12 พ.ค. 2019 เวลา 13:30 • การศึกษา
การทำงาน 3 ประสานของ Aperture / Speed Shutter / ISO
3 ประสานนี้จะมีผลต่อปริมาณ​แสงที่เข้าสู่กล้อง งงล่ะสิ เอาง่ายๆ 3 ประสานนี้ มีผลต่อความมืด ความสว่าง การละลายหลัง และสัญญาณ​รบกวน(noise)​ของภาพนั่นเอง จะพยายามอธิบายแบบเพื่อนคุยกัน เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ
Aperture​ หรือรูรับแสงหรือไดอะแฟรมในเลนส์
เมื่อเรามองเข้าไปในเลนส์หน้ากล้องเราจะเห็นเหมือน​เป็นใบพัดซ้อนๆกันอยู่ ใบพวกนี้จะขยับได้ และมีผลต่อรูตรงกลางเลนส์ เจ้านี่แหล่ะเรียกว่าเป็นรูรับแสงหรือเรียกว่าไดอะแฟรมหรือ Aperture​ ในหน้ากล้อง(อยู่ในเลนส์นะ)​
หน้าตาประมาณนี้ โดยความกว้างของรูนี้มีหน่วยเป็น F-Stop เช่น F1.2, F5.6 เป็นต้น เจ้าค่า F-Stop​ มีผลทำให้ภาพนั้นเกิด Depth of Field หรือเอาง่ายๆคือ เกิดความชัดลึกหรือชัดตื้น ชัดลึกคือชัดทั้งภาพ มองจุดไหนก็ชัด ส่วนชัดตื้นคือจะมีหนึ่งจุดที่โฟกัสไว้​มีความชัด แต่ส่วนที่อยู่หลังที่เราโฟกัสจะเบลอไป
ตามภาพ จากบนเปิดค่า F ที่ 1.4 โฟกัสนกตัวที่ 4 จะเห็นได้ว่าทั้งข้างหน้าและข้างหลังมีความเบลอ ถัดมาเมื่อเปิด F มาที่ 5.6 จะเห็นได้ว่ามีความชัดขึ้นมาระหว่างใกล้ๆกับตัวที่เราโฟกัส เมื่อเพิ่มมาที่ F22 จะเห็นว่าชัดทั้งหมดเท่าๆกัน
จะเห็นว่ายิ่งค่า F น้อย(เปิดรูรับแสงหรือไดอะแฟรมกว้างสุด)​บริเวณที่เราโฟกัสจะชัด แต่ฉากหน้าและฉากหลังจะเบลอ ถ้าเพิ่มค่า F (หรี่รูรับแสงหรือม่านไดอะแฟรมให้แคบลง)​จะเพิ่มรายละเอียด​ของฉากมาเรื่อยๆ
Speed Shutter หรือความเร็วในการเปิดปิดม่านชัตเตอร์
อย่าง​ที่ 2 คือ เรื่องความเร็วของชัตเตอร์ หน่วยจะเรียกเป็นวินาทีเช่น 1/500s คือเปิดม่านชัตเตอร์​ถึง 1 ส่วน 500 วินาที(แว๊บเดียว)​ แต่ถ้า 2s ก็คือเปิดม่านชัตเตอร์ค้างไว้ 2 วินาที
จากภาพคือยิ่งเราเปิดความเร็วชัตเตอร์สูง ภาพก็จะยิ่งดูหยุดนิ่ง ถ้าเราเปิดความเร็วชัตเตอร์ไว้ต่ำ ภาพจะดูยืดๆปาดๆ เหมือนมีการเคลื่อนไหว
ความสัมพันธ์​ที่ขาดไม่ได้ของ Aperture​ และ Speed​ Shutter
ยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ถ้าเราเปิดรูรับแสงกว้าง แล้วความเร็วชัตเตอร์​นานอีก เช่น เปิด F1.2​ และ ความเร็วชัตเตอร์ 1s แน่นอนภาพจะสว่างเกิน(เรียกว่า over) เพราะแสงเข้าเยอะเกินไป ทั้ง F1.2 ที่ปล่อยให้แสงเข้าเยอะและความเร็วชัตเตอร์ที่เปิดค้างไว้นานก็เยอะไปอีก สลับกันถ้าเปิดรูรับแสงแคบและความเร็วชัตเตอร์เร็วมาก ภาพก็จะมืด(เรียกว่า under)
