11 พ.ค. 2019 เวลา 00:08 • การศึกษา
อยากบอกให้โลกรู้ "เคย" ย่อยเม็ดไมโครพลาสติกได้ กลายเป็นระดับนาโนพลาสติก แม่เจ้า
ตัวเคยซึ่งมีรูปร่างคล้ายกุ้งขนาดเล็กที่นำมาใช้ทำกะปิ สามารถกลืนกินและย่อยสลายเม็ดไมโครพลาสติกขนาดจิ๋ว ซึ่งเกิดจากขยะในท้องทะเลให้มีขนาดเล็กลงไปอีกได้ โดยเม็ดพลาสติกที่ตัวเคยย่อยแล้วจะมีขนาดเล็กระดับนาโน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เกรงว่าจะกลายเป็นมลภาวะสะสมในส่วนลึกของมหาสมุทรได้มากขึ้นไปอีก
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลีย ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Nature Communications โดยระบุว่าตัวเคยที่พบในมหาสมุทรแอนตาร์กติกชนิด Euphausia superba สามารถย่อยเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนขนาด 31.5 ไมครอน ให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงไม่ถึง 1 ไมครอนได้ ซึ่งนับว่ามีขนาดเล็กลงถึง 78% ทีเดียว
การย่อยสลายดังกล่าวเกิดขึ้นในห้องทดลอง โดยให้ตัวเคยย่อยเม็ดพลาสติกที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่ ผลที่เกิดขึ้นทำให้คณะผู้วิจัยคาดว่า การย่อยเม็ดพลาสติกของตัวเคยในสภาพธรรมชาติจะยิ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นไปกว่าในห้องทดลองหลายเท่า เนื่องจากขยะพลาสติกในทะเลถูกรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จากแสงแดดทำให้เสื่อมสภาพลงก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดร.อะแมนดา ดอว์สัน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า การที่ตัวเคยย่อยเม็ดไมโครพลาสติกให้เล็กลงถึงระดับนาโนได้ และสามารถขับเม็ดพลาสติกดังกล่าวออกนอกร่างกายได้จนหมด ไม่เหลือตกค้างให้ปนเปื้อนสะสมในห่วงโซ่อาหารนั้น อาจไม่ได้เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป
"เม็ดพลาสติกจากขยะนั้นก็ยังคงอยู่ในทะเลเหมือนเดิม เพียงแต่มีขนาดที่เล็กลงมาก ซึ่งจะทำให้มันแพร่กระจายเข้าถึงส่วนลึกของมหาสมุทรได้ง่ายขึ้นไปอีก แถมยังตรวจพบได้ยาก" ดร.ดอว์สันกล่าว "เม็ดไมโครพลาสติกที่ตัวเคยย่อยให้เล็กลงได้นั้นมีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ส่วนตัวเคยเองนั้นก็กินอาหารได้แต่ที่มีขนาดไม่เกิน 2 มิลลิเมตร เราจึงไม่อาจจะหวังให้ตัวเคยมากินและย่อยสลายขวดพลาสติกได้"
1
เมื่อปลายปีที่แล้ว งานวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในสหราชอาณาจักรพบว่า มีเม็ดไมโครพลาสติกจากขยะอยู่ในท้องของสัตว์ที่อาศัยตามก้นทะเลในร่องลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยพบร่องรอยของมลภาวะนี้แม้แต่ในสัตว์น้ำที่อาศัยตรงส่วนที่ลึกถึง 11 กิโลเมตร
ดร. ดอว์สันยังบอกว่า นอกจากตัวเคยแล้วยังคาดว่าน่าจะมีสัตว์ทะเลจำพวกแพลงก์ตอนที่มีเปลือกแข็งหุ้มอีกหลายชนิดที่ย่อยเม็ดพลาสติกได้เช่นนี้ ซึ่งทำให้ประมาณการได้ว่ายังมีเม็ดพลาสติกขนาดเล็กจากขยะที่ปนเปื้อนในมหาสมุทรอีกเป็นจำนวนมากกว่าที่เคยตรวจพบและคาดคะเนกันไว้
1
จากรายงานผมว่า ชีวิตทุกชีวิต ล้วนพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่ตอนนี้สิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์กับมีความสามารถในการทำลายมากกว่าการอยู่อย่างมีชีวิตสัมพันธ์
โฆษณา