21 พ.ค. 2019 เวลา 01:21 • ธุรกิจ
“Huawei ปรับทัพเตรียมรับมือมานานแล้ว
แต่จะเอาอยู่หรือไม่?”
...
เมื่อปลายปี 2018 บริษัท Huawei เปิดเผยการกระจายตัวของซัพพลายเออร์หลักทั้งหมด 92 ราย
โดยเป็นบริษัทสหรัฐฯ 33 บริษัท
บริษัทจีน 25 บริษัท
บริษัทญี่ปุ่น 11 บริษัท
บริษัทไต้หวัน 10 บริษัท
และบริษัทสัญชาติอื่นๆ รวมกันอีก 13 บริษัท
จากจำนวนซัพพลายเออร์ จะเห็นได้ว่า Huawei ยังพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2019 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เพิ่มชื่อ Huawei Technologies Co., Ltd. และบริษัทลูกอีก 68 บริษัทเข้าไปใน Entity List โดยมีเงื่อนไขว่าหากบริษัทในสหรัฐฯ จะจำหน่ายสินค้าด้านเทคโนโลยีให้กับ Huawei จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลก่อน
ซึ่งสินค้าหลักที่ Huawei ซื้อจากสหรัฐฯ คือ Semiconductor, Chip, และ Software จากบริษัทซัพพลายเออร์ขนาดใหญ่อย่าง Intel, Qualcomm, Microsoft และ Broadcom Corporation โดยตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม เป็นต้นมา บริษัทเหล่านี้ได้รับจดหมายแจ้งจากรัฐบาลของสหรัฐฯ และเริ่มทยอยหยุดจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับ Huawei แล้ว
แต่ปฏิกิริยายาของ Huawei กลับมั่นคงกว่าที่คิด
เหริน เจิ้งเฟย (Ren ZhengFei) ผู้ก่อตั้ง Huawei ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม แบบนิ่งๆ ว่า “ไม่มีปัญหา! Huawei ได้เตรียมการสำหรับเหตุการณ์แบบนี้เอาไว้แล้ว และจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีผลิต Chip ขึ้นเองต่อไป”
ที่ผ่านมา Huawei เตรียมรับมืออย่างไร?
(1) แผนรับมือระยะสั้น: กักตุนชิ้นส่วนจำเป็นล่วงหน้า
เนื่องจาก Huawei ตระหนักอยู่เสมอว่าอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถนำเข้าสินค้าและบริการจากซัพพลายเออร์สหรัฐฯได้ จึงสั่งซื้อกักตุนชิ้นส่วน อย่างเช่น Semiconductor และอุปกรณ์สำคัญอื่นๆ เอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดย HaiTong Securities คาดการณ์ว่าจะยังมีชิ้นส่วนต่างๆ เพียงพอในการผลิตสินค้าไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคได้อีกประมาณ 1 ปี และระยะเวลานี้จะเป็นช่วงที่ Huawei จะค่อยๆ เริ่มใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาเองมากขึ้นกว่าเดิม
(2) แผนรับมือระยะยาว: เพิ่มกำลังภายใน เร่งพัฒนาเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา Huawei ได้เร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อต้องการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญและมีความท้าทายในการพัฒนาสูงคือการสร้างและผลิต Chip
บริษัท HiSilicon ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Huawei ได้เริ่มมุ่งมั่นวิจัย Chip คุณภาพสูงสำหรับ Smartphone ตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว
และในปี 2018 HiSilicon ได้ผลิต Chip โดยมีมูลค่ารวมแล้วกว่า 7,500 ล้านเหรียญ และได้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยี Chip ที่ล้ำสมัยที่สุดในจีน
โดยในช่วงหลัง HiSilicon ได้เริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกมาอวดโฉมให้ Huawei ใช้จริงกันบ้างแล้ว อย่างเช่น ระบบ Chip รุ่น Kirin 970 ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ใน Smartphone รุ่น Mate 10 และ P20 Pro เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งโจทย์ที่เรายังต้องติดตามต่อไปคือ HiSilicon ออกแบบ Chip บนโปรแกรม EDA Software ซึ่งเป็นของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ชื่อ Synopsys Inc. และถึงแม้ว่า Huawei จะได้ซื้อโปรแกรมนี้มาแล้ว และจะยังคงสามารถใช้โปรแกรมในการพัฒนา Chip ต่อไปได้ แต่หลังจากที่โดนแขวนชื่อใน Entity List บริษัท HiSilicon จึงมีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับการอัพเดทโปรแกรมหรือบริการอื่นๆ จาก Synopsys Inc. หลังจากนี้
และจากกรณีที่ Google ทำตามคำสั่งของ Trump เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ มือถือ Android รุ่นใหม่ต่อๆไป ของ Huawei จะไม่สามารถเข้าถึงระบบ Google Android ซึ่งเป็นบริการอย่าง Google Play Store ได้ (ซึ่งรวมถึงกลุ่มแอพ อย่าง Gmail หรือ Youtube) แม้ผู้ใช้อุปกรณ์ Huawei ในปัจจุบันจะยังคงใช้งานได้ปกติ แต่ก็นับเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่ Huawei จะดึงดูดให้ลูกค้าสนับสนุน Smartphone รุ่นต่อๆ ไป จึงอาจมีผลกระทบกับ Huawei ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Die Welt ของเยอรมนี นาย Richard Yu (Chief Executive ของฝ่าย Consumer Business ของ Huawei) เปิดเผยว่า Huawei ได้เตรียมการพัฒนาระบบปฏิบัติการ(Mobile Operating System)ขึ้นเองเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบนี้
ขณะนี้เริ่มมีข่าวลือว่า ระบบปฎิบัติการใหม่นี้ชื่อว่า HongMeng OS ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทดสอบระบบ และ Huawei จะค่อยๆ เปลี่ยนระบบปฏิบัติการจาก Android เป็น HongMeng OS ในอนาคต
นอกจากเทคโนโลยี Chip และระบบปฎิบัติการ บริษัท Huawei ได้วิจัยและทยอยเปิดตัวเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2019 บริษัท Huawei เปิดตัวระบบประมวลผล(CPU ระดับสูงสำหรับ Smartphone) ARM และเซิร์ฟเวอร์ Kunpeng 920 ซึ่งข้อมูลจาก blognone ระบุว่าเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ดีกว่าอันดับสองในขณะนั้น และเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม Huawei ยังเปิดตัว GaussDB ผลิตภัณฑ์ database system ที่ประยุกต์ใช้ AI ซึ่งนอกจากจะใช้เทคโนโลยีนี้ใน Huawei Cloud แล้ว Huawei ยังตั้งเป้าขึ้นเป็นคู่แข่งของบริษัท Oracle และ Microsoft
...
เทคโนโลยีของ Huawei จะนำมาใช้ได้ทันการณ์และมีคุณภาพตามที่ต้องการหรือไม่ คงยังต้องติดตามกันต่อ
แต่จากตัวอย่างแผนรับมือข้างต้น ทำให้เราได้เห็นกำลังภายในด้านเทคโนโลยีของสำนักวิชา Huawei ที่ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เหตุการณ์แรงกดดันจากสหรัฐฯ คงไม่ใช่ไม้เด็ดที่จะหยุด Huawei ได้ทันที
ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการเร่ง Huawei ให้เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี เร่งลดการพึ่งพาและเป็นอิสระจากซัพพลายเออร์ของสหรัฐฯ ให้เร็วมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา