19 พ.ค. 2019 เวลา 02:09 • ธุรกิจ
Theranos สตาร์ทอัพลวงโลกมีวัฒนธรรมองค์กรแบบไหน
เมื่อปี 2014 Theranos เป็นสตาร์ทอัพการแพทย์ที่ฮอตที่สุดตัวหนึ่ง แต่พอถึงปลายปี 2015 ก็เกิดมรสุมครั้งใหญ่กับบริษัทเพราะความหลอกลวงที่ซ่อนไว้ถูกเปิดเผย
John Carreyrou นักข่าวสืบสวนจาก The Wall Street Journal ได้ทำการขุดคุ้ยความลับของ Theranos บริษัทนี้อ้างว่ามีเครื่องมือที่ชื่อว่า Edison ที่สามารถตรวจเลือดได้โดยใช้เลือดเพียงไม่กี่หยดและรู้ผลวินิจฉัยได้ภายใน 30 นาที
สิ่งนี้ถือว่าพลิกวงการเลยทีเดียวเพราะปกติการตรวจเลือดต้องใช้เลือดเป็นหลอดๆและต้องรอผลเป็นอาทิตย์ ถ้า Theranos ทำได้จริงจะทำให้แพทย์สามารถตรวจเลือดได้บ่อยขึ้น สามารถติดตามปฏิกิริยาที่ร่างกายมีต่อยาได้อย่างใกล้ชิด และนำไปสู่การยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยาวขึ้น
แต่จากการขุดคุ้ย Carreyrou ก็พบว่าสิ่งที่ทาง Theranos โอ้อวดเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เครื่อง Edison ไม่สามารถให้ผลตรวจที่แม่นยำ ผลตรวจเลือดที่ได้ก็มาจากการเอาเลือดของคนไข้ไปเพิ่มปริมาณโดยใส่สารเคมีเข้าไปจากนั้นก็ตรวจด้วยเครื่องตรวจยี่ห้อทั่วๆไป
ก่อนหน้าที่จะถูกเปิดเผยความลับ Theranos ได้ระดมทุนจากนักลงทุนจนถูกตีมูลค่าสูงเกือบๆ 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่เมื่อความเชื่อที่สร้างเอาไว้ถูกทำลายลง มูลค่าของ Theranos จึงกลายเป็นศูนย์และต้องปิดตัว
1
เมื่อถามว่า Elizabeth Holmes ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Theranos ตั้งใจที่จะหลอกเอาเงินนักลงทุนแต่แรกเลยรึเปล่า Carreyrou ตอบว่า
.
“Elizabeth Holmes ไม่ใช่ Bernie Madoff ผมค่อนข้างแน่ใจว่าเธอไม่ได้ตั้งใจออกจากสแตนฟอร์ดเพื่อมาสร้างเรื่องหลอกลวงอันยาวนานนี้หรอกนะ”
ถ้าย้อนดูพฤติกรรมตอนเด็กของ Holmes ข้อสันนิษฐานของ Carreyrou ก็ดูมีน้ำหนักทีเดียว
ตอนที่เธออายุ 7 ขวบ เธอก็มีความคิดที่จะสร้างไทม์แมชชีนด้วยตัวเอง พออายุ 9 ขวบ ญาติก็ถามเธอว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เธอตอบว่า “อยากเป็นมหาเศรษฐีค่ะ” พอญาติๆถามกลับว่าหนูไม่อยากเป็นประธานาธิบดีเหรอ เธอกลับตอบว่า “ไม่ค่ะ ประธานาธิบดีต้องมาแต่งงานกับหนูเพราะหนูมีเงินเป็นพันๆล้าน”
นอกจากนี้เธอยังมีนิสัยชอบเอาชนะตั้งแต่ยังเด็ก เธอชอบเล่นเกมเศรษฐีกับน้องชายและลูกพี่ลูกน้อง เธอจะเล่นจนกว่าเกมจบ
จบในที่นี้คือสะสมบ้าน โรงแรม และเธอต้องเป็นคนชนะ แต่ถ้าเธอแพ้ เธอจะเดินหนีอย่างฉุนเฉียว
ดังนั้นเป็นไปได้ว่าเธอตั้งใจที่จะทำตามสิ่งที่เธอพูดให้สำเร็จจริงๆ เพียงแต่ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เธออวดอ้างกับสิ่งที่เธอทำได้จริงมันห่างไกลซะจนกลายเป็นการฉ้อโกงครั้งใหญ่
1
ต้นตอของการหลอกลวง
ผลของการหลอกลวงทำให้ Theranos ล่มสลายแต่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดการหลอกลวงมันคืออะไรล่ะ Carreyrou เห็นว่า ต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมองค์กร
ช่วงที่ Theranos รุ่งเรือง ในบริษัทมีพนักงานประมาณหลักร้อยคน การคุมคนเป็นร้อยๆไม่ใช่เรื่องง่ายและมันถือเป็นงานหนักของผู้ก่อตั้งเลยทีเดียว สิ่งที่ผู้ก่อตั้งควรทำคือสร้างวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานที่ดีจะได้ส่งผลให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานและเดินไปในทิศทางเดียวกับที่ผู้ก่อตั้งวางเอาไว้
ว่าแต่วัฒนธรรมองค์กรนั้นจะต้องสร้างกันตอนไหน
Joe Gascoigne ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Buffer ให้คำแนะนำว่า
.
ถ้าตอนนี้ในบริษัทมีแค่เราคนเดียวหรือมีสองคนถ้านับผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน มันก็ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาสนใจวัฒนธรรมองค์กร แต่เมื่อไหร่ที่เรามีทีมที่ใหญ่พอ เมื่อนั้นแหละที่ต้องมาเริ่มคิดถึงวัฒนธรรมองค์กร และวัฒนธรรมองค์กรนั้นจะต้องมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดครั้งเดียวแล้วจบไป
กรณีของ Gascoigne พอเขาเริ่มมีทีมประมาณ 8-9 คน เขาก็เริ่มคิดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรแล้ว ส่วน Holmes ล่ะ แม้จะมีพนักงานเป็นร้อยแต่ก็ยังไม่คิดจะสนใจ
ที่จริงจะบอกว่า Theranos ไม่มีวัฒนธรรมองค์กรก็ไม่ถูกซะทีเดียว วัฒนธรรมองค์กรน่ะมี แต่ไปในทางที่เละเทะ
วัฒนธรรมองค์กรของ Theranos เละขนาดไหน
Carreyrou เรียกวัฒนธรรมองค์กรของ Theranos ว่าเป็นพิษร้าย พนักงานที่นี่ไม่มีความสุขในการทำงาน ก่อนหน้าที่จะใช้ชื่อ Theranos นั้น Holmes เคยตั้งชื่อว่า Real-Time Cures แต่พนักงานรุ่นแรกๆคิดว่ามันน่าจะเรียกว่า Real-Time Curses มากกว่า
การทำงานที่ Theranos จะเรียกว่าเป็นโรงงานนรกก็ว่าได้ Holmes เป็นเจ้านายที่มีความต้องการสูง เธอต้องการให้พนักงานของเธอทำงานหนักเหมือนอย่างที่เธอทำ เธอจะให้ผู้ช่วยของเธอทำการบันทึกเวลาเข้าออกของพนักงานในแต่ละวัน พยายามกระตุ้นให้พนักงานเข้างานเร็วและกลับช้าและบางทียังให้มาทำงานในวันหยุด
นอกจากจะทำงานหนักแล้วยังมีการแข่งขันกันสูงด้วย Holmes เคยจ้างทีมวิศวกรมา 2 ทีมและให้พวกเขาแข่งขันกันเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์เลือด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระตุ้นให้มีการแข่งขันในระดับที่เหมาะสมสามารถทำให้พนักงานมีไฟที่จะทำงานอย่างเต็มความสามารถ
.
แต่ถ้าระดับการแข่งขันสูงเกินไปจะทำให้พนักงานเครียดและตีตัวออกห่างจากกัน ซึ่งกรณีหลังเกิดขึ้นกับ Theranos
ผลคือพนักงานฝีมือดีหลายคนขอลาออก คนที่ไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังถูกไล่ออกและออกจากบริษัทไปโดยที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น
เรื่องการจ้างคนล่ะ วัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยพนักงานที่มีฝีมือและเข้ากับองค์กรได้ แต่ Holmes กลับทำให้มันมั่วซั่วซะเอง
เธอให้ Ramesh “Sunny” Balwani ซึ่งเป็นแฟนของเธอเข้ามาทำงาน แม้ว่าเขาจะมีประสบการณ์มาบ้างแต่มันก็ไม่ได้มากพอที่จะคู่ควรเป็น No.2 ของบริษัท ความรู้เขาอาจจะน้อยกว่าเด็กม.ปลาย สายวิทย์คณิตด้วยซ้ำ
Ramesh “Sunny” Balwani
มีครั้งหนึ่งเขาคิดว่าตัว P ในตารางธาตุ คือ Potassium แต่ที่จริงมันต้องเป็นตัว K ส่วนตัว P น่ะ มัน Phosphorus ต่างหาก
เด็กม.ปลายคงไม่พลาดเรื่องแบบนี้แน่ๆ นี่ยังไม่นับเรื่องที่โดนลูกน้องปั่นหัวเหมือนเป็นตัวตลกอีก
เท่านั้นไม่พอเธอยังจ้าง Christian Holmes น้องชายของเธอ ทั้งๆที่เขาไม่ได้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์เลย วันๆเขาเอาแต่อ่านข่าวกีฬาและยังรับเอารุ่นพี่รุ่นน้องจากมหาวิทยาลัยเดียวกันเข้ามาทำงาน
Christian Holmes
จุดที่ถือว่าหนักที่สุดคือ Holmes ใช้การบริหารแบบรวมศูนย์
ใน Silicon Valley หลายๆสตาร์ทอัพให้คุณค่ากับการมอบอำนาจในการตัดสินใจ แต่ที่ Theranos บริหารแบบทหารในกองทัพ พนักงานทุกระดับต้องรายงานโดยตรงต่อ Holmes ทุกการตัดสินใจเกิดขึ้นจาก Holmes แต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ยังมีรูปแบบเหมือนเผด็จการอีกด้วย
หลายครั้งเลยทีเดียวที่พนักงานเห็นว่า Holmes กำลังพาบริษัทเดินลงเหว พวกเขาจึงแจ้งต่อบอร์ดบริหาร ซึ่งตอนแรกบอร์ดก็ตัดสินใจที่จะหาคนที่มีประสบการณ์มากกว่ามาบริหารแทน Holmes แต่พอ Holmes เข้าโน้มน้าว บอร์ดกลับเปลี่ยนใจให้ Holmes บริหารตามเดิม ส่วนพนักงานที่แจ้งเรื่องกลับถูกฟ้องร้อง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีการถ่วงดุลอำนาจที่จะคอยไตร่ตรองการตัดสินใจของ Holmes
การบริหารแบบนี้ก็มีข้อดีเช่นกัน มันสามารถทำให้เกิดการตัดสินได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร
แต่จุดอ่อนก็คือ มันเปราะบางเกินไป โชคชะตาของบริษัทที่เป็นแหล่งรวมหลายร้อยชีวิตกลับขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว มันเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากเกินไปและยังเป็นช่องโหว่ให้เกิดการฉ้อโกงได้
ดังนั้นผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Theranos ก็เป็นเพราะ Holmes เพียงคนเดียว
.
เธอรู้อยู่แล้วว่าเธอไม่มีเทคโนโลยีที่จะทำให้ผลลัพธ์เป็นจริง เธอใช้วิธีที่ผิดศีลธรรมปิดบังความจริงที่อยากเก็บซ่อน ทุกการหลอกลวงเกิดขึ้นด้วยการตัดสินใจของเธอเอง
จุดจบของ Theranos คงไม่เป็นแบบนี้ ถ้าในบริษัทมีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
ถ้า Holmes เพียงแต่ให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมองค์กร เราอาจจะเห็นความสำเร็จของ Theranos ก็เป็นได้
Carreyrou ได้เคยกล่าวไว้ในการพูดคุยครั้งหนึ่งว่า วัฒนธรรมของ Silicon Valley ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคนแบบ Holmes
ที่นั่นมีคำกล่าวอย่างเช่น
Move Fast and Break Things, Fail fast, Fake it until you get it หรือไม่ก็ความเชื่อที่ว่าผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพมีแต่คนอัจฉริยะที่ไม่มีทางผิดพลาด วัฒนธรรมพวกนี้กำลังแพร่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ
“มันกำลังแพร่เข้าไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้าไปสู่รถยนต์ไร้คนขับ เข้าไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์” Carreyrou กล่าว
“เมื่อคุณจะเข้าไปหาโอกาสในอุตสาหกรรมที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิต คุณไม่สามารถทำแค่การพูดซ้ำๆและค่อยแก้จุดบกพร่องไปเรื่อยๆได้หรอกนะ คุณต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณทำงานได้ดีซะก่อน”
ถ้าเหล่าผู้ก่อตั้งยังคงไม่ใส่ใจกับวัฒนธรรมองค์กรและปล่อยให้ตัวเองถูกวัฒนธรรมของ Silicon Valley ครอบงำ ในอนาคตก็คงจะเกิดกรณีแบบ Theranos อีกแน่นอน
โฆษณา