19 พ.ค. 2019 เวลา 04:15 • บันเทิง
<Under Cover: เรื่องราวหลังปกที่ต้องบอกต่อ>
Joy Division - Unknown Pleasures (1979)
'จากค่ายนาซีถึงมิคกี้เม้าส์'
เนื่องด้วยเมื่อวานเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ Ian Curtis แกนนำวงโพสพังค์ผู้เป็นตำนาน วันนี้เลยจะขอรีรันคอนเท้นท์เก่าที่เคยเขียนไว้ในเพจมาให้อ่านกันครับ
หน้าปกอัลบั้มอันเป็นสัญลักษณ์ของยุค Post-Punk นี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นที่จดจำเกินเพลงในอัลบั้มไปไกลโข (เฮ้ย! Love Will Tear Us Apart ไม่ได้อยู่ในอัลบั้มนี้นะเฟ้ย) อย่างที่รู้กันว่าภาพหน้าปกนี้เป็นการนำภาพไดอะแกรมของการค้นพบคลื่นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าของดาวนิวตรอน โดยภาพต้นฉบับมาจากหนังสือ The Cambridge Encyclopaedia of Astronomy ที่ตีพิมพ์ในปี 1977 ซึ่งมือกลองของวง Stephen Morris เป็นผู้ยื่นหนังสือเล่มนี้ไปให้ Peter Saville เพื่อเอาไปต่อยอดสำหรับการดีไซน์ปกอัลบั้มนี้ต่อไป ซึ่งทั้งหมดที่เขาทำคือกลับสีขาวเป็นดำ แล้วก็จัดให้มันมีพื้นที่ว่างรอบๆ แค่นั้นแหละ!
ภาพจากหนังสือ The Cambridge Encyclopedia of Astronomy
แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุผลที่ภาพนี้ถูกนำมาใช้เป็นหน้าปกอัลบั้มก็เพราะมันเป็นความรู้สึกของการค้นพบอะไรบางอย่างเป็นครั้งแรก และการเปลี่ยนให้พื้นหลังเป็นสีดำก็ช่วยขับความรู้สึกลึกลับออกมาได้ดีทีเดียว ยังไม่ต้องพูดถึงภาพไดอะแกรมที่เราอาจจะมองว่าเป็นไดอะแกรมของเสียงก็ได้-เรียกได้ว่าเป็นหน้าปกอัลบั้มที่ยิงโดนทุกเป้าหมาย ทั้งในเรื่อง first impression, การเป็นที่จดจำ, การเชื่อมโยงกับเพลงในอัลบั้ม รวมถึง..ความสวยงาม
ภาพการนำลายมาใช้กับมิคกี้เม้าส์
แม้ว่าวง Joy Division จะสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเสียชีวิตของแกนนำวง Ian Curtis แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อยๆทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆก็คงจะเป็นหน้าปกอัลบั้มนี้แหละ ที่เริ่มลามจากหน้าปกอัลบั้มไปเป็นเสื้อยืด ไปเป็นรอยสัก ไปเป็นลายรองเท้า ไปเป็นทรงผม!? หรือที่สุดคงเป็นการที่ดิสนีย์นำไปเป็นลายรูปมิคกี้เม้าส์บนเสื้อยืด!! (ติดตามได้จาก https://goo.gl/e4zTGu) เอ่อ...คุณมิคกี้เม้าส์ครับ นี่เป็นวงที่ตั้งชื่อตามหน่วยหนึ่งในนาซีที่เอาไว้ขังผู้หญิงไว้ปรนเปรอความสุขทางเพศของเหล่าทหารนะครับ
#UnderCover #UnknownPleasures
#AddNoise
โฆษณา