12 พ.ค. 2019 เวลา 08:01 • ครอบครัว & เด็ก
...ลำดับการเกิดสามารถทายนิสัยของลูกได้
...."แม่ ที่พิมไปงานเลี้ยงรุ่นกับเพื่อนสมัยมัธยม เพื่อนพิมมีปัญหากับเพื่อนที่ มหา'ลัย หลายคนเลยนะแม่"
..."เธออยากให้ฉันเป็นนางร้ายใช่มั้ย เธอไม่ชอบชั้นมากขนาดนั้นเลยเหรอ"
...ลูกสาวให้แม่ไก่อ่านข้อความประมาณนี้ใน IG เพื่อน คนที่กำลังมีปัญหาประเด็นร้อนใน social
...และเพื่อนสนิทของลูกคนเดิม ก็ยังมีปัญหากับเพื่อน อยู่อย่างต่อเนื่อง
..."แล้วพิมมีปัญหากับเพื่อนบ้างมั้ยลูก"
..."ไม่มีเลยนะแม่ พิมคุยกับเพื่อนได้ทั้งภาค เวลาเพื่อนพิมไม่ได้เข้าเรียนด้วยกัน พิมไปนั่งกับใครก็ได้ ไม่มีปัญหาเลยค่ะ"
..."แล้วหนูวิเคราะห์ได้มั้ย ว่าปัญหาเพื่อนน่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร"
..."ตอบยากมากเลยแม่... แต่น่าจะเป็นตัวเพื่อนเองด้วยนะ สมัยตอนเป็นเด็กมัธยมทำตามเพื่อน บางทีไม่ค่อยมีเหตุผล แต่เด็กมหา'ลัย ส่วนใหญ่ก็มีความคิดกันแล้วนะแม่"
...ช่วงนี้ลูกสาวคนโตไม่มีเรียน
...ได้หยุดมาอ่านหนังสือเตรียมสอบปลายภาคที่บ้านหลายวัน
...หลายๆ เรื่องราวที่ลูกได้พูดคุยกับแม่อยู่เสมอ
...ประเด็นของเพื่อน ทำให้แม่ไก่พอจะมองเห็นปัญหา เพราะรู้ประวัติเด็กๆ บ้างว่า คนหนึ่งเป็นลูกคนเดียว ส่วนอีกคนเป็นลูกคนกลาง
...ซึ่งตั้งแต่สมัยตอนเรียนมัธยม เคยรู้ปัญหาและวิเคราะห์ได้ว่าครอบครัวมีผลกับนิสัยเด็กๆ มากๆ ค่ะ
...แม่ไก่จึงหาข้อมูลที่เป็นงานวิจัย ที่เกี่ยวเนื่องกับนิสัยของเด็กๆ มาให้พ่อแม่ได้สังเกตลูกๆ กันค่ะ
...#ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคลของแอดเลอร์ (Adler’s Individual Psychology)
 
...อัลเฟรดแอดเลอร์ (Alfred Adler) เป็นนักจิตวิทยาเชื้อสายยิว
...มีความเชื่อว่าการศึกษาบุคลิกภาพของบุคคลนั้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
...แต่จะต้องศึกษาพฤติกรรมทั้งหมดที่บุคคลนั้นแสดงออกมา
...แอดเลอร์จึงได้ข้อสรุปปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกของบุคคลไว้ 3 ประการ
...1.#ลำดับการเกิดของเด็กในครอบครัว (Order of Birth)
...ความสำคัญของความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นอันดับแรก
...โดยสังเกตจากบุคลิกภาพของลูกคนโต คนกลาง และคนสุดท้อง
...ซึ่งจะแตกต่างกันไปอย่างเห็นได้เด่นชัด จึงทำให้เชื่อว่าเป็นเพราะประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากพ่อแม่แตกต่างกันไป ซึ่งได้สรุปไว้ดังนี้
...#ลูกคนโต เป็นลูกคนแรกของครอบครัว คือผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้นำตามธรรมชาติ
...เด็กจะได้รับความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างมาก
...จนกระทั่งเมื่อมีน้องใหม่เกิดขึ้น เด็กจะมีความรู้สึกว่าความรักที่เคยได้รับถูกแบ่งปันไปให้น้องที่คลอดมาใหม่
...ประสบการณ์เช่นนี้ อาจทำให้เด็กมีบุคลิกภาพประเภทขี้อิจฉาและเกลียดชังผู้อื่น รู้สึกไม่มั่นคง หรือพยายามปกป้องตนเอง
...ดังนั้นถ้าพ่อแม่สามารถที่จะเตรียมความพร้อมให้ลูกคนโต เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าแล้ว
...ซึ่งทำให้ลูกคนโตมีบุคลิกภาพพัฒนาไปในแนวทางที่ดี
...จะเป็นคนมีทักษะความเป็นผู้นำของน้องๆ
...และลูกคนแรกคือคนที่ตอบสนองความต้องการของพ่อแม่
...ทำให้ถูกตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูง
...มีผลทำให้ลูกคนโต กลายเป็นคนที่ถูกกดดันมากเช่นกัน
....#การเป็นลูกคนเดียว ไม่ต่างจากการเป็นลูกคนโต
...ได้รับการเอาใจใส่มาก มักถูกตามใจ
...ไม่มีใครมาแบ่งปันความใส่ใจของพ่อแม่
...ไม่ได้ใช้ชีวิตกับพี่น้อง ทำให้เลือกที่จะให้และรับตามแต่ความต้องการของตัวเองเป็นหลัก
...พ่อแม่ตั้งความหวังไว้สูง
...ลูกคนโตจึงมักมองว่าเป็นหน้าที่ต้องตอบสนองความต้องการของพ่อแม่
...มักหมกมุ่นกับการเรียน หรือทำกิจกรรมแข่งขัน เพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จให้มากที่สุด
3
...#ลูกคนกลาง มักจะเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูง แต่มักรู้สึกเหมือนถูกมองข้าม
...เป็นคนมีความอุตสาหะพยายาม อดทน แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นคนดื้อรั้น
...และในส่วนลึกจะมีความรู้สึกอิจฉาพี่น้องของตน จึงพยายามจะเอาชนะหรือแสดงความสามารถที่เหนือกว่าพี่และน้องออกมา
...ทั้งนี้เนื่องจากคิดว่าพ่อแม่จะรักพี่คนโตและน้องคนสุดท้องมากกว่าตน
...การรู้สึกเหมือนถูกมองข้าม กลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจจนเหมือนเป็นคนแปลกแยกของครอบครัว
...แต่โดยทั่วไปแล้วลูกคนกลางมักจะมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าพี่และน้อง
...มักมีทักษะในการเจรจาต่อรอง เพราะต้องทำหน้าที่ประสานงานระหว่างพี่น้อง
...#ลูกคนเล็ก เป็นเด็กที่มีเสน่ห์และร่าเริง
...เนื่องจากเป็นลูกคนเล็กจึงมักได้รับการตามใจประคบประหงม
...การดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวตั้งแต่เด็ก
...ทำให้ใช้ชีวิตไปได้ตามที่ใจตัวเองต้องการ
...และมักได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่หรือพี่ๆ อยู่เสมอ
...ทำให้เด็กที่เป็นลูกคนสุดท้องจึงมีลักษณะเป็นคนเอาแต่ใจตนเอง ชอบขอความช่วยเหลือผู้อื่น บางทีเหมือนไม่รู้จักโต
...โดยส่วนใหญ่ ลูกคนเล็กจะมีบุคลิกซ้อนหลายแบบ จากพฤติกรรมเลียนแบบคนรอบข้าง
...บางครั้งอาจกลายเป็นคนที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมอื่นได้ดีนัก
...2.#ประสบการณ์ในวัยเด็ก (Chilhood Experience)
...คือประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการอบรมเลี้ยงดูในระยะแรกของชีวิต
...ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี ซึ่งแอดเลอร์ได้ให้ความสนใจประสบการณ์เหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ
...ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อบุคลิกภาพเป็น อย่างยิ่ง
ประสบการณ์ที่เด็กได้รับดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ
...2.1 #เด็กที่เลี้ยงดูแบบตามใจ (Spoiled Child)
...จากงานวิจัยพบว่า การตามใจลูกหรือทะนุถนอมลูกจนเกินไป
...จะทำให้เด็กเสียคน ไม่สามารถจะพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้
...ขาดเหตุผล เอาแต่ใจตนเอง เห็นแก่ตัว เรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการจากสังคมเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ค่อยเข้าใจในการกระทำที่ตอบแทนสังคมมากนัก
...2.2 #เด็กที่ถูกทอดทิ้ง (Neglected Child)
...คือเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ขาดความเอาใจใส่
...ซึ่งอาจเกิดจากพ่อแม่เสียชีวิต แยกทางกัน หรือเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ
...รวมไปถึงถูกทอดทิ้งเพราะพ่อแม่เกลียดชังไม่ต้องการลูก
...เด็กที่อยู่ในสภาพเช่นนี้จะรู้สึกเกลียดชังพ่อแม่ตนเองและคนรอบข้าง
...ทำให้มีบุคลิกภาพเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย
...เห็นทุกคนเป็น ศัตรูกับตน เป็นคนต่อต้านและแก้แค้นสังคม
...ชอบข่มขู่วางอำนาจ ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ยาก
...2.3.#เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างสมบูรณ์ (Warm Child)
...การเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลกับลูก เด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่ดีเช่นนี้จะทำให้เป็นคนที่มีเหตุผล กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ มีจิตใจ มีความคิดเป็นประชาธิปไตย .
...มองโลกในแง่ดี ร่าเริง แจ่มใส เอาใจใส่ผู้อื่น ยืดหยุ่นเป็น จึงเข้าใจคนรอบข้างได้ดี ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของสังคม
...3.#ความรู้สึกว่ามีปมด้อยและสร้างปมเด่นชดเชย (Inforiority Feeling and Compensation)
...แอดเลอร์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีปมด้อย
...ซึ่งในระยะแรกจากการสังเกตผู้ป่วยที่มารับบริการรักษาในคลินิกของแอดเลอร์พบว่าในวัยเด็กคนไข้เหล่านี้มักมีความบกพร่องทางร่างกายเป็นส่วนใหญ่
...แต่ต่อมาจึงพบว่านอกจากสภาพร่างกายที่เป็นปมด้อยแล้ว
...ยังเป็นผลมาจากประสบการณ์ต่างๆ ที่บุคคลได้รับจากสังคม
...ปัจจัยเหล่านี้จะกลายเป็นปมด้อยของแต่ละคนก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเกิดการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับบุคคลอื่นแล้วมีการเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน
...ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สภาพทางร่างกาย ความสามารถ สถานภาพทางสังคม ฐานะความเป็นอยู่ การยอมรับ
...ซึ่งปกติโดยทั่วไปแล้วแต่ละคนมักจะมองเห็นว่าสิ่งที่ตนเองมีอยู่นั้นไม่สมบูรณ์ สู้คนอื่นไม่ได้ หรือเป็นปมด้อยเสมอ
...และความรู้สึกว่าเป็นปมด้อยนี้เองทำให้เกิดเป็นแรงผลักดันในการที่จะดิ้นรนเพื่อเอาชนะปมด้อยของตน โดยการสร้างปมเด่น (Superiority Complex) ขึ้นมา เพื่อทำให้เกิดรู้สึกมั่นใจภูมิใจ พึงพอใจ และเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั้งหลายในสังคม
...อย่างไรก็ตามคงไม่มีทฤษฎี หรือการเลี้ยงลูกแบบใดที่ดี หรือถูกต้องที่สุด
...ลำดับการเกิดของลูก อาจมีผลกับนิสัยของลูกบ้าง แต่ถ้าพ่อแม่มองเห็นจุดดี จุดเด่น พ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญที่ต้อง
เตรียมความพร้อมให้ลูก
...ลูกจะเติบโตได้ดีแค่ไหน ไม่มีใครตอบได้ดีเท่าพ่อแม่ และตัวลูกเราเอง
...การสังเกตลูก โดยใช้ #ความสุข เป็นตัวตั้ง
...คงเชื่อได้ว่า ผลลัพธ์ในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่นั้น เดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง
...การเลี้ยงลูก คือ การปลูกเมล็ดพันธุ์
...ต้นไม้ที่ออกดอกออกผล ให้ร่มเงาแผ่กิ่งก้านที่สวยงาม คงไม่ได้ใช้เวลาแค่เพียงระยะสั้นๆ
...ผลลัพธ์ที่งดงาม ไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันที่ต้นไม้นั้นให้ดอกผล
...แต่ควรเกิดขึ้นทุกขณะที่ต้นไม้เติบโต
...เมล็ดพันธุ์น้อยๆ ที่ใส่ปุ๋ยด้วยความรัก รดน้ำด้วยความสุข
...จะกลายเป็นต้นกล้า และมี "ราก" ที่แข็งแรง
...การปลูกเด็กน้อย ให้งอกงามเป็นแบบไหน
...ที่จะทำให้ลูกเข้าใจชีวิต ยืดหยุ่นกับชีวิตผู้คนรอบข้าง
...ลำดับการเกิดคงไม่สำคัญเท่ากับ หัวใจของพ่อแม่ที่เข้าใจชีวิต
...และสามารถสอนประสบการณ์เหล่านี้ให้กับลูกได้เข้าใจ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงค่ะ
...รักและปรารถนาดีค่ะ
...#แม่ไก่
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง http://plabooza.blogspot.com/2016/01/adlers-individual-psychology.html
โฆษณา