย้ายไปมาหลายที่ และได้ทำงานมากมายแต่เด็ก โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการบุกเบิกที่ดินและการเป็นกรรมกรชาวนา ซึ่งถูกเกณฑ์โดยทหารอีกที ทำให้เขาซึมซับความรู้ในด้านนี้มาโดยที่เจ้าตัวคงไม่นึกว่ามันจะมามีประโยชน์แก่ตนในภายหลัง
ช่วงอายุ 12 ปี เขาได้ไปอยู่ที่เมืองอิ้นชวน และได้พยายามศึกษาหาความรู้ต่างๆใส่ตัวในช่วงนั้น แม้ว่าจะยากจนก็ตาม ภายหลังเขาก็ได้รับการดันจากขุนนางท้องที่ให้กลายเป็นนักเรียนทุนและภายหลังก็ได้กลายเป็นบัณฑิตประจำเมือง
เตงงายมีข้อเสียในเรื่องบุคลิกนั่นคือเป็นโรคติดอ่าง เขาจึงถูกใช้ให้ทำงานด้านการดูแลท้องนา และการเพาะปลูก ซึ่งเขาก็ทำได้ดีในการพัฒนาที่ดิน จนเมื่อโรคติดอ่างเริ่มหาย เขาก็ได้รับการเสนอชื่อให้ทางราชสำนัก
ตอนนั้นเองที่สุมาอี้ได้เตะตาในความสามารถการพัฒนาของเตงงาย และยังได้พบว่าเตงงายมีความรู้ในเรื่องพิชัยสงครามไม่น้อย จึงได้บรรจุเขาเป็นขุนนางในตำแหน่งอาลักษณ์ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาที่ดินและการชลประทานในพื้นที่แห้งแล้ง
ช่วงนั้นสุมาอี้กำลังรุ่งในกิจการด้านทหาร กลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญของวุยก๊ก และสุมาอี้ก็ได้เอาตัวเตงงายไปด้วยในฐานะกุนซือของกองทัพ และได้เรียนรู้การทำศึกของสุมาอี้ในการสู้รบกับขงเบ้งมาไม่น้อย
ภายหลังจากนั้นหลายปีเมื่อสุมาอี้ขึ้นมากุมอำนาจปกครองตายลง เตงงายก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นขุนนางสำคัญภายใต้อาณัติของตระกูลสุมา
เตงงายเป็นทั้งกุนซือและแม่ทัพสำคัญของตระกูลสุมาในการพัฒนาบ้านเมืองรวมไปถึงการรบกับจ๊กก๊กและง่อก๊ก จากนั้นเมื่อขงเบ้งสิ้นลง และการรบพุ่งระหว่างทั้งสามก๊กว่างเว้นไปหลายปี ในปีค.ศ. 249 เกียงอุยแม่ทัพใหญ่แห่งจ๊กก๊กก็ได้ยกทัพขึ้นเหนือเพื่อเตรียมบุกวุยก๊ก สุมาอี้จึงได้ใช้ให้กุยห้วยเป็นแม่ทัพไปทำการป้องกันด่านทางกิสานซึ่งเกียงอุยใช้เส้นทางและแผนการบุกสืบต่อจากขงเบ้ง
ด้านเตงงายก็ถูกส่งให้ไปร่วมศึกด้วย และสร้างผลงานในการต้านทานเกียงอุยได้อย่างยอดเยี่ยม และมีส่วนทำให้เกียงอุยต้องถอยทัพกลับไป เตงงายได้รับความชอบ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพ ทอลู้เจียงกุน