ง่ายๆคือใช้อันใดอันหนึ่งชดเชยอีกอัน เช่นถ้าเปิด F กว้าง ความเร็วหรือ Speed Shutter​ ก็ต้องเร็ว
ถ้าใช้ Speed Shutter​ ช้า ก็ต้องหรี่รูรับแสงหรือ F ให้แคบขึ้น
www.tamemo.com
รูปซ้ายและขวาเปิด F เท่ากัน และ ISO (อธิบายต่อข้างล่าง)​เท่ากัน รูปซ้ายมือเพราะความเร็ว​ของชัตเตอร์​มากเกินไป ฝั่งซ้ายพอดีเนื่องจากลดความเร็วชัตเตอร์ลง การเปิดชัตเตอร์​ช้าหรือต่ำจะทำให้เกิดการสั่นไหวของมือ ภาพจะเบลอได้ แนะนำเป็นขาตั้งกล้องจะสะดวกที่สุด
มีทริกเล็กๆเพื่อป้องกันการสั่นไหวคือตั้งความเร็วชัตเตอร์ตามทางยาวโฟกัส
เช่นใช้เลนส์ 50mm ก็คุมความเร็วชัตเตอร์​ไม่ให้ต่ำกว่า 1/50 ก็จะทำให้ถือกล้องได้ง่ายขึ้น
ISO หรือความไวแสง
สมัยก่อนต้องซื้อฟิล์มเฉพาะความไวแสงนั้นๆมาใช้ จะไม่ขอพูดถึงแล้วกันเดี๋ยวยาว ข้ามมายุค 4g ปัจจุบัน​เลย เมื่อเราถ่ายรูปกลางคืนแต่จะลากความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าเราก็ทำไม่ได้ เราจึงต้องใช้ ISO หรือเจ้าความไวแสงมาช่วยเพื่อให้ไวต่อแสงและเราถือกล้องได้ด้วย ยิ่งค่า ISO สูงก็ยิ่งไวต่อแสงมาก
น่าจะพอเห็นภาพกันแล้ว แล้วกลางวันล่ะ แสงสว่างจ้าอยู่แล้วทำยังไง ก็เปิดค่า ISO ให้ต่ำที่สุดเพราะเราสามารถ​ควบคุม​ความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงได้อยู่แล้ว
ของดีโกงความมืดได้ขนาดนี้ ก็มีข้อเสียเหมือนกันเมื่อเราเปิด ISO เยอะๆ เพื่อให้ไวต่อแสงมากๆ สิ่งที่ตามมาคือสัญญาณ​รบกวน​เรียกอีกอย่างว่า noise
เจ้าเม็ดๆจุดๆนี่แหล่ะคือสัญญาณ​รบกวน​หรือ noise ยิ่งใช้ ISO สูง noise ก็จะยิ่งเยอะ ที่เป็น​แบบนี้เพราะเมื่อเปิด ISO สูงไฟฟ้าก็ผ่านเข้าไปเยอะทำให้เกิดการปาร์คกันออกมาเป็นจุดๆแบบที่เราเห็น ISO เวลาเพิ่มจะบวกเป็นเท่าตัวเช่น 200 -​400 - 800 ไปเรื่อยๆจนถึงจุดสูงสุดที่กล้องตัวนั้นให้มา กล้องในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ในเกณฑ์​ที่รับได้อยู่ราว 1600 แต่บางรุ่นก็อาจจะมากกว่านั้นก็มี
สำหรับมือใหม่ค่อยๆศึกษาไป แรกๆจะงงนิดหน่อยแต่ถ้ามีความขยันหมั่นหาความรู้ หมั่นฝึกฝน ไม่นานคุณจะเข้าใจและได้ภาพอย่างที่ต้องการ สำคัญเน้นย้ำเสมอ มีกล้องก็ต้องนำออกไปใช้งานด้วย เพื่อสร้างความคุ้นชินกับกล้องของตัวเอง
โฆษณา