12 พ.ค. 2019 เวลา 02:30 • การศึกษา
กล้องนั้นเซนเซอร์​เล็ก กล้องนี้เซนเซอร์​ใหญ่ แล้วมันยังไงกัน ?
เซนเซอร์​คือหัวใจสำคัญ​ของกล้องทุกๆตัว ไม่ว่าจะ Full​ Frame​ หรือ APS-C หรือจะเป็น Micro Four Third ก็ตาม แล้วแบบไหนมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันขนาดไหน เราควรจะเลือกแบบไหนดี จะอธิบายอย่างง่ายๆ จะได้เข้าใจกันง่ายๆ ไปดูกันเลย
ปัจจุบันนี้เซนเซอร์​มีหลายขนาด ดังนี้
- Medium Format
- Full Frame​
- APS-H
- APS-C
- Micro​ Four​ Third
- 1"
- 1/2.3"
- 1/3"
แต่จะขออธิบายแค่ 3 ขนาด คือ Full​ Frame, APS-C, Micro Four Third เพราะเราจะเห็นเซนเซอร์​ขนาดนี้ซะส่วนมาก
เรียงจากซ้ายคือ Micro​ Four​ Third​, APS-C และ Full Frame ตามลำดับ ในบรรดาขนาดเซ็นเซอร์ที่ยกตัวอย่างไว้ Full Frame(ที่เรียกแบบนี้เพราะมีขนาดเท่ากับเฟรม 1 เฟรมในฟิล์ม 35mm สมัยก่อน) โดยพื้นฐานแล้วเซนเซอร์ที่ใหญ่กว่าจะดีกว่าเนื่องจากพิกเซลแต่ละตัวจะมีขนาดใหญ่กว่าในเซนเซอร์ขนาดเล็ก(ถ้าให้ทั้งสองมีความละเอียดเท่ากัน) เซนเซอร์ Full Frame มีขนาด 36x24mm / เซนเซอร์ Micro​ Four Third มีขนาด 17.3x13mm ถ้าทั้งสองมีความละเอียด 16 ล้านพิกเซลเท่ากัน ใน Micro Four Third พิกเซลแต่ละตัวจะมีขนาดเล็กกว่าเพราะต้องเบียดตัวกันอยู่ในพื้นที่เล็ก ในขณะที่ Full Frame มีพื้นที่กว้างกว่าถึง 2 เท่าแต่มีประชากรพิกเซล 16 ล้านตัวเท่าๆกันทำให้พิกเซลแต่ละตัวมีขนาดใหญ่กว่า ฉะนั้นเซนเซอร์​ใหญ่กว่าจึง สามารถ​รับแสงได้ดีกว่า จัดการ noise ได้ดีกว่า และราคาก็แพงกว่าเช่นกัน แต่ในยุคปัจจุบัน​ทางค่ายผู้ผลิตกล้องเองก็พัฒนา​เทคโนโลยี​มาช่วยเซนเซอร์​ขนาดเล็กให้สามารถจัดการ noise​ ให้ดีพอๆกับกล้องที่เซนเซอร์​ใหญ่
ตัดภาพมาที่ตัวคูณกันบ้าง
APS-C​ คูณที่ 1.5 หรือ 1.6 แล้วแต่ยี่ห้อ ส่วน Micro​ Four​ Third​ คูณด้วย 2
คูณกับอะไรยังไงมาดูกัน เริ่มที่ Full​ Frame​ กันก่อนจะได้เข้าใจง่าย คือถ้าเราใส่เลนส์ที่ระยะเท่าไรก็จะตรงตามระยะนั้นๆ เช่นใส่เลนส์​ระยะ 50mm ก็จะได้เท่ากับ 50mm ตรงๆ แต่ถ้าเป็น APS-C​ ที่คูณด้วย 1.6 ก็ต้องเอา 50mm คูณ​ด้วย 1.6 จะเท่ากับระยะจริงที่กล้องเห็น กลายเป็นว่าถ้าใส่เลนส์​ 50mm บน APS-C​ ที่คูณด้วย 1.6 จะได้ระยะจริงที่ 80mm นั่นเอง ถ้าเป็นระบบ Micro​ Four​ Third​ ก็เหมือนกันแต่คูณด้วย 2​ ถ้าเราใส่เลนส์​ 50mm บน Micro​ Four​ Third​ ระยะจริง​ที่ได้ก็คือ 100mm นั่นเอง หลายๆยี่ห้อใช้เซนเซอร์​ขนาด Full​ Frame​ และ APS-C​ แต่สำหรับ Micro​ Four​ Third​ มีเพียง 2 ยี่ห้อที่ยังใช้อยู่คือ Olympus และ Panasonic​ (โดย 2 ยี่ห้อนี้สามารถใช้เลนส์ด้วยกันได้อีกด้วย)​
แล้วตอนแรกบอกเซนเซอร์​มีหลายแบบ มันเป็นยังไง ลองดูแบบคร่าวๆ
www.zoomcamera.com
จากภาพ Medium​ Format​ จะใหญ่พิเศษ APS-H​อยู่กลางระหว่าง​ APS-C​ และ Full​ Frame​ ส่วน 1" ลงมาก็จะเล็กตามลำดับนั่นเอง
มาพูดถึงข้อดีและข้อเสียของเซนเซอร์​ Full​ Frame​ และชนิดตัวคูณกันบ้าง
ข้อดีของเซนเซอร์ Full Frame
- เซนเซอร์ใหญ่กว่าให้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า
- ถ่ายกลางคืนใช้ ISO สูงมี Noise เนียนกว่า
- การถ่ายภาพละลายฉากหลังทำได้ง่ายกว่า
ข้อเสียของเซนเซอร์​ Full Frame
- ด้วยเซนเซอร์​ที่ใหญ่ทำให้กล้องก็มีขนาดใหญ่ตามไปด้วย
- น้ำหนักมากกว่า
- ราคาแพงกว่า
- การถ่ายภาพที่เน้นความชัดลึกอย่างเช่น มาโคร จะทำได้ยากกว่าเซนเซอร์ที่เล็กกว่า
ข้อดีของเซนเซอร์ APS-C, Micro Four Third
- ให้ไฟล์ภาพที่อยู่ในระดับดีถึงดีมากแม้จะยังไม่เท่า Full Frame แต่ก็เพียงพอ(บางรุ่นก็เกิน)กับการใช้งานของคนทั่วไป
- กล้องมีราคาไม่สูงมาก
- น้ำหนักกล้องและเลนส์เบากว่าพอสมควร พกพาสะดวกกว่า
- เหมาะกับการถ่ายวัตถุที่อยู่ไกลๆเพราะมีผลจากการคูณระยะเลนส์เพิ่มของเซนเซอร์
- ถ่ายภาพที่เน้นความชัดลึกอย่างวิวหรือ แมลง อาหาร เครื่องประดับ ได้ง่าย
- Micro​ Four​ Third​ จะโฟกัสได้รวดเร็ว​มาก
ข้อเสียของเซนเซอร์ APS-C, Micro Four Third
- ไฟล์ภาพยังไม่ดีเท่า Full Frame
- ถ่ายละลายหลังได้มากแต่ก็ยังละลายไม่เท่า Full Frame
www.zoomcamera.com
สรุปโดยรวมแล้ว ถ้างบถึงจะเริ่มที่ Full​ Frame​ เลยก็ได้ แต่ขอแนะนำถ้ามีงบจำกัดและอยากลองเริ่มถ่ายภาพขอแนะนำเป็นเซนเซอร์​ APS-C​ หรือไม่ก็ Micro​ Four​ Third​ เพราะราคาอยู่ในเกณฑ์​ที่พอหยิบจับได้ และก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป ประสิทธิภาพ​เทียบกับราคาถือว่าได้ไฟล์​ภาพที่ดีมาก มีน้ำหนักเบาจึงทำให้เราสามารถ​พกกล้องไปได้โดยไม่ลำบาก ทำให้เราอยากนำกล้องออกมาถ่ายรูปนั่นเอง
โฆษณา