จากนั้นไม่กี่ปีต่อมากุยห้วยแม่ทัพวุยได้รับบัญชาให้ทำการปราบปรามพวกเผ่าซงหนูและชนเผ่าต่างๆทางตอนเหนือ เตงงายได้เสนอแผนการช่วยเหลือในการรวบรวมเผ่าต่างๆเอาไว้ ทำให้เตงงายได้รับความชอบยิ่งขึ้น จนสุมาอี้แต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวง ผู้ตรวจราชการเมืองหนี่หนาน
เตงงายอาศัยการพัฒนาเมืองหนี่หนาน ทำให้บ้านเมืองแถบนั้นอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก เตงงายจึงได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็นนักพัฒนาที่ดินชั้นเอก
สุมาอี้รู้ว่าเตงงายเป็นผู้เชี่ยวชาญพื้นที่และภูมิประเทศแถบกวนตงและทางภาคเหนืออย่างยิ่งยวด ดังนั้นจึงวางตัวให้เขาเป็นผู้รับศึกจากทางจ๊กก๊ก ซึ่งตรงนี้น่าคิดว่าหากผู้ที่คอยทำหน้าที่ต้านจ๊กก๊กมิใช่เตงงายละก็ บางทีเกียงอุยอาจสามารถลุยฝ่าเข้ามาถึงเมืองเตียงอันไปแล้วก็ได้ เหมือนกับว่านี่คือคู่ต่อสู้ที่ฟ้าส่งมาเพื่อคอยคานกับเกียงอุยโดยเฉพาะ และยิ่งทีก็ยิ่งกลายเป็นบุคคลที่เกียงอุยแพ้ทางอย่าแรง
การที่เกียงอุยไม่อาจเอาชัยต่อวุยได้เลยในการรุกขึ้นเหนือทั้ง 9 ครั้ง ตัวตนของเตงงายมีความสำคัญมาก เกียงอุยเป็นขุนศึกที่เก่งกาจเชี่ยวชาญทั้งบุ๋นบู๊ ดังนั้นการได้ประมือกับเกียงอุยตลอดหลายปี มันก็ยิ่งช่วยสร้างให้เตงงายเก่งกล้าและมีผลงานมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจากเตงงายที่เป็นนักพัฒนา จึงได้กลายมาเป็นยอดแม่ทัพของยุคไป
1
หลังจากสุมาอี้ตายลง สุมาสูที่ขึ้นมาสืบต่ออำนาจ ก็ยังคงช่วงใช้งานเตงงาย และได้แต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวงเมืองกุนจิ๋ว และในภายหลังก็ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นอานซีเจียงกุน
เกียงอุยเพียรพยายามนำทัพบุกวุยก๊กเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้มีผลออกมาในทางบวก อันที่จริงบรรดาแม่ทัพหลายคนของวุยนั้นคิดว่าเกียงอุยคงเกิดความท้อแท้ไปแล้ว แต่เตงงายเป็นคนที่อ่านออกว่าเกียงอุยไม่ยอมแพ้ และจัดแจงเตรียมกองทัพไว้รับมือเกียงอุยอยู่ตลอด เขาจึงต้านทานเกียงอุยมาได้ นอกจากนี้เตงงายเองก็มีความแตกฉานในพิชัยสงคราม เดิมทีแล้วด้านการศึกเขาย่อมป็นรองเกียงอุย เพราะอีกฝ่ายนั้นนอกจากจะเก่งในพิชัยสงครามแล้วยังเป็นแม่ทัพที่มีฝีมือยุทธ์สูงส่ง แต่การที่เตงงายได้ขับเคี่ยวกับเกียงอุยมาเป็นเวลาหลายปี นั่นก็เป็นการฝึกฝนและสร้างให้เตงงายก้าวผงาดขึ้นมาเทียบเคียงและเหนือกว่าเกียงอุยจนได้
