23 พ.ค. 2019 เวลา 10:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่มีใช้กันอยู่ทั่วโลกวันนี้ พอจะแบ่งให้เข้าใจง่ายๆออกเป็น 3 ระบบ คือ Wired, Wireless, Satellite
Wired Internet หมายถึงอินเตอร์เน็ตแบบมีสาย ใช้สายเคเบิล เช่น ไฟเบอร์ออฟติก ทองแดง ในประเทศไทยเราเรียกว่าอินเตอร์เน็ตบ้าน สายไฟเบอร์ออฟติกถือว่าเป็นสายที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เดินทางระยะไกลผ่านสายใยแก้วนำแสง ยังมีสัญญาณเสถียรและแรงไม่ตกมากนัก
Wireless Internet หมายถึงอินเตอร์เน็ตไร้สาย 3G, 4G, 5G สัญญาณอินเตอร์เน็ตมีการส่งผ่านตามสถานีภาคพื้นดินที่กระจายอยู่ในพื้นที่ให้บริการ
Satellite Internet หมายถึงอินเตอร์เน็ตดาวเทียม โดยมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตส่งมาจากอวกาศผ่านดาวเทียมลงมาบนพื้นโลก ต้องใช้ตัวรับสัญญาณของผู้บอกรับเป็นสมาชิกแต่ละรายโดยตรง เพื่อนำสัญญาณไปใช้ในพื้นที่ของตน
สำหรับผู้ใช้บริการ คงไม่มีใครสนใจว่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตจะมาจากระบบไหน แต่เงื่อนไขสำคัญมีหลักใหญ่อยู่ 3 เรื่อง คือ Price, Speed, Latency
ในบางพื้นที่มีอินเตอร์เน็ตให้บริการเพียงบางระบบ อาจไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก แต่สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีหลายระบบให้เลือกจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบเรื่อง ราคา ความแรงของสัญญาณ และความหน่วงของการรับส่งสัญญาณ
มีหลักการง่ายๆ คือ สัญญาณแรงกว่าราคาแพงกว่า
1
สำหรับเรื่อง Latency ซึ่งหมายถึงความหน่วงหรือการตอบสนองไปมาของสัญญาณมีความสำคัญสำหรับการสื่อสารหลายทาง เช่น การสื่อสารระหว่างกันผ่านทางอินเตอร์เน็ต การเล่นเกมออนไลน์ การตอบสนองช้าทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง อุปกรณ์หรือแอปทำงานได้ไม่ราบรื่น
ในช่วงนี้ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ต 5G โดยจะมีความเร็วกว่า 4G ไม่ต่ำกว่า 10 เท่า สัญญาณอินเตอร์เน็ตทั้งเร็วและแรงพร้อมรองรับอุปกรณ์หลายๆอย่างได้พร้อมๆกัน
มีนักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า 5G จะทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตแบบมีสายหมดความหมาย
หากอินเตอร์เน็ตแบบไร้สายเร็วกว่าแบบมีสาย และราคาไม่ต่างกัน ก็คงทำให้คนเลิกใช้อินเตอร์เน็ตบ้านกันจริงๆ แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่รู้ว่าผลสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร
อินเตอร์เน็ตบ้านอาจมีสภาพเหมือนโทรศัพท์บ้านที่วันนี้เหลือผู้ใช้น้อยเต็มที
5G เป็นของใหม่สำหรับคนทั่วโลก อเมริกาและจีนกำลังแข่งกันเป็นเจ้าโลก หัวเว่ยซึ่งมีเทคโนโลยี 5G ที่ก้าวหน้าที่สุดและต้นทุนการผลิตต่ำกว่าใครๆมีท่าทีจะเป็นผู้นำตลาด แต่ก็ถูกอเมริกาและพันธมิตรอีกหลายแห่งสกัดกั้นเอาไว้
ในขณะที่ใครๆกำลังมองไปที่อินเตอร์เน็ต 5G แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มีบริษัทใหญ่หลายแห่งกำลังมุ่งพัฒนาที่ Satellite Internet
1
เจฟฟ์ เบโซส เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกจากอเมซอนกำลังทำงานกับ Project Kuiper มีแผนส่งดาวเทียม 3,236 ดวง ขึ้นไปบนวงโคจรโลก เพื่อเตรียมพร้อมเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตสำหรับทุกพื้นที่บนโลก อเมซอนมีชื่อในเรื่องจอมตัดราคาอยู่แล้ว หากเริ่มให้บริการจริงคงได้เห็นอะไรดีๆอีกมาก ยิ่งมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจออนไลน์ของอเมซอน
Iridium ที่เคยหายไปนาน วันนี้กลับมาใหม่แล้ว
OneWeb เป็นอีกรายที่อยู่ในตลาดอินเตอร์เน็ตดาวเทียม มีนายทุนใหญ่ญี่ปุ่นจาก SoftBank คอยหนุนหลังทางด้านการเงิน
แต่บริษัทที่มีความก้าวหน้าและเป็นข่าวดังที่สุด คือ Starlink ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ SpaceX มีอีลอน มัสก์ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็น CEO ในปัจจุบัน
เมื่อปลายเดือนเมษายน 2019 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่จากสเปซเอ็กซ์เรื่องการได้รับไฟเขียวจาก FCC หรือ คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ปรับแผนอินเตอร์เน็ตดาวเทียมของบริษัทซึ่งมีแผนจะเริ่มทำจริงในช่วงเดือนพฤษภาคม 2019
ในแผนการเดิมแจ้งว่าจะส่งฝูงดาวเทียมขึ้นวงโคจรโลกรวม 4,425 ดวง แต่แผนการที่ได้รับการอนุมัติใหม่ลดลงมาเล็กน้อยเป็น 4,409 ดวง และมีการปรับตำแหน่งที่ตั้งดาวเทียมใหม่จากเดิมที่จะส่งดาวเทียม 1,584 ดวง ไว้อยู่ในระดับความสูงจากพื้นโลก 1,150 กิโลเมตร เปลี่ยนเป็นไกลแค่ 550 กิโลเมตร
ดาวเทียมที่อยู่ใกล้โลกมากขึ้น จะช่วยทำให้ Latency ลดต่ำลง ความหน่วงหรือการส่งสัญญาณไปมาจะทำได้รวดเร็วขึ้น
ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมในอเมริกาอาจครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้กว้าง แต่มีปัญหาเรื่อง Latency ในปี 2013 เคยวัดได้ 638 Miliseconds หมายความว่าช้ากว่า 20 เท่า เมื่อเทียบกับระบบอินเตอร์เน็ตแบบมีสาย
อีลอน มัสก์ กล่าวอ้างว่า Starlink มีความหน่วงของสัญญาณต่ำแค่ 15 Miliseconds เทียบแล้วดีกว่าระบบ 4G ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ต่ำพอที่จะเอาไว้เล่นวิดีโอเกมออนไลน์ข้ามโลกได้
การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้ Starlink ทุกคนจะผ่านทางสถานีภาคพื้นดินที่มีขนาดเท่ากล่องพิซซ่า จะแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไปให้ผู้ใช้แต่ละรายโดยตรง
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 สเปซเอ็กซ์ได้ขออนุญาต FCC ติดตั้งสถานีภาคพื้นดินบนโลก 1 ล้านแห่ง เอาไว้สื่อสารกับฝูงดาวเทียม
1
ก่อนหน้านี้ในปี 2018 สเปซเอ็กซ์ได้ทดลองส่งดาวเทียมอินเตอร์เน็ตขึ้นวงโคจรโลก 2 ดวง และได้ทำการทดลองระบบสัญญาณกับสถานีภาคพื้นดินที่มีอยู่ 6 แห่งแล้ว
ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าประสิทธิภาพของสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากสตาร์ลิงค์จะเป็นอย่างไร หากมีไว้เพื่อรองรับพื้นที่ห่างไกลที่อินเตอร์เน็ตระบบอื่นยังเข้าไม่ถึง คงไม่สามารถสร้างรายได้มากนัก
ความสามารถในการครอบคลุมพื้นที่บริการของอินเตอร์เน็ตดาวเทียมคงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่เรื่องของ ความเร็ว ความหน่วง และราคาค่าบริการ จะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาเลือกใช้บริการอินเตอร์เน็ตของสตาร์ลิงค์
ถ้าประสิทธิภาพอยู่ในระดับเดียวกับ 5G และราคาต่ำกว่าจริง มันจะกลายเป็นการดิสรัปครั้งใหญ่ในระบบการสื่อสารโลก
ในปัจจุบัน SpaceX มีรายได้จากการรับจ้างส่งดาวเทียมขึ้นบนวงโคจรโลกแต่ละปีประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าโครงการ Starlink ประสบความสำเร็จจริง จะสามารถทำรายได้ถึงปีละ 25,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2025
เป้าหมายใหญ่ของสเปซเอ็กซ์ คือ การพามนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคารเพื่อเป็นแผนสำรองในการรักษาเผ่าพันธุ์ของมนุษย์
โครงการสตาร์ลิงค์อาจช่วยหาเงินให้ อีลอน มัสก์ พาคนไปอยู่บนดาวอังคารได้จริงๆ.
โฆษณา