Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โสตศึกษา
•
ติดตาม
18 พ.ค. 2019 เวลา 07:53 • บันเทิง
Punk Talk #2: Buzzcocks / ทำไมพังค์จะมีความรักไม่ได้?
★ บทนำ ★
“ในทางเทคนิคแล้ว พวกเขาเป็นวงอินดี้วงแรกเลยนะ”
“แค่ 25 วินาทีแรกของ Everybody’s Happy Nowadays ก็ทำให้เกิดวงการาจ/พังค์ไม่ต่ำกว่า 37 วงแล้ว”
“คุณจะได้ยินเลยว่า The Strokes ได้ซาวด์มาจากไหน”
“ผมมองว่าพวกเขาเป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่าง Sex Pistols และ The Smiths”
“ฟัง Why Can’t I Touch It แล้วลองฟังเพลงของ Modest Mouse เพลงไหนก็ได้ ไลน์เบสนี่คือใช่เลย”
“ตั้งแต่ The Smiths ถึง Green Day ถึง Radiohead ถึง Fucked Up คงไม่มีวงไหนซาวด์แบบนี้ถ้าไม่มี Buzzcocks”
ทั้งหมดนี้คือคำแสดงการคารวะจากบรรดาชาวเน็ทใน reddit ยามที่ Pete Shelley แกนนำวง Buzzcocks จากไป นั่นทำให้พอจะมองเห็นได้เลยว่าอิทธิพลของวง Buzzcocks ที่มีต่อวงการดนตรีนั้นมีมากมายเหลือเกิน แม้ว่าวงนี้เองจะไม่ได้เป็นที่พูดถึงนักในหมู่คนฟังเพลงพังค์ก็ตาม
EP Spiral Scratch (1977)
★ ต้นฉบับเพลงอินดี้ ★
ถ้าไม่มี Sex Pistols ก็คงไม่มี Buzzcocks โดยเฉพาะในด้านดนตรีที่เรียกได้ว่าถอดแบบกันมาอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้น Buzzcocks ก็แทบไม่มีอะไรเหมือนกับ Sex Pistols เลย โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่ไม่ได้ใส่เสื้อหนังหรือทำผมตามแบบฉบับวงพังค์จากลอนดอนในยุคนั้น มิหนำซ้ำยังดูออกไปทางเนิร์ดๆ อย่างที่ตัว Pete Shelley ฟร้อนท์แมนของวงบรรยายตัวพวกเขาเองไว้ว่า “พวกเราเป็นแค่คนไนซ์ๆ 4 คน คนประเภทที่คุณสามารถพาไปหาพ่อแม่ที่บ้านได้น่ะ” ด้วยลุคที่ไม่ได้ไปทางนี้ และพวกเขาก็เป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ได้เห็นคุณค่ากับการสร้างภาพลักษณ์ให้เข้ากับซีนดนตรีพังค์แบบนั้น พวกเขาจึงพยายามพิสูจน์ทุกอย่างด้วยเสียงดนตรีล้วนๆ
พวกเขาเริ่มจากการทัวร์ซัพพอร์ทวง Sex Pistols จนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับหนึ่งก็เริ่มอัดเดโมเทปเป็นของตัวเอง รวมถึง EP ตัวแรก ‘Spiral Scratch’ ที่เป็นการระดมทุนจากญาติสนิทมิตรสหายของคนในวงโดยเฉพาะพ่อของ Shelley ที่เชื่อใจลูกจนยอมไปกู้เงิน 250 ปอนด์มาเป็นทุนสำหรับอัดแผ่น นี่เองที่ทำให้วงนี้ที่จะโด่งดังในภายหลังถูกยกย่องว่าเป็น “ต้นฉบับของเพลงอินดี้” ด้วยการปฏิเสธการช่วยเหลือจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ด้วยความกลัวว่าจะถูกแทรกแซงการทำงาน และลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการขนส่ง เป็นตัวแทนของอุดมคติแบบ DIY ที่วงการพังค์ยึดถือโดยแท้จริง และสิ่งนี้ก็ถูกส่งต่อให้ศิลปินอันเดอร์กราวน์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นรากของการก่อกำเนิด Alternative Rock ในยุค 90s นั่นเอง
EP Spiral Scratch ขายได้กว่า 16,000 ก๊อปปี้จนพ่อของ Shelley เอาไปใช้หนี้ได้อย่างหายห่วง พร้อมทั้งเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่านี่เป็นผลงานที่ดีสูสีกับผลงานของ Sex Pistols เลยทีเดียว จึงพอจะพูดได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามสำหรับวงพังค์ที่ไม่ได้ถือกำเนิดในลอนดอนวงนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้
