8 พ.ค. 2019 เวลา 08:18 • บันเทิง
พระเจ้าแผ่นดินสยาม
ในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์
หลายคนก็คงรู้ว่ากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรีมีสองพระองค์ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่เคยรู้มาก่อน เรื่องนี้ลองได้สอบถามคนจำนวนมาก ว่ารัชกาลที่ 4 คือใคร คำตอบที่ได้คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี่จึงเป็นเหตุให้คิดว่าน่าจะเผยแพร่สิ่งที่ประวัติศาสตร์ถูกลืมเลือน
กษัตริย์อีกพระองค์ของเราก็คือ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือ พระราชกุมารพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นเรียกว่า พระบวรราชวังใหม่
1
อันเนื่องมาจากในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลโดยมีคุณหญิงนก (ไม่ทราบสกุล) เป็นพระพี่เลี้ยง พระองค์มีพระเชษฐาร่วมพระราชมารดา รวมทั้งสิ้น 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าชาย (สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ) สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่เจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าจุฑามณี) ขึ้นครองราชย์ด้วย
1
เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2
โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์ มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"
1
ตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกฝรั่งชาว ตะวันตก และพร้อมกับเป็น พระกำลังที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ทรงเข้าร่วมการเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาเบาริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังกับราชทูตประเทศอังกฤษ พระเกียรติยศชื่อเสียง ในด้านความรอบรู้ของใต้ฝ่าละอองธุลี พระบาทในภาษา หลายภาษา และในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นสูงหลายวิชา
ซึ่งทรงรอบรู้ผิดไปจากคนในหมู่ชาติตะวันออกมาก ซึ่งก็ได้แพร่สะพัดถึงสหรัฐอเมริกา ด้วยทรงทราบชื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนด้วย
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงรอบรู้งานใน ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น งานด้านกองทัพบก กองทัพเรือ ด้านต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจนสามารถที่จะทรงเขียนโต้ตอบจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ กับ เซอร์ จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษ ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855)
ซึ่งข้อความในสนธิสัญญานั้น ถ้าเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จะมีคำกำกับว่า The First King ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ จะมีคำกำกับว่า The Second King สำหรับในภาษาไทยนั้น ตามสนธิสัญญา ทางไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในบทภาค ภาษาไทยจะแปลคำว่า The First King ว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เอก ส่วนคำว่า The Second King นั้นจะแปลว่า พระเจ้าประเทศสยามพระองค์ที่ 2
พระบาทสมเด็จประปิ่นเกล้า ฯ มีพระนามปรากฏอยู่ในประกาศในอารัมภบทให้ดำเนินการเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย ในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 คู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระองค์มีสายพระเนตรที่กว้างไกล ในด้านการ ต่างประเทศ ทรงรอบรู้ข่าวสารในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ทรงทราบพระราชหฤทัยดีว่า ถ้าหากทรง ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวแล้วไซร้ ไทยเราจะเสียประโยชน์
ส่วนบรรดาฝรั่งที่รู้จักมักคุ้นกับวังหน้ามักจะยกย่องชมเชยว่า ทรงเป็นสุภาพบุรุษเพราะพระองค์มีพระนิสัยสุภาพ โดยเฉพาะกับพระราชชนนี กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ด้วยแล้ว ทรงแสดงความเคารพเกรงกลัวเป็นอันมาก
นอกจากนี้ทรงโปรดการท่องเที่ยวไปตามหัวบ้านหัวเมือง ทั้งเหนือและใต้ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะอยู่เสมอ จึงต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมือง อยู่เนือง ๆ กล่าวกันว่า มักเสด็จไปประทับตามถิ่น ที่มีบ้านลาว เสด็จไปประทับที่บ้านสัมปะทวน แขวง นครไชยศรีบ้าง ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง แต่เสด็จไปประทับที่ตำหนักบ้านสีทา จังหวัดสระบุรีเสียโดยมาก แต่แท้ที่จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ได้เคยเสด็จไปเที่ยวประพาสตามหัวเมืองต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิสเรศรังสรรค์แล้ว เพราะทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า การเสด็จประพาสหัวเมืองเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง ด้วยสามารถทรงทราบทุกข์สุขของไพร่ฟ้าประชาชนได้เป็น อย่างดีซึ่งดีกว่ารายงานในกระดาษมากนัก
สวรรคต
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว 10 ปี พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ เสด็จสู่สวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับ วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 พระชนมพรรษา 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 พรรษา
สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวชอบที่จะเสด็จตามหัวเมืองต่างๆ สังสัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 คงได้แบบอย่างมาจากพระเจ้าอา ทำให้ชาวไทยเราอยู่ร่มเย็นสืบมา
ภาพ: อินเตอร์เน็ต
โฆษณา