17 พ.ค. 2019 เวลา 00:49 • การศึกษา
แนวทางการเลี้ยงกุ้งม้าลาย ( Zebra , Tiger Crayfish )
กุ้งม้าลายหรือ Zebra Crayfish หรือบางที่เรียกว่า Tiger Lobster นั้น นับได้ว่าเป็นกุ้งเครฟิช ที่ได้มีการนำมาจำหน่ายกันมายาวนานในท้องตลาดบ้านเรา ตามแหล่งจำหน่ายสัตว์น้ำที่มีชื่อเสียง อย่าง ตลาดนัดสวนจตุจักร , ตลาดนัด สนามหลวง 2 เป็นต้น สามารถที่จะหาน้องกุ้งเครฟิชชนิดนี้มาเลี้ยงได้อย่างสม่ำเสมอ
กุ้งม้าลาย นับได้ว่าเป็น กุ้งเครฟิชที่มีนิสัยค่อนข้างจะขี้อาย แต่ จะมีความก้าวร้าวต่อกันไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับกุ้งเครฟิชอีกหลายๆชนิด ทำให้ สามารถเลี้ยงรวมกันได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตาม ควรจะจัดที่หลบภัยให้กับเขาได้หลบภัย อย่างเพียงพอ ต่อปริมาณกุ้ง ภายในตู้ สามารถตกแต่ง ด้วยหิน หรือ กรวดธรรมชาติได้ ในกรณีที่ต้องการใช้ทราย หรือ หินแบบละเอียด ควรมั่นใจ ว่ามีระบบกรองที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากอาจจะเกิดการสะสมของเสียในชั้นหิน หรือ ทรายได้ง่าย ดังนั้นระบบกรองแบบกรองนอก ที่มีพื้นที่ในการใส่วัสดุกรองต่างๆ มาก จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม หรือไม่ ผู้เลี้ยงก็อาจจะใช้การปูพื้นตู้บางๆ เอาก็ได้ครับ ในช่วงแรกอาจจะเน้นการให้อาหารสด เช่น เนื้อปลา , เนื้อกุ้ง หรือ ใส่หอยน้ำจืด หรือ สาหร่าย ให้เขากินก่อน ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน มาให้กุ้งกินอาหารเม็ดก็ได้ครับ จากประสบการณ์ในการเลี้ยงของผม พบว่า ในช่วงแรกๆ กุ้งที่นำเข้ามาใหม่มักจะลอกคราบอยู่เสมอ ๆ อาจจะเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงที่แตกต่างไปจากสถานที่เดิมๆ ที่เขาถูกจับมาก็เป็นไปได้ ดทำให้การเสริมแร่ธาตุ และ วิตามินด้วยวิธีต่างๆ ในช่วงแรกๆ ของการเลี้ยงค่อนข้างจะเป็นสิ่งจำเป็น และ สังเกตได้ว่าเขาจะค่อนข้างชอบกินหอยน้ำจืดฝาเดียว ขนาดเล็กๆ แต่พอลอกคราบไปแล้ว ก็สามารถปรับให้กินอาหารได้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดสำหรับกุ้งจมน้ำได้โดยไม่ยากครับ ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว การเลี้ยงต่างๆ ก็ง่ายขึ้นมากแล้วล่ะครับ สามารถดูแลต่อกันได้โดยไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม กุ้งม้าลายเป็นกุ้งเครย์ฟิช ที่ไม่ชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูง ดังนั้นควรรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงประมาณ 24 - 27 องศา จะเหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ครับ
ในส่วนของการเพาะพันธุ์กุ้งชนิดนี้นั้น กุ้งม้าลาย จัดได้ว่าเป็นกุ้งเครฟิชที่ไม่ค่อยก้าวร้าวต่อกันมากนัก ยิ่งถ้าตัวผู้และตัวเมียจับคู่กันได้แล้ว ก็มักจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสุขสงบ ซึ่งถ้าปัจจัยต่างๆ สมบูรณ์พร้อมแล้ว ตัวผู้และตัวเมียที่จับคู่กัน ก็จะเริ่มทำการผสมพันธุ์กัน ซึ่งผู้เลี้ยงอาจจะต้องใช้ความสังเกตมากหน่อย ว่าตัวเมีย กำลังจะวางไข่หรือไม่ ถ้าตัวเมีย มีอาการเคลื่อนไหว หรือกินอาหารน้อยลง และ เริ่มใช้เวลาในการหาที่ซ่อน หรือ หลบในที่ซ่อนนานๆ ก็เป็นไปได้ว่า ตัวเมียอาจจะกำลังเตรียมการวางไข่ครับ ช่วงนี้ถ้าจะเปลี่ยนถ่ายน้ำ ก็ขอให้ทำเท่าที่จำเป็น อาจจะแยกตัวผู้ออกไปก็ได้ครับ เพราะว่า ไม่ได้มีศัตรูอะไรในที่เลี้ยง ของเสียที่เกิดจากการกินอาหารของตัวผู้ จะได้ไม่เกิดขึ้นในระบบ ตัวเมียของจะทำการโอบอุ้มไข่เอาไว้ อยู่ในราวๆ 1 เดือน หรือบวกลบเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในที่เลี้ยง โดยผู้เลี้ยงสามารถสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของลักษณะไข่ของกุ้งได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องใช้ความพยายาม และ จังหวะที่เหมาะสมซักเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ในช่วงที่แม่กุ้งออกมากระพือไข่ เพื่อให้ไข่ได้รับอ็อกซิเจนครับ และถ้าผู้เลี้ยงได้เห็นว่า ไข่มีการพัฒนา ใกล้เป็นตัวอ่อนแล้ว ก็สามารถที่จะจัดเตรียมสถานที่ในการเลี้ยงตัวอ่อนได้เลยครับ โดยอาจจะแยกตัวแม่ มาใส่ในบ่ออนุบาลก็ได้ เพื่อที่จะได้สะดวกในการดูแลตัวลูกกุ้งวัยอ่อน ในช่วงนี้อย่าเพิ่งเปลี่ยนถ่ายน้ำมากนะครับ เพราะตัวลูกกุ้งวัยอ่อนอาจจะถูกกระตุ้นให้ลอกคราบ โดยที่ยังไม่พร้อม และทำให้ตายได้ครับ อีกทั้งตัวอ่อนก็ยังมีความอดทนน้อย และอ่อนแอด้วยในช่วงนี้ ดังนั้นการทำให้ค่าน้ำเปลี่ยนแปลงครั้งละมากๆ จะเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนได้ แต่พอโตขึ้นแล้ว ลูกกุ้งก็จะมีความทนทานมากขึ้นครับ ถึงตอนนั้นก็จะสามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้เป็นปกติแล้ว
ลูกกุ้งม้าลายนั้นจะชอบกินอาหารสด ดังนั้น อาจจะต้องจัดเตรียมอาหารสด เช่น หนอนแดง , ไส้เดือนน้ำ , ปลาเล็กๆสับ เอาไว้ให้กับเขา แต่ก็ต้องระวังในส่วนของเรื่องคุณภาพน้ำด้วยนะครับ อาจจะหัดให้พวกเขาลองกินอาหารเม็ดสำหรับกุ้งคุณภาพสูงในช่วงนี้ด้วยก็ได้ ก็จะทำให้เลี้ยงเขาได้ง่ายขึ้นในอนาคตครับ
เครดิตภาพ
โฆษณา