การศึกกว่าเก้าครั้งที่ผ่านมา เกียงอุยมิอาจล่วงล้ำผ่านแดนกวนจงไปได้ นั่นทำให้ชื่อของเกียงอุยยิ่งแย่ลง ในทางกลับกันเตงงายกลับยิ่งมีชื่อเสียงบารมีสูงส่งมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นทำให้สุมาเจียวเริ่มเป็นกังวล เพราะสุมาเจียวนั้นมีนิสัยขี้ระแวง ซึ่งมากยิ่งกว่าโจโฉเสียอีก
การศึกทางง่อก๊กนั้น สุมาเจียวจะเป็นผู้รับมือด้วยตัวเอง ไม่ก็ส่งแม่ทัพคนอื่นไปรับศึก แต่การศึกกับง่อนั้นแทบจะนับครั้งได้ เนื่องจากลกซุนตายไปหลายปีแล้ว จูกัดเก๊กแม่ทัพใหญ่ของง่อคนต่อมาที่มีความมุ่งมั่นจะบุกวุยก็ได้ถูกคนในง่อรุมจัดการฐานคิดกุมอำนาจไปแล้ว เสี้ยนหนามส่วนใหญ่จึงอยู่ที่เกียงอุยเท่านั้น และเมื่อศัตรูเพียงหนึ่งเดียวของวุยถูกสยบลงได้ทุกครั้งด้วยฝีมือของเตงงาย มันก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่สุมาเจียวจะกลัวว่าเตงงายจะขึ้นมาเป็นหอกข้างแคร่ซะเอง
2
การระแวงของสุมาเจียวนั้นก็นับว่ามีเหตุผลและเป็นเรื่องธรรมดาของผู้เป็นนายที่มีลูกน้องที่เก่งกล้าและผลงานมากเกินไป เนื่องจากตอนนี้สุมาเจียวมิใช่ฮ่องเต้ แต่ยังถือเป็นขุนนางผู้รับใช้ราชวงศ์โจอยู่ ถึงแม้ในความเป็นจริงเขาจะกุมอำนาจทั้งหมดในมือก็ตาม ดังนั้นแม้ว่าเตงงายจะเป็นคนของตระกูลสุมาที่ตัวสุมาอี้ปั้นมากับมือ แต่ในทางการแล้ว เขาก็คือขุนนางคนหนึ่งของราชวงศ์วุย ดังนั้นหากเขาจะลุกขึ้นมาโค่นล้มตระกูลสุมา ก็ไม่นับว่าเป็นกบฏ แถมยังเป็นการสร้างผลงานในฐานะของขุนนางตงฉินด้วยซ้ำ
2
แน่นอนว่าในทางความเป็นจริงแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่เตงงายจะทำเช่นนั้น เพราะเขาเป็นเด็กสร้างของตระกูลสุมา และด้วยนิสัยของเตงงายเท่าที่มีบันทึกอยู่นั้นก็พอจะแสดงออกว่าเขาไม่ใช่ผู้ทะเยอทะยานในอำนาจมากนัก และมุ่งมั่นอยู่ที่การพัฒนาบ้านเมืองและปราบปรามศัตรูมากกว่า แต่สุมาเจียวย่อมไม่คิดเช่นนั้น หากมีอะไรที่จะกลายเป็นเสี้ยนหนามขัดขวางการก่อตั้งราชวงศ์ของตระกูลสุมาแล้ว เขาก็จำต้องกำจัด เหมือนดั่งที่ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตหลายคนเคยกระทำกับขุนศึกผู้กรุยทางรวมแผ่นดินมาแล้ว เตงงายเองก็ไม่พ้นข้อนี้
1
อันที่จริงสุมาเจียวได้เคยคิดการเผื่อไว้แล้วว่าหากมีใครมีบารมีและอำนาจสูงขึ้นจนอาจกลายเป็นหอกข้างแคร่ เขาก็มีหอกอีกเล่มที่พร้อมจะคานอำนาจนั้น ตรงนี้มีหลักฐานชัดแจ้ง นั่นคือการที่เขาได้ดันและสร้างบุคคลอีกผู้หนึ่งขึ้นมาคานอำนาจกับเตงงายไว้ เขาคือขุนศึกและเสนาธิการจอมเจ้าเล่ห์ผู้มีนามว่าจงโฮย
จงโฮย
เกิดปี ค.ศ.225 มีชื่อรองว่า ซื่อจี้ เป็นชาวอำเภอฉางเซี่ย เป็นบุตรชายของจงฮิว ซึ่งเป็นขุนนางที่ผู้คนเคารพมาก และเป็นที่โปรดปรานของโจโฉจนมีตำแหน่งเป็นไจเสี่ยงของวุย ดังนั้นเขาจึงได้รับการศึกษาดีมาตั้งแต่เด็ก และตัวจงโฮยก็ฉายแววฉลาดหลักแหลมออกมาตั้งแต่ยังเยาว์
มีเกร็ดเล่าว่าจงโฮยและพี่ชายชื่อจงอี้เคยถูกเรียกเข้าเฝ้าพระเจ้าโจยอยเมื่อครั้งยังเด็ก ตอนนั้นพี่ชายของเขาเกิดกลัวจนเหงื่อไหลพราก ส่วนจงโฮยกลับไม่มีเหงื่อไหลเลย พระเจ้าโจยอยจึงถามทั้งสองว่ารู้สึกเช่นไร จงอี้กล่าวว่ากลัวมากจนเหลื่อไหล ส่วนจงโฮยบอกว่ากลัวมากจนเหงื่อไม่กล้าไหล
จงโฮยได้แสดงความหลักแหลมและไหวพริบเช่นนี้ออกมาหลายครั้ง จนเป็นที่ชื่นชอบของสุมาสูบุตรคนโตของสุมาอี้อย่างมาก ในภายหลังจงโฮยได้เข้ารับราชการโดยอยู่ภายใต้สังกัดของสุมาสู
จงโฮยเป็นเสนาธิการทหารที่มีความหลักแหลมมาก เขาเป็นผู้ช่วยวางแผนให้สุมาสูยกทัพไปปราบกบฎบูขิวเขี้ยมที่เกงจิ๋ว ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับความวางใจจากสองพี่น้องสุมามาก แต่จากนั้นไม่นานสุมาสูก็ตายลง เขาจึงได้มารับใช้สุมาเจียวผู้น้องต่อ
จงโฮยเป็นผู้ตั้งยุทธศาสตร์ ปราบจ๊กก่อนง่อ ซึ่งค่อนข้างจะขัดจากความเห็นของพวกเสนาธิการรุ่นก่อนที่ชูนโยบายตั้งรับเป็นหลัก แต่จงโฮยเห็นว่าสมควรจะปราบจ๊กก๊กซึ่งเป็นก๊กเล็กเสียก่อน จากนั้นค่อยรอเวลาที่เหมาะสมปราบง่อก๊กลงอีกที เนื่องจากชัยภูมิของง่อนั้นยากจะตีแตกได้ ซึ่งเป็นที่เข็ดขยาดของขุนศึกวุยมาตั้งแต่สมัยโจโฉบุกลงใต้แล้ว
ในตอนที่สุมาเจียวเห็นว่าควรจะถึงเวลาที่จะลองบุกจ๊กก๊กดูสักตั้งเมื่อปี ค.ศ. 263 นั้น สุมาเจียวได้ใช้ให้เตงงายและจงโฮยเป็นแม่ทัพร่วม นำกองทัพบุกจ๊กก๊ก เหตุผลที่สุมาเจียวคิดว่าน่าจะลองบุกดูก็คือขณะนั้นเกียงอุยมีปัญหาขัดแย้งและไม่เป็นที่ชอบหน้าของคนในเสฉวน จนเขาต้องออกไปอยู่ที่เมืองปาเสและฝึกฝนทหารอยู่ที่นั่น ส่วนพระเจ้าเล่าเสี้ยงเองก็ลุ่มหลงงมงายในสุรานารีและยังเชื่อฟังขันทีฮุยโฮจนไม่สนใจราชการ นี่จึงเป็นโอกาสเหมาะที่สุดในการจะบุกจ๊กก๊ก
1
เตงงายและจงโฮยนำทัพหลายแสนคนเตรียมออกศึก โดยจงโฮยนั้นยกกำลังส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นอยู่ที่เกงจิ๋วเพื่อทำการต่อเรือ สุมาเจียวรู้สึกสงสัยจึงเรียกจงโฮยมาสอบถาม จงโฮยว่าเพื่อเป็นกลลวงหลอกว่าจะบุกง่อก๊ก แต่ความจริงแล้วบุกตีจ๊กก๊กต่างหาก นอกจากนี้เรือที่ต่อเหล่านี้ก็ยังมีประโยชน์ในการบุกตีง่อในวันหน้า สุมาเจียวฟังเช่นนั้นก็กล่าวชมจงโฮย แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือจุดเริ่มของความระแวง
เตงงายสั่งสมบารมีด้วยการสู้กับเกียงอุย สุมาเจียวจึงปั้นจงโฮยขึ้นมาเพื่อคานกันไว้ แต่กลายเป็นว่าหอกสองเล่มนี้ อาจจะวกกลับมาหาสุมาเจียวเอง และเหตุผลสำคัญอีกข้อในภายหลังอยู่ที่การล่มสลายของจ๊กก๊กที่กำลังจะเกิดนับจากนี้
เตงงายและจงโฮยนำทัพบุกเข้าที่เมืองฮั่นจง ปราการหน้าด่านสำคัญที่สุดของจ๊กก๊ก ที่ผ่านมาหลายสิบปี เมืองนี้อยู่ในการดูและของอุยเอี๋ยน จากนั้นก็เป็นอองเป๋ง ซึ่งภายใต้การดูแลของสองคนนี้ ฝ่ายวุยไม่เคยได้ล่วงล้ำกล้ากรายเข้ามาได้เลยสักครั้ง
แต่เวลาได้เปลี่ยนไป จ๊กก๊กไม่เหลือแม่ทัพเช่นนั้นอีกแล้ว ดังนั้นเมื่อเตงงายและจงโฮยนำทัพใหญ่มาหลายแสน เมืองฮั่นจงซึ่งเคยยืนหยัดรับศึกมาได้แม้ว่าข้าศึกจะมีมหาศาลแค่ไหน จึงยอมศิโรราบต่อเตงงายทันที
เตงงายและจงโฮยนำกองทัพบุกฝ่ามาตลอดทาง โดยที่หัวเมืองทั้งหลายต่างก็ยอมสวามิภักดิ์ ทั้งนี้เพราะตัวผู้คนต่างเบื่อหน่ายในสงคราม และผู้เฝ้าเมืองต่างก็ล้วนหวาดกลัวต่อกองทัพวุย
เกียงอุยซึ่งอยู่ที่ปาเสจึงยกทัพไปตั้งมั่นที่กิก๊ก และใช้ที่นั่นเป็นปราการสุดท้ายในการยืนหยัดสู้กับทัพวุย เนื่องจากกิก๊กมีภูมิประเทศเป็นเขาสูงชัน จึงยากแก่การตีแตกได้ เตงงายและจงโฮยทุ่มกำลังสุดความสามารถ แต่ทหารวุยก็มีแต่จะตายลงเรื่อยๆ
1
เตงงายจึงประชุมด่วนกับจงโฮยและเสนอที่จะลอบเข้าตัดทางด่านอิมเป๋งซ฿งมีเส้นทางทุรกันดารและเป็นหน้าผาสูงชัน ยากที่กองทัพจะฝ่าไปได้ แต่เตงงายได้ลองวิเคราะห์แล้ว เนื่องจากเป็นเส้นทางชันอันเป็นปราการธรรมชาติที่แข็งแกร่ง พระเจ้าเล่าเสี้ยงคงไม่ตั้งกองทัพไว้เฝ้า ณ จุดนี้แน่นอน
จงโฮยคัดค้าน แต่ในเมื่อเตงงายยืนกราน เขาจึงยอมอีกฝ่าย ส่วนตัวเองก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาจะบุกเข้าทางกิก๊กต่อไป
ด้านเตงงายได้นำกองทัพหน่วยกล้าตายของตนบุกฝ่าเข้าทางอิมเป๋ง ซึ่งมีต่หน้าผาสูงชัน และมีระยะทางยาวถึง 700 ลี้ แต่กระนั้นเตงงายก็อาศัยความกล้าหาญและอดทน นำกองทัพฝ่ามาได้ ฝ่ายแม่ทัพของจ๊กก๊กที่เฝ้าอยู่นั้น เห็นกองทัพของเตงงายทะยานลงมาจากเขาราวกับกองทัพเทพ จึงหวาดกลัวและยอมสวามิภักดิ์
