Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โสตศึกษา
•
ติดตาม
16 พ.ค. 2019 เวลา 06:58 • บันเทิง
Industry Plant คืออะไร?
ช่วงนี้หลายคนที่ตามสื่อเกี่ยวกับเพลงก็คงต้องเจอกับหน้า Billie Eilish อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งแน่ๆ แต่ถ้าใครได้ลองกดอ่านคอมเม้นท์ตามเพจเพลงเมืองนอกหรือในยูทูป อาจจะเจอกับคำว่า "Industry Plant" อยู่บ่อยๆ คำนี้ไม่ใช่คำที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นคำที่ถูกใช้อยู่บ่อยๆโดยเฉพาะในหมู่คนฟังเพลงฮิปฮอป วันนี้แอดเลยจะพยายามเขียนเกี่ยวกับความหมายของคำๆนี้ให้ได้อ่านกัน - จะพยายามไม่ให้ยาวเกินไปเนอะ 😂
.
**ต้องบอกก่อนว่าที่จะเขียนนี่ไม่ได้พยายามชี้เป้าหรือโจมตีศิลปินคนไหน เพราะตัวคำว่า Industry Plant เองก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบเพียงอย่างเดียว เป็นการเขียนเชิงให้ข้อมูลและทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในหัวข้อที่กำลังเป็นที่พูดถึงในหมู่คนฟังเพลงทั่วโลกมากกว่า
.
● ความหมายของ Industry Plant ●
.
ถ้าตามความหมายตรงๆตัวเลย คำว่า Industry Plant คือคำที่ใช้เรียกศิลปินที่มีเส้นสายอยู่ในวงการบันเทิงอยู่แล้ว อาจจะรู้จักกับคนนู้นคนนี้หรืออาจจะมีพ่อแม่เป็นคนดัง แต่สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นศิลปินที่มีจุดเริ่มต้นเป็นคนธรรมดาและค่อยๆโด่งดังจากฝีมือการทำเพลง ทั้งนี้เพื่อดึงดูดกลุ่มคนฟังเพลงบางกลุ่มโดยเฉพาะ ว่าง่ายๆก็คือเป็นกลุ่มศิลปินที่ถูกมองว่าเป็น "เด็กเส้น" แถมด้วยข้อหา "สร้างภาพ" เพิ่มเข้าไปด้วย
.
มาถึงตรงนี้หลายๆคนคงเก็ทว่าทำไมชาวฮิปฮอปถึงชอบใช้คำนี้กัน เพราะประวัติศาสตร์ของดนตรีฮิปฮอปนั้นมีรากฐานมาจากการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ต่อสู้กับบรรดาผู้มีอิทธิพลในสังคม นั่นทำให้พวกเขาใส่ใจกับที่มาของตัวศิลปินที่เป็นเสมือนปากกระบอกเสียงให้พวกเขามากๆ ยิ่งยุคปัจจุบันที่ดนตรีฮิปฮอปบูมขึ้นมาก็ยิ่งทำให้ค่ายเพลงใหญ่ๆที่มีอิทธิพลเล็งเห็นโอกาสตรงนี้ ปั้นศิลปินฮิปฮอปใหม่ๆ-ตัดจิตวิญญาณของขบถทิ้งไปให้เหลือแต่รูปฟอร์มของดนตรีที่สามารถนำไปขายได้ เป็นกระบวนการแปรรูปที่นำเอาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวฮิปฮอปมาเข้าสู่กระบวนค้ากำไร แล้วเม็ดเงินพวกนี้ก็ไหลเข้าสู่กระเป๋าคนรวยตามเดิม นั่นเองที่ทำให้ชาวฮิปฮอปมีการใช้คำว่า Industry Plant อย่างแพร่หลายมากๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ขัดกับอุดมการณ์อันเป็นรากฐานของดนตรีพวกเขาสุดๆนั่นเอง (ตัวอย่างศิลปินที่มักถูกเรียกว่าเป็น Industry Plant ของสายฮิปฮอป: Travis Scott, Post Malone)
.
