18 พ.ค. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
EP.018 - ทางรอดของหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
เราได้ยินคำพูดเหล่านี้บ่อยจนเป็นปกติไปแล้วในทุกวันนี้ “หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย” “นิตยสารปิดตัวลง”
โดยส่วนใหญ่แล้วนั้น ผู้คนมักจะโทษว่า อินเทอร์เน็ต คือตัวการสำคัญที่ทำให้ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งหลายมีผลประกอบการย่ำแย่จนต้องปลดคนงานออก และ ปิดตัวลง แต่ถ้าหากเราวิเคราะห์กันให้ลึกกว่านั้น เหตุผลจริงๆคืออะไร เป็นเพราะอินเทอร์เน็ตหรือไม่
ผมได้อ่านหนังสือชื่อ Subscribed เขียนโดน TIEN TZUO ได้เขียนและวิเคราะห์ไว้ได้น่าสนใจ เลยอยากจะนำมาเล่าให้ฟังครับ
อธิบายถึงโครงสร้างหลักๆของรายได้ของสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์และนิตยสารนั้น รายได้หลักจะมาจาก 2 ทาง ได้แก่ ยอดขาย และ โฆษณา
ส่วนหลักๆที่สิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบจากคนใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากนั้น เป็นส่วนของรายได้โฆษณา ในอเมริกาตอนนี้ รายได้ค่าโฆษณาในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ ตกอยู่ในบริษัทอย่าง Google และ Facebook ส่วนที่เหลือปล่อยให้สำนักพิมพ์ต่างๆหลายสิบบริษัทไปแบ่งกัน ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงให้บริษัทต่างๆอยู่ได้
ฉะนั้น ทางรอดของสำนักพิมพ์เหล่านี้ ที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ จึงจากมาจากการสร้างยอดขายขึ้นมาทดแทน
ยอดขายเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการพิมพ์เป็นกระดาษออกมาขายก็ได้ การขายผ่านช่องทาง Digital ก็ถือได้ว่าเป็นยอดขายเหมือนกัน เราจะเห็นได้จาก หลายสำนักข่าวในอเมริกาอย่าง The New York Times หรือ The Wall Street Journal ได้เปลี่ยนตัวเองจากการขายหนังสือพิมพ์ธรรมดา เป็นการขายระบบสมาชิกแบบ Subscription แทน เพราะในปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคเข้าถึงเเละเข้าใจในระบบการ Subscription และพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อบริการที่เค้าต้องการ
www.wsj.com
จริงๆแล้ว การสร้างยอดขายผ่านทางระบบ Ditital นั้น สามารถที่จะทลายข้อจำกัดเรื่องของพรมเเดนได้อีกด้วย สำนักพิมพ์ไทยสามารถขายให้กับผู้บริโภคชาวลาวหรือพม่าได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
แต่ประเด็นสำคัญของการที่จะทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินในระบบสมาชิกได้นี้ สิ่งสำคัญคือ บริการของสำนักพิมพ์จะต้องมีคุณภาพจริงๆ Ken Docter แห่งเว็บไซต์ Newsonomics กล่าวไว้ว่า รายได้จากผู้อ่าน ถ้าหากมาจากเนื้อหาที่มีคุณภาพสูงนั้น พิสูจน์แล้วว่า มีความมั่นคงกว่ารายได้จากทางโฆษณา
ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างนึง เป็นนิตยสารชื่อ Magazine B จากประเทศเกาหลีใต้ เป็นนิตยสารที่เล่าเกี่ยวกับ Brand ในหนึ่งเล่ม จะเล่าเกี่ยวกับ brand นั้นอย่างเดียว และ มีการทำการศึกษาค้นคว้าในเบื้องลึกมาเป็นอย่างดี และมีการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าถึงผู้อ่านได้ทั่วทั้งโลก ที่สำคัญคือ ไม่มีโฆษณาแทรกแม้แต่หน้าเดียว
http://magazine-b.com/
มิหนำซ้ำ นิตยสารนี้ยังขายเป็นเล่มและไม่ได้ขายในระบบดิจิตอลด้วย แต่มีคุณค่ามากพอที่จะทำให้ผู้บรืโภคยอมควักเงินออกมาซื้อแบบเป็นรูปเล่มได้
สิ่งเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วในต่างประเทศ ว่า เป็นทางรอดของเหล่าสำนักพิมพ์ได้เป็นอย่างดี
กลับมามองในประเทศไทย การจะกล่าวหาว่า ระบบอินเทอร์เน็ตนั้นได้ทำลายล้างสำนักพิมพ์ต่างๆ เราคงต้องยอมรับว่า เป็นการกล่าวหากันเกินไปนัก ถ้าหากเราวิเคราะห์กันให้ดีๆ สิ่งที่ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆไปไม่รอด น่าจะเป็นเพราะ คุณภาพของเนื้อหาเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะครองใจผู้บริโภคได้มากกว่า
บางสำนักพิมพ์ก็แปลงตัวเองให้กลายเป็น Clickbait factory พาดหัวข่าวให้ดูหวือหวา เพื่อล่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกดเข้าไปอ่าน (เพื่อจะได้ยอดค่าโฆษณา) แต่เนื้อหานั้นกลับไม่ได้มีความพิเศษดีกว่าสำนักพิมพ์อื่นๆแต่อย่างใด
สำนักพิมพ์ต้องมองให้ออกว่า สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดที่ผู้บริโภคต้องการนั้น คือ เนื้อหาที่ดีที่สุด โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อหาเหล่านั้นอยู่ในรูปลักษณ์ใด (พิมพ์เป็นกระดาษหรือดิจิตอล)
หากเหล่าบรรดาสำนักพิมพ์ต่างๆไม่หันมาพัฒนาเนื้อหาอย่างจริงๆจังๆแล้ว คงไม่สามารถจะโทษใครได้อีก
นอกเสียจากโทษตัวเองเท่านั้นเอง
โฆษณา