เตงงายรุกคืบต่อไปถึงด่านกิมเต๊กที่จูกัดเขียมบุตรชายของขงเบ้งเป็นผู้รักษา ซึ่งการป้องกันของจ๊กก๊กที่นี่เข้มแข็งกว่าที่อื่น ทำให้เตงงายสู้ได้อย่างยากลำบาก แต่เหล่าทหารของเตงงายนั้นต่างยึดถือกันว่าหากแพ้ที่นี่ ก็จะถูกทัพข้าศึกรุมตลบหลัง และไม่มีที่ให้ถอยได้ ดังนั้นหากแพ้ก็มีแต่ตายลูกเดียว ทุกคนจึงสู้อย่างถวายชีวิตและในที่สุดก็ตีด่านแตก และจูกัดเขียมก็ถูกสังหารพร้อมบุตรชายจูกัดสง
ทัพของเตงงายบุกประชิดถึงนครเฉิงตูพระเจ้าเล่าเสี้ยนจึงตัดสินใจขอยอมแพ้ และพาเหล่าเชื้อพระวงศ์ออกมารับเตงงายถึงที่หน้าประตูเมือง
ฝ่ายเกียงอุยที่ยันศึกอยู่ที่กิก๊กนั้น เมื่อได้รับแจ้งข่าวจากนครหลวงว่าพระเจ้าเล่าเสี้ยนยอมแพ้แล้ว เขาจึงต้องวางดาบยอมจำนนต่อจงโฮยด้วยความเจ็บใจ
เป็นอันปิดฉากจ๊กก๊ก เตงายได้สร้างผลงานและวีรกรรมที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เรื่องมันควรเป็นเช่นนั้น แต่ในความจริงแล้วมันไม่ใช่
ไม่มีใครรู่ว่าสุมาเจียวคิดเช่นไรกับการล่มสลายของจ๊กก๊ก แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่า นี่อาจเป็นสิ่งที่เขาคาดไม่ถึง สุมาเจียวมิได้คาดคิดว่าการบุกใหญ่เพียงครั้งเดียวของเตงงายและจงโฮยจะทำให้จ๊กก๊กล่มสลายลง
ระหว่างที่เตงงายและจงโฮยนำกองทัพบุกจ๊กก๊กและผลการบุกไปด้วยดีนั้น ตัวสุมาเจียวได้นำกองทัพวุยมาคอยดูเชิงอยู่ที่เตียงอัน เป็นการแสดงว่าเขาเริ่มไม่วางใจต่อแม่ทัพทั้งสองนี้แล้ว เขาส่งสองคนนี้ให้มาสร้างผลงานยิงใหญ่ก็จริง แต่เมื่อเสร็จสิ้นงานแล้ว เขาก็ตั้งใจจะกำจัดทิ้ง ดังคำว่า เสร็จศึก ฆ่าขุนพล
ทั้งสองคนล้วนเก่งกาจเกินไป หากปล่อยเอาไว้อาจเป็นภัยต่อตระกูลสุมาในอนาคต สำหรับตอนนี้ยังอาจไม่เป็นไร แต่วันหน้าหากเขาสิ้นลง สุมาเอี๋ยนบุตรชายของเขาที่จะขึ้นสืบทอดนั้น แม้จะเป็นผู้มีความสามารถ แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร และหากเทียบกับเตงงายและจงโฮยแล้วย่อมต่างกันมาก หากเตงงายต้องการจะโค่นล้มตระกูลสุมาหลังจากนี้ละก็ ด้วยบารมีเทียบเท่าหันซิ่นในสมัยเล่าปังแล้ว เตงงายย่อมทำได้
ดังนั้นเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ายึดเสฉวนได้ คนผู้นั้นต้องถูกกำจัดทันที ดังนั้นเมื่อเตงงายเข้าเมืองเสฉวนได้แล้ว จงโฮยจึงทำเรื่องหาว่าเตงงายเป็นกบฏทันที
เดิมทีทั้งสองก็เป็นคู่แข่งที่ชิงดีชิงเด่นกันมาตลอดอยู่แล้ว เมื่ออีกฝ่ายมีผลงานเหนือหน้า คนที่ด้อยกว่าก็ต้องหาทางขัดขาเป็นธรรมดา ดังนั้นเมื่อจงโฮยแจ้งว่าเตงงายคิดกบฏ สุมาเจียวก็สนองตอบ
จงโฮยได้จับมือกับเกียงอุยเป็นพันธมิตรกัน โดยเกียงอุยเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในเรื่องที่ให้ใส่ไฟต่อเตงงายด้วย เจตนาของเกียงอุยที่เข้าร่วมกับจงโฮยนั้น เกียงอุยได้แจ้งไว้ในหนังสือถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยนว่าทำไปเพื่อหาทางฟื้นฟูจ๊กก๊ก แต่มองในแง่ความเป็นจริงแล้ว เกียงอุยจะพูดอย่างไรก็ได้ เพราะอาจเป็นการทำไปเพื่อความทะยานอยากของตนเอง ซึ่งมันก็คงไม่มีคำตอบ
จงโฮยส่งทหารไปคุมตัวเตงงายและลูกชาย ซึ่งเตงงายก็ยอมรับเพื่อจะกลับไปแก้ต่าง แต่ว่าอันที่จริงแล้วคนระดับเตงงายมีหรือจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่หากเขาคิดจะสู้หรือขัดขืนย่อมไม่เป็นผลดี เพราะทหารของเขาที่นำมาด้วยก็มีน้อยกว่าของจงโฮย
เตงงายถูกคุมตัวไปและระหว่างทางก็ถูกสังหารพร้อมกับบุตรชาย ฝ่ายจงโฮยที่คิดว่าตนเองมีอำนาจเต็มที่แล้ว มีความคิดจะขึ้นเป็นใหญ่เพราะเมื่อมองจุดจบของเตงงายแล้ว เขาย่อมไม่อยากอยู่ใต้สุมาเจียวอีก
แต่สุมาเจียวรอดูท่าทีอยู่แล้ว และได้นำกองทัพใหญ่ยกเข้าตีจนจงโฮยตั้งตัวไม่ติด จงโฮยนั้นมีทหารน้อยกว่าหลายเท่าย่อมไม่อาจต้านทานได้ อีกทั้งการคิดกบฏของจงโฮยนั้นทหารส่วนใหญ่ไม่เล่นด้วยเพราะไม่อยาเป็นศัตรูกับตระกูลสุมา จงโฮยจึงถูกทหารรุมสังหาร ส่วนเกียงอุยนั้นเชือดคอตายท่ามกลางความวุ่นวาย
ภรรยาและหลานของเตงงายที่ลกเอี๋ยงได้หลบหนีออกไปทางตะวันตก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าหลังจากนั้นเป็นเช่นไร
เป็นอันว่าเตงงายได้สร้างวีรกรรมยิ่งใหญ่ที่จะจารึกอยู่คู่ชื่อของเขาไปหลายพันปี แต่จุดจบของเขาก็เป็นการตอกย้ำว่าต่อให้เป็นขุนศึกที่เก่งกล้าแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็เป็นแค่เครื่องมือของผู้กุมอำนาจเท่านั้น ส่วนจงโฮยองก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก
ทั้งสองได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิตจ๊กก๊ก แคว้นที่เล่าปี่และขงเบ้งได้เพียรสร้างขึ้นมาลงอย่างราบคาบ แต่ผลตอบแทนที่ทั้งสองได้รับ มิใช่เกียรติยศจากผู้เป็นนาย แต่กลับเป็นความตายเท่านั้นเอง
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
ข้อมูล : Samkok911
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
โฆษณา