การย้อนกลับไปดูว่าศิลปินคนไหนเป็น Industry Plant หลายๆคนมักใช้วิธีการย้อนไปดูถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศิลปินคนนี้มีชื่อเสียงขึ้นมา คิดว่ามันเป็นไปได้มากแค่ไหนกันล่ะ ที่จู่ๆออกซิงเกิ้ลแค่ตัวเดียวแล้วทั้งสื่อและผู้นำเทรนด์ทั้งหลายแหล่จะแห่กันมาพูดถึงจนเราต้องอดหามาฟังบ้างไม่ได้ (ก็เดี๋ยวไม่อินเทรนด์อ่า) เมื่อเจอจุดผิดสังเกตนี้แล้ว เกิดไปเจออีกว่าจริงๆศิลปินคนนี้เป็นลูกของดารา, นักร้องคนนู้นคนนี้ ก็แทบจะพูดได้เต็มปากเลยว่านี่แหละ "Industry Plant" หรือถ้าจะให้พูดแบบสุดโต่งไปเลยก็คือ เป็นศิลปินที่ถูกเขียนพลอทมาให้ดังอยู่แล้ว!
.
● เป็น Industry Plant แล้วมันยังไง? ●
.
อ่าวๆ ก็ถ้าพ่อแม่เป็นคนดังแล้วจะช่วยลูกไม่ได้เหรอ? สำหรับคนที่ใช้คำว่า Industry Plant ในเชิงเหยียดก็จะบอกว่า "ได้! แต่อย่างสร้างภาพลักษณ์เหมือนเป็นคนธรรมดาเซ่! พวกเอ็งดังได้เพราะมีเส้นสายนี่หว่า อย่าทำเหมือนดังเพราะฝีมือการทำเพลงเซ่" และนั่นทำให้มีศิลปินหลายคนในยุคนี้ที่ถูกเรียกว่า Industry Plant อยู่บ่อยๆ คนหนึ่งก็คือสาวน้อย Clairo ที่ทำดนตรีสไตล์ Lo-Fi ที่ควรจะเป็นที่นิยมในหมู่คนฟังเพลงนอกกระแสที่มีต้นทุนในการทำเพลงต่ำ หรือสาว Billie Eilish ที่มีภาพลักษณ์ดูเป็นคนนอกคอก,เป็นเด็กมีปัญหา,ต่อต้านสังคม แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่าสื่อต่างๆเกี่ยวกับเพลง ก็ใช้อัลกอริธึ่มอะไรไม่รู้ทำให้หน้าพวกเธอโผล่มาเต็มไปหมดราวกับนัดกันมา ทั้งที่ภาพลักษณ์พวกเธอดูนอกระบบซะขนาดนั้น แล้วไหงระบบถึงซัพพอร์ทพวกเธอขนาดนี้ล่ะ?
.
นั่นเองที่ทำให้เหล่า Industry Plant ได้เปรียบศิลปินคนอื่นมากๆ คือวันๆนึงเราอาจจะเห็นพวกเธอซัก 3-4 รอบ จากการมองเห็นผ่านๆ เริ่มเป็นความเคยชิน เริ่มกลายเป็นความสนใจ ในขณะที่กับศิลปินคนอื่นๆเราอาจจะได้เห็นบ้างหรือแทบไม่ได้เห็นเลยในวันๆนึง / พูดให้เห็นภาพง่ายขึ้นอีกก็เหมือนหนัง Blockbuster ที่โรงหนังฉายทุกที่ ขึ้นรถไฟฟ้าก็มีหนังตัวอย่างให้ดู จนคุณที่อยู่ระหว่างทางกลับบ้านก็รู้สึกอยากดูขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว กับหนังอินดี้ที่เราต้องถ่อไปดูถึงโรงหนังใจกลางเมืองที่มีฉายแค่ที่เดียวแถมแทบจะไม่มีการโปรโมทที่ไหนเลยนั่นแหละ ผลเสียของสิ่งเหล่านี้ก็คงมองเห็นได้ไม่ยาก-มันไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน และด้วยธรรมชาติของระบบผูกขาด ตัวสินค้าก็จะด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ
.
● ด้านดีๆของ Industry Plant ●
.
ถึงจะเป็นแบบนั้น คำว่า Industry Plant ก็ไม่ได้มีภาพลบไปเสียทั้งหมด ว่าง่ายๆเลยก็คือศิลปินที่เรารู้จักกันดีอย่าง The Strokes ก็ถูกมองว่าเป็น Industry Plant เหมือนกัน! (จูเลี่ยนมีพ่อแม่เป็นคนดัง บลาๆ) แต่ถามจริงๆว่าในยุคนั้นใครมันจะไปคิดว่าเพลงสไตล์ย้อนยุคแบบนี้จะมาฮิตได้ ก็คงจะมีแต่ลูกบ้าของนายจูเลี่ยนที่ชอบฟังเพลงเก่าๆแล้วนำมาถ่ายทอดต่อยอดออกมาให้ดูเก๋มีสไตล์จนเป็นที่ชื่นชอบของคนฟังไปทั่วได้นั่นแหละ ไอ้เรื่องที่มีเส้นสายก็ใช่ แต่ถ้ามีของจริงๆ สุดท้ายคนก็จะยอมรับกันเอง ใช้เส้นสายของตัวเองเพื่อให้เกิดความหลากหลายขึ้นในวงการดนตรี-สำหรับแอดแล้ว นั่นก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่นะ (ยิ่งหลังๆเจ้าตัวก็ยิ่งชัดเจนขึ้นในการทำเพลงไม่ตามใจนายทุน จนวง The Voidz ของพี่แกจะกลายเป็นวงลับแลในบ้านเราอยู่แล้วเนี่ย)
.
รึแม้แต่สายฮิปฮอปที่ก่อนหน้านี้ชี้หน้าด่าว่า Chance the Rapper เป็น Industry Plant กันมา พอเขาเริ่มออกผลงานมาเรื่อยๆ ก็เริ่มยอมรับในตัวเขากันมากขึ้นจนคำๆนี้แทบจะไม่มีความหมายไปเลย คือสุดท้ายแล้วถ้าศิลปินเหล่านี้มีผลงานที่น่าชื่นชมจริง มันก็เป็นภาษาสากลที่จะทำให้คนชอบฟังเพลงต่างแห่กันมาชื่นชมได้ เมื่อนั้นเส้นสายที่พวกเขามีก็เป็นแค่เหมือนข้อได้เปรียบที่ทำให้ผลงานที่ดีกระจายไปสู่วงกว้างได้รวดเร็วขึ้นก็เท่านั้นเอง
.
ลองหันกลับมามองที่ตัวเรา กับชีวิตคนชอบฟังเพลงในโลกทุนนิยม ยังไงเราก็คงหลีกเลี่ยง Industry Plant ไม่ได้ เราต้องยอมรับว่าต้นทุนของศิลปินแต่ละคนยังไงก็ไม่มีทางเท่ากัน คำถามก็คือเรา-ในฐานะคนฟังมีมาตรฐานชัดเจนในตัวเองมากแค่ไหนว่าเพลงแบบไหนที่เราคิดว่าดีเพลงแบบไหนที่เราคิดว่าไม่ดี เพราะสุดท้ายแล้ว คำตอบในอุดมคติสำหรับการที่เราจะชอบเพลงๆนึงก็ควรจะเป็นที่ตัวเราจริงๆ โดยไม่ต้องแคร์หรอกว่าศิลปินคนนั้นจะเป็น Industry Plant หรือไม่เป็น จริงมั้ยล่ะครับ 🙂
.
อ้างอิง:
WHAT IS AN INDUSTRY PLANT? :
https://www.youtube.com/watch?v=3sWcBFLpNiA
"Billie Eilish Is an Industry Plant" :
https://www.youtube.com/watch?v=3VMWe3LVlGk
Industry Plants Aren't Bad! :
https://www.youtube.com/watch?v=ukgXxislRL8
BILLIE EILISH IS AN INDUSTRY PLANT? :
https://www.youtube.com/watch?v=PFwUXt_SmMs
.
#AddNoise
1 บันทึก
5
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย