ไนกี้ จากรองเท้าห้องแถวสู่บริษัท 3 ล้านล้านบาท
.
"ขายรองเท้าบ้าอะไรได้ 3 ล้านล้านบาท!" ขนาดบริษัทผู้ผลิตรถเบนซ์ยังไม่ใหญ่โตเท่านี้เลย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะรองเท้านั้นคือ "ไนกี้" แบรนด์รองเท้ายักษ์ใหญ่ที่ทุกคนชื่นชอบ
.
รองเท้าไนกี้เริ่มขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อนเมื่อฟิล ไนท์ อายุ 24 ปี เขาเพิ่งเรียนจบปริญญาโทและไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่เขาชอบรองเท้า เขาจึงลองนำเข้ารองเท้าวิ่งจากญี่ปุ่นมาขายด้วยเงินทุน 15,000 บาท ... นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานา จนไนกี้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
.
คำว่า Shoe Dog มีความหมายว่า “ผู้ที่หลงใหลในรองเท้าสุดหัวใจ” และหนังสือ "Shoe Dog" เล่มนี้ก็คือเรื่องราวจากปากฟิล ไนท์ ผู้ที่ทำธุรกิจรองเท้าที่ตัวเองรัก
.
***เนื้อหาข้างล่างเป็นแค่ฉบับ "ย่อของย่อ" นะครับ ถ้าอยากดูสรุปหนังสือฉบับสมบูรณ์ที่อ่านสนุกที่สุด สามารถเข้าไปดูที่นี่ได้เลยครับ https://bit.ly/2Y7LFny *** .
ปี 1962 (อายุ 24)
ฟิล ไนท์ เรียนจบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Stanford ด้วยอายุ 24 ปี เขาเป็นนักวิ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาจึงเกิด “Crazy Idea” หรือ “ไอเดียเพ้อฝัน” ว่าจะนำเข้ารองเท้าวิ่งจากญี่ปุ่นมาขาย เขาเชื่อว่ารองเท้าญี่ปุ่นจะเข้ามาตีตลาดอเมริกาเหมือนกับที่กล้องญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้ว
.
เขากำเงิน 500 ดอลลาร์ (15,000 บาท) บินไปญี่ปุ่นเพื่อสั่งรองเท้า Onitsuka Tiger มาขายที่อเมริกา
.
ปี 1964 (อายุ 26)
หลังจากรอมาถึง 2 ปี รองเท้าญี่ปุ่นที่สั่งไปก็ส่งมาถึง! (ก่อนหน้านี้ฟิลเกือบถอดใจไปแล้ว) ฟิลเริ่มขายรองเท้าผ่านร้านค้า ซึ่งขายไม่ดี แต่พอฟิลเอารองเท้าไปขายตรงให้นักกีฬาวิ่งและโค้ช ทุกคนต่างก็ชื่นชอบ “รองเท้าญี่ปุ่นคุณภาพดีราคาถูก” และบอกปากต่อปาก บางคนถึงกับมาขอซื้อรองเท้าโอนิสึกะถึงบ้าน
.
เพียง 3 เดือนรองเท้าทั้ง 300 คู่ก็ขายหมดเกลี้ยง ฟิลกู้เงินจากธนาคารมาเตรียมซื้อรองเท้าล็อตถัดไปอีก 900 คู่ แต่จู่ๆ เขาก็ได้รับจดหมายจากโค้ชมวยปล้ำแปลกหน้าที่อ้างว่าตัวเองมีสิทธิ์จำหน่ายรองเท้าโอนิสึกะเพียงผู้เดียวในอเมริกา และฟิลต้องหยุดขายรองเท้าทันที
.
หลังจากรอเป็นเดือนๆ โดยที่ไม่มีรองเท้าขาย ฟิลตัดสินใจเดินทางไปพบผู้บริหารโอนิสึกะที่ญี่ปุ่น เขาพบเจ้าของและเจรจาจนได้สิทธิ์ขายรองเท้าในอเมริกาแต่เพียงผู้เดียว
.
ปี 1966 (อายุ 28)
ฟิลขายรองเท้าไปอีก 2 ปี พอยอดขายเริ่มกระเตื้อง เขาก็ได้ข่าวจากลูกค้าว่าเริ่มมีคนแปลกหน้ามาขายรองเท้า Tiger ทับซ้อนกับพื้นที่ของเขาอีกแล้ว! ฟิลต้องบินไปญี่ปุ่นอีกรอบโดยเป็นหนี้บัตรเครดิตสำหรับค่าเครื่องบิน
.
ทางญี่ปุ่นอธิบายว่าอยากเพิ่มยอดขายในอเมริกา แต่มองว่าบริษัทของฟิลเล็กไป ฟิลจึงโกหกเรื่องความยิ่งใหญ่ของบริษัทตัวเองจนญี่ปุ่นยอมให้ขายต่อได้อีก
.
ปี 1970 (อายุ 32)
ผ่านไปอีก 4 ปี ฟิลได้ข่าวว่าโอนิสึกะกำลังหาผู้จัดจำหน่ายรายใหม่อีกแล้ว! ทั้งที่เพิ่งเซ็นสัญญากันว่าจะให้ฟิลขายรองเท้า Tiger เพียงผู้เดียว (แสดงว่าโอนิสึกะตั้งใจจะผิดสัญญาตั้งแต่แรก)
.
ตลอดเวลาที่ฟิลขายรองเท้า Onitsuka Tiger เขากู้เงินมาทำธุรกิจเต็มเครดิตตลอดและแทบไม่มีกำไร ในขณะที่บริษัทโอนิสึกะส่งรองเท้าช้าและผิดตลอด ทำให้ธุรกิจขาดเงินสดอย่างต่อเนื่อง
.
โอนิสึกะสัญญาอะไรก็ทำไม่ได้จริง ฟิลค้นพบว่าโอนิสึกะสนใจผลิตรองเท้าให้ลูกค้าญี่ปุ่นเท่านั้น พอขายในญี่ปุ่นแล้วจึงค่อยส่งของเหลือมาขายในอเมริกา ติดต่อไปก็ไม่ค่อยมีใครตอบ
.
ปี 1971 (อายุ 33)
.
ฟิลเชิญคุณคิตามิ ผู้บริหารใหญ่ของโอนิสึกะมาเลี้ยงเหล้าที่อเมริกา และพอได้จังหวะก็ค้นกระเป๋าได้หลักฐานเป็นรายชื่อผู้จัดจำหน่ายที่เขาแอบติดต่อกันอยู่ เห็นดังนั้นเขาจึง "พอกันที" และหันมาสร้างแบรนด์รองเท้าของตัวเองชื่อว่า "Nike" โดยแอบทำไม่ให้โอนิสึกะรู้
.
ปี 1972-76 (อายุ 34-38)
.
เปิดตัว Nike ครั้งแรก ซึ่งขายดีมากเพราะลูกค้าต่างรู้จักฟิลว่าเป็นคนขายรองเท้าที่ดีเสมอมา คนจึงเชื่อมั่นในแบรนด์ใหม่ของเขา
.
โอนิสึกะรู้เรื่องก็ฟ้องร้องทันที สู้คดีกันอยู่นานหลายเดือน ศาลตัดสินให้ Nike เป็นฝ่ายชนะ เมื่อปัญหาทั้งหมดคลี่คลาย Nike ก็เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
.
แต่ถึงแม้จะไม่มีโอนิสึกะเป็นตัวปัญหา การสร้าง Nike ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งเรื่องการขาดแคลนเงินทุน ธนาคารไม่ให้กู้ เช็คเด้ง โรงงานไม่ได้คุณภาพ ฯลฯ
.
ปี 1977-80 (อายุ 39-42)
.
ปัญหาหนี้สินดำเนินมาถึงจุดสูงสุด ทั้งบริษัทมีหนี้สิน 90% ของทรัพย์สินทั้งหมด ธนาคารแทบทุกแห่งไม่มีใครอยากให้กู้อีกแล้ว
.
ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินรุมเร้า บรรดาผู้ผลิตรองเท้าในอเมริกาก็รวมหัวกันล็อบบี้นักการเมืองให้เก็บภาษีย้อนหลังก้อนใหญ่จาก Nike ที่มีโรงงานผลิตนอกอเมริกา ถ้าต้องจ่ายเงินก้อนนี้ บริษัทจะล้มละลายแน่ๆ
.
ฟิลสู้ทุกวิถีทาง ตั้งแต่เข้าไปพูดคุยอย่างสันติ (ข้าราชการไม่สนใจ), เริ่มเข้าหานักการเมืองที่พอรู้จัก (ข้าราชการเริ่มสะดุ้ง), ฟ้องร้องกลุ่มผู้ผลิตรองเท้ากลับในข้อหาผูกขาด (สร้างแรงกดดัน), ตีแผ่เรื่องราวผ่านสื่อ (กดดันต่อเนื่อง) สุดท้ายกรมศุลกากรให้จ่ายแค่ 9 ล้านดอลลาร์ก็พอ ฟิลจึงยอมจ่ายเงินเพื่อให้เรื่องจบ
.
ในที่สุดปัญหาทุกด้านก็คลี่คลาย บริษัทเข้าตลาดหุ้นในปี 1980 ในสัปดาห์เดียวกับบริษัทเล็กๆ อีกแห่งชื่อว่า Apple ... ฟิลและผู้บริหารต่างกลายเป็นเศรษฐีจากการเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น และบริษัท Nike ได้เติบโตเรื่อยมาจนมียอดขายถึง 36 พันล้านดอลลาร์ กับมูลค่าบริษัท 1 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
.
ข้อคิด
🚗 ไนกี้เกิดมาจากการทำสิ่งที่ตนรัก เพราะคุณจะเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร ฟิลเคยเป็นนักวิ่งมาก่อน เขาจึงรู้ว่านักวิ่งต้องการอะไร คิดยังไง และอยากซื้ออะไร
.
🚗 ฟิลเดิมพันชีวิตกับความเชื่อนี้ สมัยที่เขาสร้างธุรกิจใหม่ๆ เขาแทบไม่มีเงินมาทำ เขาใช้เงินเดือนชนเดือนและหลายครั้งก็ไม่มีเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ ชีวิตเขาอยู่บนความเสี่ยงอยู่หลายปี แต่เขาเชื่อว่าสินค้าของเขามีคนต้องการจริง เขาจึงไม่ยอมแพ้
.
🚗 พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ฟิลเริ่มธุรกิจโดยการนำเข้ารองเท้าโอนิสึกะจากญี่ปุน ไม่ได้ผลิตเอง แต่เขามีปัญหากับโอนิสึกะ เขาจึงถูกบังคับให้มาทำแบรนด์ไนกี้เอง ถ้าเขาไม่เจอวิกฤติในครั้งนั้น ฟิลอาจทำงานกับโอนิสึกะไปเรื่อยๆ แล้วไม่มีไนกี้ในวันนี้ก็ได้
.
🚗 รายล้อมตัวคุณด้วยคนเก่งที่คุณเชื่อใจ ทีมงานของไนกี้มีแต่คนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งนักบัญชีอ้วนฉุ และอดีตแชมป์นักวิ่งที่พิการจากอุบัติเหตุ แต่พวกเขาทำงานได้ดีเยี่ยม
.
🚗 ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง ไนกี้รู้ว่าธุรกิจผิดพลาดได้เสมอ ถึงวันนี้จะประสบความสำเร็จ ก็ยังต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง
.
🚗 อย่าหวังจะรวยในชั่วข้ามคืน ธุรกิจ 3 ล้านล้านของไนกี้เริ่มด้วยยอดขายวันละ 600 บาทเท่านั้น ขอแค่ไม่ยอมแพ้และก้าวไปเรื่อยๆ คุณจะสำเร็จในที่สุด
.
🚗 ไม่มีความสำเร็จใดไม่มีปัญหา ไนกี้ประสบปัญหาตลอดเวลาที่ธุรกิจเติบโต ทั้งการฟ้องร้องจากบริษัทรองเท้าโอนิสึกะ ปัญหากับโรงงานผลิตรองเท้า ขาดเงินทุน รองเท้ารุ่นใหม่ขายไม่ออก ค่าปรับจากศุลกากร แต่เนื่องงานทีมงานของไนกี้ไม่ยอมแพ้ บริษัทจึงก้าวข้ามอุปสรรคได้ในที่สุด