Buzzcocks ในปี 1977. จากซ้ายไปขวา: Howard Devoto, John Maher, Steve Diggle, Pete Shelley. ภาพถ่ายโดย Kevin Cummins/Getty Images
★ พังค์ต่างจังหวัด ★
หลังออก EP ตัวแรกที่เป็นจุดสำคัญของอาชีพนักดนตรีไปแล้ว นักร้องประจำวง Howard Devoto ก็รู้สึกว่าทิศทางที่วงกำลังมุ่งไปไม่ใช่ทางที่เขาชื่นชอบเท่าไหร่นัก เลยตัดสินใจลาออกจากวงไปฟอร์มวงพังค์ที่เป็นที่รู้จักไม่แพ้กันอย่าง Magazine แทน จากเหตุการณ์นี้ทำให้ Pete Shelley สามารถถ่ายทอดความเป็นตัวเองลงใน Buzzcocks ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแต่ละอย่างที่เป็นตัวเขานั้นก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นที่นิยมของชาวพังค์ในยุคนั้นเลย
ทุกคนคาดหวังว่าพังค์จะต้องพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างชัดเจน ในขณะที่ตัว Shelley ผู้มาจากเมืองแมนเชสเตอร์และมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างสงบราบเรียบขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด เรื่องที่มีสีสันที่สุดในวันๆหนึ่งของเขาอาจจะเป็นเรื่องรถเมล์ที่มาไม่ตรงเวลา ด้วยเหตุนี้เขาจึงตั้งใจที่จะเขียนเนื้อเพลงที่เชื่อมโยงกับคนทั่วๆไปได้ อาจจะฟังดูเหมือนเป็นเพจ Everything is political ไปซักหน่อย แต่เขาก็บอกว่าการเมืองมันก็แฝงอยู่ในเรื่องราวทั่วๆไปของชีวิตนี่แหละ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ของผู้คน หรือว่าง่ายๆก็คือ”ความรัก” แน่นอนว่าสิ่งนี้ทำให้ชาวพังค์ในยุคนั้นดูถูกวง Buzzcocks อยู่ไม่น้อยเลย เพราะวงนี้ไม่ใช่พังค์ในรูปแบบที่เขาคุ้นเคยแม้แต่นิดเดียว นี่ไม่ใช่พังค์ใส่เสื้อหนัง ไม่ทำอะไรตามแฟชั่น ไม่แสดงให้เห็นถึงพลังของเพศชาย หนำซ้ำยังไม่พูดเรื่อง”การเมือง”ในรูปแบบที่พวกเขาชื่นชอบอีก
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือดนตรีของวงนี้ยังไงก็เป็นพังค์แน่ๆ ทั้งเสียงร้องออกกวนๆ ทั้งเสียงขยี้กีต้าร์ดุๆ ทั้งท่อนโซโล่ที่เล่นตัวโน้ตแค่ไม่กี่ตัว แต่พวกเขากลับจับเอาองค์ประกอบแบบเพลงป๊อปมาใส่จนทำให้เพลงของ Buzzcocks มีความติดหูและมีความอ่อนหวานที่แฝงอยู่ใต้เสียงดนตรีโหดๆ จนเป็นที่รับรู้กันว่า Buzzcocks นี่แหละคือผู้ให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่า Pop Punk (เออ วงนี้นี่เป็นจุดเริ่มต้นของหลายอย่างจริงๆ) และทำให้หลายๆเพลงของวงนี้เข้าถึงกลุ่มคนฟังเพลงป๊อปได้ ผิดกับวงพังค์วงอื่นในยุคนั้น
ซิงเกิ้ล Ever Fallen in Love (With Someone You Shouldn't've?) (1978)
★ เสียงของเพศทางเลือก ★
จุดพีคในอาชีพการงานของวงเป็นช่วงที่วงออกซิงเกิ้ล ‘Ever Fallen In Love (With Someone You Shouldn’t have)’ ซึ่งเป็นซิงเกิ้ลจากอัลบั้มที่สองของวง ‘Love Bites’ ที่ออกในปี 1978 ซึ่งความน่าสนใจของเพลงนี้อยู่ตรงที่การแฝงนัยยะของเพศทางเลือกอย่างชัดเจน ตั้งแต่ชื่อเพลง ‘เคยตกหลุมรักใครบางคนที่คุณไม่ควรจะรักไหม’ ไปจนถึงการใช้สรรพนามในเพลงนี้ที่หลีกเลี่ยงการระบุเพศ ทำให้ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศไหนก็ตาม ก็สามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเนื้อหาในเพลงนี้ได้ แน่นอนว่าเพลงนี้ก็แต่งจากประสบการณ์การรักผู้ชายคนหนึ่งของ Shelley เองนี่แหละ เช่นเดียวกับหลายๆเพลงของวงนี้ที่เขาตั้งใจจะให้มันเป็นเหมือน ‘อัตชีวประวัติ’ ของเขาเอง
หลังจากนั้นเมื่อ Shelley ได้ออกผลงานเดี่ยว ‘Homosapien’ ในปี (1981) เขาก็แสดงความชัดเจนของการเป็นเพศทางเลือกผ่านเนื้อเพลงมากขึ้น โดยมีท่อนอย่าง “Homo superior / In my interior.” (อาวุธลับโฮโมข้างในตัวฉัน) ที่ทำให้เขาถูกแบนโดย BBC เพราะ ‘พูดเรื่องเซ็กส์ของเกย์ชัดเจนเกินไป’ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเขาแต่อย่างใด เพราะเขาเคยถูกแบนมาตั้งแต่ตอน Buzzcocks ออกซิงเกิ้ลแรก ‘Orgasm Addict’ แล้ว (แปลตรงๆก็แปลว่า ‘เสพติดจุดสุดยอด’ นั่นแหละ) อย่างที่เห็นว่าในแง่ความ ‘ไม่ยอมจำนนต่อระบบ’ นั้น วงนี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าวงพังค์วงอื่น แค่สิ่งที่พวกเขาพูดมันต่างออกไปแค่นั้นแหละ ซึ่งในช่วงเวลาที่ดนตรีพังค์กำลังบูมอยู่นั้น การเพิ่มพื้นที่ให้กับเพศทางเลือกผ่านบทเพลงของเขาจึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมไม่น้อยเลย
อย่างไรก็ตามในปี 2011 Shelley แต่งงานกับหญิงสาวจากเอสโตเนีย โดยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นพร้อมครอบครัวและลูกๆ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
Compilation 'Singles Going Steady' (1979)
★ Singles Going Steady ★
แม้วงนี้จะมีผลงานออกมามากมาย แต่คนส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า compilation ที่เป็นเหมือนรวมฮิตของวงอย่าง ‘Singles Going Steady’ นี่แหละที่คนฟังเพลงทุกคนควรมีอยู่ในคอลเล็คชั่น ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องคุณภาพของแต่ละเพลงที่ทำให้หยิบมาฟังได้ไม่รู้เบื่อแล้ว นี่ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นวง Buzzcocks ได้เป็นอย่างดี คือเป็นอัลบั้มรวมฮิตที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ ความติดหูแบบป๊อป, ความเข้มข้นแบบพังค์ และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ในแบบอินดี้
โดยแรกเริ่มเดิมทีนี่เป็น compilation ที่ทำขึ้นเพื่อเจาะตลาดอเมริกาในปี 1979 พร้อมๆ กับที่วงไปทัวร์อเมริกา แต่จนแล้วจนรอดก็เจาะไม่สำเร็จ กลายเป็นว่ากว่า Singles Going Steady จะเป็นที่นิยมก็เป็นปี 1981 ที่นำกลับมาขายที่ประเทศบ้านเกิดในวาระที่วงนี้ยุบวงไป และนี่เองที่ทำให้กิตติศัพท์ของวงนี้เป็นที่พูดถึงขึ้นเรื่อยๆในยามที่วงสิ้นอายุขัยไปแล้ว จนเป็นที่ประจักษ์ในหลายสิ่งหลายอย่างที่วงนี้มอบให้กับวงการดนตรี คงไม่สามารถตอบได้ว่าอะไรที่ทำให้วงนี้ไปไม่ถึงฝั่งอเมริกาในยุคนั้น แต่มรดกที่วงนี้ทิ้งไว้ให้กับวงรุ่นหลังๆนั้นก็มีมากมายเหลือเกิน โดยทั้งหมดนั้นออกมาในรูปแบบของดนตรีและการแสดงจุดยืนบางอย่างที่ออกมาจากหัวใจ ซื่อตรงกับสิ่งที่ตัวเองเป็นโดยไม่แคร์ค่านิยมของสังคมหรือกระแสใดๆในยุคที่ตัวเองอยู่
เช่นนี้แล้วจะไม่ให้บอกว่าวงนี้เป็นวงพังค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดวงหนึ่งที่เคยมีมาได้อย่างไรล่ะ
#AddNoise
อ้างอิง:
https://bit.ly/2JLIMEX
https://bit.ly/2Vw8Hmm
https://bit.ly/2WQcSv0
https://bit.ly/2Q6syYi
https://bbc.in/2JmUjv9
-------------- หัวข้ออื่นๆ ของ Punk Talk --------------
Punk Talk#1: Sid Vicious / ของแท้หรือแค่ภาพลักษณ์ /
https://bit.ly/2JnLkKa
1 บันทึก
4
4
1
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย