14 พ.ค. 2019 เวลา 02:00 • ความคิดเห็น
หลักสูตร "เส้นทางไปทำงาน"
ในการทำงานทุกวันของผม ผมต้องใช้รถยนต์เพื่อเดินทางไปทำงานทุกวัน ด้วยระยะทางไปกลับร่วม 30 กิโลเมตรและเส้นทางที่เป็นถนนหลวง รถวิ่งกันขวักไขว่ ไร้ซึ่งขนส่งสาธารณะใดๆ จะไปถึงให้สอดคล้องกับเวลาในการทำงานได้เลย เคยพยายามจะใช้มอเตอร์ไซค์ แต่ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีที่ 35-40 องศา จึงขออนุญาตใช้รถยนต์ดีกว่า
การขับรถไปกลับบ้านและที่ทำงานทุกวันให้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง
ตื่นเช้าก่อนก้าวขึ้นรถ เป็นวิชาว่าด้วย "ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ" คือต้องรวบรวมพลังงานทั้งหมดที่มีเพื่อต้านแรงดึงดูดของที่นอน เพื่อผลักตัวเองให้เข้าไปอาบน้ำแปรงฟันแต่งตัว โดยเวลาที่ทำกิจกรรมทั้งหมดต้องไม่เกินเวลาก่อนติดเครื่องรถที่ 7.30 น.
เพราะไม่เช่นนั้นเราจะ "สาย" ทันที เป็นแบบนี้ปีละ สองร้อยกว่าวัน ติดต่อกันมากว่าสิบปี เชื่อเถอะครับว่า "มนุษย์เงินเดือน" ไม่ใช่คนธรรมดานะ เขาเป็นสุดยอดมนุษย์ที่มีความพยายามและอดทนต่อความซ้ำซากจำเจสูงมากๆๆ
พอขับรถออกไปถึงแยกไฟแดงขนาดใหญ่ ใกล้โรงเรียนชื่อดังประจำจังหวัด ถึงเวลาเรียนวิชา "สิทธิและหน้าที่พลเมือง" เพราะเป็นจุดที่เราจะเห็นการใช้สิทธิอันพึงมีโดยไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อนอย่างไรในอนาคตหรือไม่ ถึงคิวฉันไฟเขียวฉันก็จะไป แม้ว่าข้างหน้าจะติดยาวจนขวางทางแยกก็ตาม แล้วความโกลาหลก็จะเกิดขึ้นในทันที และจะวินาศยิ่งขึ้นในวันฝนตก หลักสูตรนี้เรียนกันไม่มีวันจบ มีให้เรียนทุกวันจริงๆ
พอพ้นหลักสูตรข้ามแยกแล้ว วิชาต่อไปคือ "กฏหมายจราจร" เราจะได้เรียนหลายๆหมวด ทั้ง สัญญาณไฟ(ที่ชำรุดเสมอ) สัญญาณมือ(ที่ไม่เคยถูกต้องเลย) การใช้ทางร่วมทางแยก ทางเอกทางโท ทางม้าลาย(ที่ไม่เคยมีอยู่จริง) สะพานลอย(ที่ใช้บังแดดสำหรับคนขายพวงมาลัย) และการขับรถด้วยความเร็ว(เกิน)กฏหมายกำหนด
ตามเส้นทางที่ผ่านไปในแต่ละวัน มีวิชาเสริมมากมายเช่น "วิชาการจัดการในภาวะฉุกเฉิน" เช่น รถชน ไฟไหม้ น้ำท่วม ไฟฟ้าดับ ลมพายุถล่ม พายุลูกเห็บ กู้ชีพ ปฐมพยาบาล เป็นต้น
ได้เรียนวิชาพุทธศาสนา เรื่อง"อนิจจัง" จากภาพสองข้างทาง ที่จะเปลี่ยนไปไม่ซ้ำกันซักวัน ทุ่งนาที่เคยเป็นดินโคลน ตอนนี้เขียวขจีไกลสุดตา และอีกไม่นานจะกลายเป็นสีทองอร่ามและลงเอยเป็นตอฟางข้าวสีน้ำตาลในที่สุด ภาพอาคารบ้านเรือนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ลองนึกภาพเมื่อซักสิบปีก่อน ก็จะพบว่าวิวข้างทางที่เคยเป็นบ้านไม้เก่าๆ สวนไม้ผลข้างทาง ตอนนี้กลายเป็นห้างสรรพสินค้า คอนโด ห้องแถว ไม่เหลือเค้าเดิมอีกต่อไป
ขับไปตามทางจะได้เรียนวิชา "การตลาด" ทั้งป้ายโฆษณาสาระพัด ป้ายไวนิล ป้ายไฟ ใส่คำเชิญชวนมากมายชวนเชื่อ เช่น ร้านนี้ดั้งเดิม ร้านข้างๆเจ้าเก่า ร้านถัดไปร้านเก่าเจ้าแรก เป็นอันไม่ได้เข้าซักร้านเพราะความสับสน หรือชื่อร้านหรือสถานที่ที่ชวนสงสัย เช่น ม่านรูดชื่อ "ลับลี้อินน์" ซึ่งคงยากที่จะตามเจอจริงๆ ยิ่งบางเส้นมีป้ายเล็กๆแบบเกมต่อคำ ต้องอ่านทุกป้ายห้ามเว้น จึงจะรู้ความ
ร่วม
ทำ
บุญ
ตัด
หวาย
ฝัง
ลูก
นิ
มิต
ใน
วัน
ที่
.
.
.
ถ้ามัวอ่านจนจบกระบวนความ รถเราอาจลงข้างทางเอาง่ายๆ ก็เป็นได้
พอพ้นจากวิชาการตลาดก็ใกล้ถึงที่ทำงานแล้ว ยังไม่จบหลักสูตรดี เพราะมีวิชาศึกษาต่อเนื่องหลังจากจับพวงมาลัยคือ วิชา "กรีฑา" เพื่อให้ทันสแกนลายนิ้วมือเวลา 8.00 น. ทุกคนจะต้องรีบเร่งฝีเท้าไปให้ทันเข้าคิวเพื่อสแกนนิ้ว หากช้าไปเพียง 1 นาที ก็จัดว่าสายทันทีและมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนอีกด้วย แต่กลับบ้านหกโมงกลับไม่นับทดเวลาบาดเจ็บแต่อย่างใด เป็นกติกาที่ดูงงพิลึก
ชีวิตและการเรียนรู้บนเส้นทางการมาทำงาน ทั้งไปและกลับ มีมากมายหลายอย่าง แต่วิชาที่ขาดไม่ได้และต้องนำมาใช้ตลอดคือ วิชา "สติและความไม่ประมาท" อันนี้สำคัญมาก
เพราะคนที่ขับรถมานานๆ มักได้เจอเหตุการณ์ดึงสติบ่อยๆ ส่วนตัวเจอมาหลายแบบ ทั้งรถพลิกคว่ำหมุนสามตลบมากองข้างหน้า ไม่ต้องพูดถึงคนในรถ หรือ ชนท้ายต่อกันหกคัน แต่รถเรารอดเพราะเป็นคันหน้าสุดกำลังออกตัวพอดีห่างคันหลังไปแค่คืบ หรือเด็กวิ่งตัดหน้ากระชั้นจนเราหักหลบรถเกือบคว่ำปัดไปมาราวห้ารอบ.....ดีที่ไม่มีรถตามหลังมา
จะให้เจออีกบ่อยๆ ก็ไม่เอาเช่นกัน เพราะหลังจากพบเจอเหตุการณ์ข้างต้นเหล่านี้ มือไม้จะอ่อน ตัวจะสั่น และจะขับรถช้าเป็นเต่าคลาน ไม่เชื่อลองถามคนเคยเจอดู.....
สุดท้ายนี้ ขอสวัสดีนักเรียนบนท้องถนนทุกคน ขอความปลอดภัยจงสถิตย์กับท่านตลอดไป..สาธุ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา