20 พ.ค. 2019 เวลา 05:36 • ธุรกิจ
กรวัฒน์ เจียรวนนท์"ซีอีโอ Eko
สตาร์ตอัพดาวรุ่ง
“ไม่ได้มีดีแค่นามสกุล"
จะด้วยกฎของตระกูลที่ไม่ให้ลูกหลานเข้ามาทำงานในเครือในกิจการที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว หรือเพราะความสนใจเรื่องเทคโนโลยีจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัว ท่ามกลางกระแสสตาร์ตอัพที่กำลังมาแรงที่อเมริกาในขณะนั้นก็แล้วแต่
เมื่อเจอสิ่งที่ใช่ "กรวัฒน์ เจียวนนท์"ตัดสินใจขออนุญาตครอบครัว ดร็อปเรียนปีหนึ่งที่ Columbia University เพื่อมาสร้างเทคสตาร์ตอัพของตนเอง
​4 ปีก่อนถึงวันนี้ ถ้ายังเรียนมหาวิทยาลัยคงจบไปแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ "เขา"ได้รับ มากกว่าใบปริญญามากนัก แม้จะออกตัวว่าเส้นทางธุรกิจของ Eko เพิ่งเริ่มต้น (ทั้งที่เพิ่งระดมทุนในระดับซีรี่ส์เอ สำเร็จได้ทุนก้อนใหม่มาเพิ่ม อีก 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก"โกบี พาร์ทเนอร์" กองทุนที่ลงทุนใน
สตาร์ตอัพเกิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จกว่า 100 บริษัทในอาเซียน
เขายังได้รับการจัดอันดับจาก"ฟอร์บส์ เอเชีย"ให้เป็น 1 ใน 30 หนุ่มสาวรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน 30 ปี ที่สร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จ (30 Under 30 Forbes Asia)
​"คุณพ่อมักจะพูดเสมอๆ ว่า ให้ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข ส่วนหนึ่งที่มาทำตรงนี้ นอกจากได้อิทธิพลจากคุณพ่อที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และผมเองก็สนใจ เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เอื้อให้คนอายุน้อยทำได้ เป็นสิ่งที่มีโอกาสเติบโตเร็ว เริ่มได้อย่างถูกๆ ไม่ต้องการเงินมากนัก”
​ดูจากหน้าตาคงเดาไม่ยากว่า "คุณพ่อ"ที่กรวัฒน์เอ่ยถึงเป็นใคร แต่ถ้าเดากันไม่ออก เฉลยเลยก็ได้ว่าหมายถึง บิ๊กกลุ่มทรู "ศุภชัย เจียรวนนท์"
​นับเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นตัวจริง "ประชาชาติธุรกิจ"มีโอกาสพูดคุยกับเขาดังนี้
​-จุดเริ่มต้นของ Eko​
​สตาร์ตอัพเป็นเทรนด์ที่มาแรงที่อเมริกา และผมเองก็อยากทำอะไรขึ้นมาเอง เพราะในครอบครัวเรา มีนโยบายว่า ลูกหลานห้ามมาทำในเครือ ต้องไปทำของตัวเอง เป็นสิ่งที่รู้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
​ตอนเรียนมัธยมปลายที่อเมริกา (ปี2555) ใกล้ๆ กับที่โรงเรียน มีโครงการ Accelerate Incubator ผมกับเพื่อนอีก 2-3 คน ชวนกันไปสมัคร โครงการนี้จะสนับสนุนเงินลงทุน 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ สำหรับทีมที่ได้รับคัดเลือก และอบรมเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพให้ด้วย
เราเป็น 1 ใน 7 ทีม จาก 200 ทีมทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือก โดยโปรเจ็คที่ทำคือ กรุ๊ปแมสเสจจิ้ง ที่ทำเรื่องนี้เพราะวัยรุ่นในโรงเรียนทุกคนตอนนั้น ใช้แอปแมสเสจจิ้ง แต่พอเริ่มไปแล้วก็รู้ว่า จริง ๆ ยากมาก
โดยส่วนตัวผมศึกษาด้วยตนเอง ไม่ได้เรียนโดยตรง แต่มีความชอบเรื่องเทคโนโลยี
​การได้เข้าร่วมโครงการนั้น ที่สำคัญจริง ๆ คือได้เจอกับผู้ร่วมก่อตั้ง (เดวิด ชาง) ที่นั่น เจอกันที่นั่นก็ชวนกันมาทำบริษัทด้วยกัน ตอนนั้นเขาเป็นวิศวกรด้านพลังงาน อายุ 24-25 ส่วนผมอายุ 17 แล้วก็มีเพื่อนอีก 2 คนที่อยู่ที่นั่นมาร่วมด้วย ผมเลยขอที่บ้านหยุดเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัย มาทำตรงนี้
จากนั้นพวกเรา 3-4 คน ก็ย้ายมาเมืองไทย เพราะการตั้งบริษัทง่ายกว่าอยู่ที่อเมริกา จริง ๆ ก็มีผมคนเดียวที่เป็นคนไทยที่ได้กลับมาบ้าน (หัวเราะ) มาสร้าง Eko ที่ไทย (2013)
​-เริ่มจากเงิน 20,000 เหรียญสหรัฐ
​ครึ่งปีหลัง 2013 เราเริ่มมีโปรดักส์ของเราเอง มีลูกค้าเป็นบริษัทที่ไม่ใหญ่นัก 2-3 แห่ง ก็ได้มีโอกาสเจอกับไคลี่ อึ้ง จาก 500 Startup เขาก็สนใจมาลงทุนด้วย ได้เงินจากกองทุน 500 สตาร์ตอัพ และSiemer Ventures อีก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของสตาร์ตอัพในไทยด้วย
 
​-ทำไมคุณพ่อไม่ลงทุนด้วย
​คุณพ่อบอกว่า ที่เราไม่ลงทุนด้วย ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อในไอเดีย แต่ถ้าเอาเงินมาให้ ก็จะไม่ได้เรียนรู้ เพราะทุกอย่างง่ายเกินไป ผมก็เข้าใจเลย แต่วันหลังถ้าเราต้องการป้องกันสัดส่วนหุ้นของเราไว้ ก็อาจจะลงทุนด้วยบ้าง คือคุณพ่อต้องการให้ผมพิสูจน์ตัวเองก่อน นักลงทุนแรกๆ ที่ใหญ่ ๆ จริงๆ จะต้องมาจากกองทุนก่อน
ปีที่แล้วก็ระดมทุนในระดับซีรี่ส์เอได้จากโกบี พาร์ทเนอร์ อีก 5.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทีมเล็ก ๆ 7-8 คน ตอนนี้มี 60 คน การได้เพิ่มทุนในระดับซีรี่ส์เอทำให้มีเงินลงทุนโปรดักส์ได้เยอะขึ้นเยอะ ก่อนหน้านั้น โปรดักส์เรายังเทียบกับของบริษัทใหญ่ได้ยาก ต้องพัฒนาอีกเยอะ
-ถ้าเรียนอยู่ก็จบปริญญาตรีแล้ว
​ครับ แต่ประสบการณ์จากการทำบริษัทของตัวเองได้อะไรเยอะมาก ได้เรียนรู้ทุกด้าน ทั้งกฎหมาย ทั้งภาษี การบริหารจัดการอะไรต่างๆ เรื่องการระดมทุน การขายของ โปรดักส์ดีไซน์
​เรียกว่าทำทุกอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือทำให้ตระหนักว่า ชีวิตจริงไม่เหมือนในหนังที่เราดู
​ในหนังโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือในหนังของสตีฟจ็อบ ทุกอย่างสร้างได้อย่างยิ่งใหญ่ แต่จริง ๆ มันเป็นอะไรที่ยากมาก และมีหลายอย่างที่น่ากลัวมาก เช่น เดือนหน้าไม่รู้ว่าจะจ่ายพนักงานยังไงก็น่ากลัวแล้ว มีความเสี่ยง และยากมาก
​โชคดีว่า ผมเป็นคนเครียดแป๊ปเดียว ถ้าทำอะไรไม่ได้ตอนนี้ก็จะคิดว่าไม่เป็นไร ไม่เครียดนาน
​-เครียดเพราะเป็นซีอีโอ
​ถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก แต่ผมก็คิดว่า โชคดีที่มีคุณพ่อ มีคุณแม่ คุณปู่ที่มีประสบการณ์ที่รู้และช่วยแนะนำ
​คุณพ่อสอน และให้คำแนะนำตลอด และดีมากด้วย จริง ๆ ที่สำคัญที่สุดคือช่วงที่รู้สึกว่า ล้มเหลว ตอนนั้นคิดว่าทำมาตั้ง 2 ปียังไม่มีอะไรขึ้น แปลว่าเราทำไม่ได้ ก็คิดจะเปลี่ยนธุรกิจคิดว่าจะยอมแพ้ แต่คุณพ่อบอกว่า มันไม่เหมือนในหนัง คุณต้องห้ามยอมแพ้ บางคนต้องใช้เวลา 20 ปี อย่ายอมแพ้ นี่เพิ่งแค่ 2 ปีเอง
พอผ่านได้ ก็ได้เลย จากนั้นก็ไม่เคยสงสัยในไดเร็คชั่น เดินหน้าอย่างเดียว เหมือนกับมีคนที่เคยผ่านมาก่อน เขาจะบอกได้ว่า สิ่งที่เราเจอเป็นธรรมชาติ ไม่ได้แย่ และแย่กว่านี้ได้อีกเยอะด้วย
​-ติด 1 ใน 30 ดาวรุ่งแห่งเอเชีย
​ก็ไม่รู้ว่าเขาดูจากอะไรบ้าง แต่ก็ดีใจ แต่เรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ นี่แค่เพิ่งเริ่ม
​-ในฐานะคนรุ่นใหม่และนามสกุลนี้ กดดันไหม
​ก็กดดันระดับหนึ่ง แต่ผมก็โอเค
​-ได้คำแนะนำอะไรจากคุณปู่บ้าง
​คุณปู่คุยกันตลอดเกี่ยวกับเรื่องงาน คุณปู่ก็จะแนะนำด้วย เพราะท่านเข้าใจ คุณปู่จะเรียนตลอด จะถามจะพยายามเข้าใจทุกอย่าง เรื่องอีคอมเมิร์ซ เรื่องอีไฟแนนซ์ ท่านสนใจฟังจากรุ่นเด็ก ๆ มากๆ ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นเป็นยังไง ก็เป็นสิ่งที่ซึมซับว่า เราต้องเป็นคนที่พร้อมที่จะฟัง และเรียนรู้ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ได้เห็นจากคุณปู่ คุณพ่อ คุณแม่
​ในมุมผม คิดว่า จริงๆ เครือซีพีก็เคยเป็นสตาร์ตอัพมาก่อน โดยพื้นฐานแล้ว ธุรกิจแบบเดิม หรือสตาร์ตอัพ เจอปัญหาไม่ได้ต่างกัน
​ถ้าดูตอนซีพีก่อตั้ง ปี 1921 เยาวราชก็ยังไม่มีร้านใหญ่ ทุกคนกำลังเริ่มเหมือนกัน
ทุกคนเป็นสตาร์ตอัพ เพียงแต่เป็นขั้นแรกของ
สตาร์ตอัพในธุรกิจแบบเดิม
ต่างจากปัจจุบันที่สตาร์ตอัพต้องเป็นธุรกิจที่ต้องโตได้เป็นสิบๆ เท่า และทำลายตลาดเก่า
​ตอนเครือซีพีก่อตั้งก็ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และตอนนี้ก็เป็นอีกยุค
​ -เป้ารายได้ของบริษัทปีนี้
​จริงๆ ไม่อยากพูดเท่าไร ที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ คืออยากได้ 7 ล้านเหรียญ ก็หวังว่า แต่ต้องบอกว่าปีนี้เราเผชิญกับหลายเรื่อง เป้าที่ตั้งไว้ไม่ง่าย บริษัทใหญ่ ๆ อย่างเทนเซนด์ที่มีวีแชทก็เพิ่งเปิดบริการใหม่ ไมโครซอฟต์ก็ด้วย เราต้องสู้กับบริษัทใหญ่พวกนี้จึงไม่ง่าย สภาพตลาดเปลี่ยนไปเยอะ ถ้าต้องการได้มาร์เก็ตแชร์ก็อาจต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคา
 
​-ตลาดหลักเป็นไทยหรือต่างประเทศ
​เมืองไทยเป็นตลาดที่สำคัญ แต่นักลงทุนจะไม่ลงทุนกับเราในรอบหน้า ถ้าเราไม่ขยายไปต่างประเทศ ผมก็พยายามไปหาตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ เราค่อนข้างแข็งแรงที่มาเลเซีย เพราะได้บริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่มากที่นั่นใช้บริการ และกำลังคุยกับพาร์ทเนอร์อีกหลายราย ที่สิงคโปร์ และไต้หวันก็กำลังไป
ส่วนในจีนทำอยู่แล้ว แต่ในตลาดเอสเอ็มอีที่จีนยากขึ้นเยอะ เพราะอาลีบาบา และเทนต์เซน ลงมาหนักมาก เราต้องขยับไปในบริษัทที่ใหญ่ขึ้นผ่านพาร์ทเนอร์
​ส่วนตลาดในประเทศไทยเราจะโฟกัสบริษัทใหญ่ๆ ต้องบอกว่าการทำตลาดในต่างประเทศอาจง่ายกว่าเมืองไทย เพราะในไทย คนใช้งานมีความหลากหลายมาก
 
​ในไทยได้ลูกค้าบริษัทใหญ่เยอะ
​ที่เป็นท็อป 20 ก็มีแบงก์กรุงเทพ, โตโยต้า, ทรู และอีกหลายแห่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งเซ็นต์สัญญาไป แต่ยังไม่อยากเปิดเผยชื่อ เราพยายามเข้าไปในบริษัทใหญ่ ๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย
​-จุดเด่นของ Eko
​บริการของเรายืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า และอินทริเกรดกับแอปพลิเคชั่นของเขาได้ นอกเหนือไปจากเรื่องความปลอดภัยที่เราให้ความสำคัญมาก ไพรเวซี่ของข้อมูลของบริษัท เดต้าคอนโทรลในบริษัทที่สามารถจัดการเน็ตเวิร์ก จัดการข้อมูลของตนเองได้ เรามีฟังก์ชั่นบางอย่างที่เจาะจงสำหรับแต่ละองค์กร เช่น เรื่องบรอดแคสต์ การส่งแมสเสจไปยังสาขาต่างๆ เป็นอีกฟังก์ชั่นที่เรามี และต่างไปจากคนอื่น
​ในแง่ราคา ก็เชื่อว่าเราดีกว่าเจ้าใหญ่ ๆ บางรายในตลาด
​-อยากให้ Eko เป็นยังไงในอนาคต
​ เราอยากโพสิชั่น Eko เป็นโมบายเอ็นเตอร์ไพรซ์แพลตฟอร์ม ที่มีทาร์เก็ตหลายเซ็กเม้นท์ และหลายแอเรียของบริษัท ตอนนี้เราอาจเน้นตลาดเอเชียแปซิฟิก แต่หวังว่าในวันข้างหน้าโปรดักส์ของเราจะไปสู้กับต่างประเทศไกลๆ ที่ยุโรป ที่อเมริกาได้
​และปีหน้าตั้งใจที่จะระดมทุนซีรี่ส์บี
 
​เพิ่มทุนแต่ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะยังถือเป็นส่วนใหญ่
​ครับ เรายังถือหุ้นใหญ่ พนักงานทุกคนของเราก็มีหุ้นด้วย เพราะเราให้หุ้นพนักงาน เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่าเป็นบริษัทของเขา เป็นโปรดักส์ของเขา ถ้าบริษัทมีมูลค่ามากขึ้น เขาก็จะยิ่งดี เป็นกลยุทธ์ในการดึงทาเลนจ์ไว้กับบริษัท
​บริษัทเรายังไม่จำกัดวันหยุด ไม่มีเวลาทำงาน ไม่ต้องใส่สูท มีห้องนวดฟรี มีอาหารฟรีในวันศุกร์ มีเบียร์ฟรี และมีโปรแกรมท่องเที่ยวให้พนักงาน พนักงานคนหนึ่งจะมีคะแนนเดินทาง 70 คะแนน เช่น ถ้าไปภูเก็ตเท่ากับใช้ 7 คะแนน
​ขยายทีมเพิ่มไหม
​ปีหน้าต้องเพิ่มอีกเยอะ น่าจะสัก 100-300 คน และเราต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีกับโปรดักส์ของเรามากขึ้น
​ ได้ยินว่าดึงคนเก่งๆ จากต่างประเทศมาไม่น้อย
​หลายตำแหน่งครับ อย่างซีโอโอ ก็เคยเป็น Head of Mobile ของกูเกิล เอเชีย อีกคนเคยเป็นหัวหน้าออนไลน์โปรดักส์ ของอเมริกันเอ็กซเพรส หรือซีทีโอก็เคยทำงานที่นาซ่ามาก่อน ไดเร็คเตอร์เอ็นจิเนียของเราก็เคยเป็นลีด เอ็นจิเนีย ของยาฮู ต้องดึงคนเก่งมาอยู่ด้วย เพราะเราต้องสู้กับคนเก่ง
​ทีมงาน 30-40% มาจากตปท. เพราะเราต้องแข่งกับโกลบอลเพย์เยอร์ ก็ต้องหาคนเก่งจากทั่วโลกมา แม้แต่ไมโครซอฟต์เองก็ยังต้องดึงคนจากประเทศต่างๆ เราต้องคิดเหมือนกับเขา โชคดีที่คนอยากมาอยู่เมืองไทย ​​บริษัทเรายังได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ ทำให้ดึงทาเล้นท์มาได้เยอะ และง่าย เพราะเราผลิตซอฟต์แวร์ที่ไทย และส่งออกต่างประเทศ
 
​-อายุเฉลี่ยของพนักงานในบริษัท
​ประมาณ 25-27 ปี มากสุด 44-45 ปี
​ผมเป็นพนักงานที่อายุน้อยที่สุดในบริษัท (21ปี) การทำงานกับคนอายุมากกว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร เราต้องเข้าใจว่าการทำงานจะต้องรีไลน์ออน เอ็กเปอร์ทิส และทรัสต์ เชื่อในเขา ให้เขาเป็นลีดเดอร์ในทีมของเขา ถ้าเราโชว์เขาว่าเราฟังเขา และเชื่อเขาว่าเขารู้เรื่องนี้มากกว่าเรา เขาก็โอเค
-อะไรคือความยากของสตาร์ตอัพไทย
​ไม่ใช่แค่สตาร์ตอัพไทย แต่ทั่วไปเลย ยากมาก ถ้าโฟกัสมาที่ไทย โดยส่วนใหญ่ สิ่งที่เราต้องระวัง คือหลายธุรกิจเป็นเกมของเงิน คือว่า คุณซับซิไดซ์ได้เยอะแค่ไหนเพื่อให้มันถูก อันนี้อันตราย ผมรู้สึกว่าหลายสตาร์ตอัพเข้าไปสู่วิธีนี้
และถ้าจะทำสตาร์ตอัพ ควรคิดอะไรที่ไปในระดับภูมิภาคได้ ไม่ใช่มองแค่สำหรับคนไทย สตาร์ตอัพไทย ถ้าคิดริจินัล คิดโกลบอลได้ก็จะได้เงินทุนจากต่างประเทศด้วย ถ้าคิดแค่ไทยก็ได้แค่ไทย ซึ่งเทียบกับต่างประเทศแล้วเราเล็กมาก
​-จะทำสตาร์ตอัพต้องเตรียมอะไร
​สิ่งสำคัญที่สุดคือ 1. คุณต้องเป็นเหมือนแมงสาป คือ ตายยาก ตายยิ่งยากมีโอกาสำเร็จยิ่งสูง 2. คือทีม ทีมคุณต้องตายยากด้วย เพราะไอเดียใครๆ ก็มี ทุกคนมีไอเดียดีๆ และไอเดียที่คิดออกมามักจะไม่ได้จบที่ไอเดีย นักลงทุนเขาจะมองว่า เราทำไอเดียให้เป็นจริงได้ไหม และตายยากแค่ไหน ถ้าไม่ใจสู้ ก็ไปไม่ได้ ถ้าทีมพัฒนาได้เก่ง ไม่ยอมแพ้ นี่คือสุดยอด
​ถึงบอกว่าไม่ง่าย ยากมาก ๆ ต้องถามว่า ใจสู้หรือเปล่า ถ้าใจไม่สู้ ไม่อึด ทำไม่ได้
​สตาร์ตอัพ ต้องตายยาก และพร้อมที่จะคลุกคลาน
​คนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะเห็นคนอื่นมีรถ มีบ้าน ทำเพราะอยากได้เงิน อยากดัง สุดท้ายอาจไม่สำเร็จ เพราะไม่อึดพอ
ขณะที่คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจจริง ๆ เขาจะอยากทำ และพร้อมที่จะทำเพื่อที่จะรอด เพื่อที่จะให้ไปถึงเป้าหมายตรงนั้น
ผมเอ็นจอยกับการสร้าง ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อพรุ่งนี้ผมจะได้ไปงาน หรือมีคนมาชื่นชม ไม่ได้เพื่อชื่อเสียง ไม่ได้ว่าอยากจะมียอร์ช มีรถ แต่เอ็นจอยที่ได้สร้างงาน ได้ทำกับทีม สนุกกับการทำงานจึงไม่ท้อ และอยากทำต่อเรื่อย ๆ
ผมคิดว่าถ้าทุกคนหาสิ่งที่เขาชอบทำได้ ก็จะเป็นแบบเดียวกัน
และอย่างที่บอก ต้องเป็นแมลงสาป ตายยาก เงินหมดก็ยังไม่ตาย นักลงทุนไม่ลงทุนก็ยังไม่ตาย
​ถ้าได้ซีรี่ส์บีจะทำอะไรได้อีกเยอะ
​เป้าคือจะขยายประเทศ และเพิ่มฟีเจอร์โปรดักส์เพื่อให้สู้กับโกลบอลเพลย์เยอร์ได้
​ผมคิดว่า ทุกบริษัทในโลกต้องสู้กว่าจะโตขึ้นมา ทำไมเฟซบุ๊กขึ้นมาได้ ไมโครซอฟต์ขึ้นมาได้ สู้ไอบีเอ็มได้ ทำไมแอปเปิลขึ้นมาได้ ทำไมทุกปีถึงมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา
​สิ่งสำคัญคือ ต้องโฟกัส และเร็ว และสู้เพื่ออยู่ สู้เพื่อไม่ตาย เทียบกับบริษัทใหญ่ ๆ เขาอาจทำเพราะต้องทำ เพราะกำไรอยู่แล้ว เหมือนมีคนสองคน คนหนึ่งอิ่มแล้ว แต่อีกคนหิวกำลังจะตาย เขาก็จะทำทุกอย่างเพื่อที่จะสู้ เพื่อที่จะได้กิน คุณคิดว่า ใครจะสู้ตายมากกว่า
นี่คือจุดแข็งของสตาร์ตอัพ สู้เพื่อที่จะอยู่รอด
​-เงินทุนไม่ใช่ปัญหา ถ้าเจ๋งจริง
​ถ้าเก่งจริงโอเค อาจจะไม่ยาก แต่ว่า เงินไม่ใช่ว่าหาได้ง่ายๆ ไม่งั้นใครๆ ก็ได้กันหมด อย่างที่บอกว่าคนที่เป็นเจ้าของกิจการต้องสู้ตายทุกอย่าง บริษัทที่มีเงินน้อยหลายครั้งจะชนะ ผมรู้สึกว่าจุดที่เงินใกล้หมดจะเป็นจุดที่เราจำได้มากที่สุด เรามองอะไรไม่เห็นถ้ามีเงินเยอะ แต่ถ้าไม่มี จะสู้เพื่อจะรอดจะทำทุกอย่าง
-อยู่ในภาวะที่ต้องสู้ตายบ่อยๆ ก็น่าจะดี
​ใช่ มันจะไดร์ฟให้เรายิ่งทำงานหนัก ยิ่งโฟกัส ผมเจอจุดนี้มา 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งที่เจอจะครั้งใหญ่ขึ้น เพราะพนักงานมากขึ้น
-ถือว่าประสบความสำเร็จ
​ระดับหนึ่งครับยังต้องทำอะไรอีกเยอะ และอีกไกล ก็แฮปปี้มากที่มาถึงตรงนี้ แต่ยังเหลืออีกไกล ซึ่งไม่ง่าย
จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” พ.ย.2559
 
โฆษณา