19 พ.ค. 2019 เวลา 13:57 • การศึกษา
"มรดก ใครได้ ใครไม่ได้ ???"
เวลาดูละคร สังเกตมั้ยว่า เวลาเจ้าสัวเสียชีวิต ทนายความประจำตระกูลจะเรียกทายาทมารวมกันเพื่อเปิดพินัยกรรม ใครได้มรดกเยอะก็ดีใจกันไป ใครได้น้อยก็ไม่พอใจ พาลไปกล่าวหาว่ามีการปลอมพินัยกรรม และซักพักก็เริ่มเปิดศึกภายในตระกูล
ในชีวิตจริง หลายคนไม่ทันได้เตรียมความพร้อมในเรื่องทรัพย์สินหลังตัวเองเสียชีวิต หรือบางคนคิดว่าตัวเองไม่มีสมบัติอะไรมากมายไม่รู้ว่าจะทำพินัยกรรมไปทำไม
ซึ่งตามกฎหมาย ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ใครแล้ว กฎหมายได้กำหนดลำดับทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดก ตามนี้
1. ผู้สืบสันดาน (ลูกซึ่งเกิดจากผู้ตาย)
2. บิดา มารดา (พ่อ แม่ของผู้ตาย)
3.พี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน (พี่น้อง พ่อแม่เดียวกันของผู้ตาย)
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (พี่น้อง คนละพ่อหรือคนละแม่ของผู้ตาย)
5. ปู่ ย่า ตา ยาย ของผู้ตาย
6. ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตาย
สามีหรือภริยาของผู้ตาย ก็เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกเช่นกัน
ซึ่งการรับมรดก จะมีเงื่อนไขตามนี้
A. เรียงตามลำดับ 1 - 6 โดยมีหลักอยู่ว่า หากทายาทลำดับสูงกว่ายังมีชีวิตอยู่ ทายาทลำดับรองลงมาจะไม่มีสิทธิ
ตัวอย่าง ทายาทลำดับ 1 (ลูกผู้ตาย) ยังอยู่ ทายาทลำดับ 3 (พี่น้องของผู้ตาย) ซึ่งเป็นทายาทลำดับรองลงมา จะไม่มีสิทธิรับมรดก
B. ทายาทลำดับเดียวกัน จะได้ส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กัน เช่น ผู้ตายมีลูกสองคน ลูกแต่ละคนได้มรดกเท่ากัน
C. พ่อแม่ของผู้ตายจะได้รับมรดกเสมอ โดยแบ่งตามส่วนกับทายาทอื่นที่มีสิทธิรับมรดก
D. สามี หรือภรรยาของผู้ตายจะได้รับมรดกเสมอ โดยแบ่งตามส่วนกับทายาทอื่นที่มีสิทธิรับมรดก
แต่ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ หลักการนี้จะไม่นำมาใช้ เพราะต้องเป็นไปตามความต้องการของผู้ตาย
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา