23 พ.ค. 2019 เวลา 09:34 • ประวัติศาสตร์
ทฤษฎีใหม่ “Stonehenge” เสาอาจจะถูกลากมาทางบก
Stonehenge เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายหรือที่มาของกองหินกลุ่มนี้ได้แน่ชัด
แต่ผมได้ไปอ่านบทความเกี่ยวกับ Stonehenge และเจอบทความหนึ่งที่น่าสนใจ
ผมจะเล่าให้ฟังนะครับ
วารสาร Antiquity ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาโดยไมเคิล ปาร์คเกอร์ เพียร์สัน (Michael Parker Pearson) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ซึ่งระบุว่า เขาสืบค้นที่มาที่ชัดเจนของกลุ่มหินในสโตนเฮนจ์ ซึ่งถูกเรียกว่า “บลูสโตน” (Bluestone) ที่เรียกตามลักษณะโทนสีของหินที่ออกสีฟ้าจางๆ
ก่อนหน้านี้ เป็นที่รู้กันว่า หินบลูสโตน 42 ชิ้นในสโตนเฮนจ์ มาจากเทือกเขา Preseli ใน Pembrokeshire ทางตอนใต้ของเวลส์ แต่การศึกษาล่าสุดเป็นข้อมูลที่บ่งชี้อีกหนึ่งสมมติฐานว่า หินบลูสโตนในสโตนเฮนจ์นั้นมาจากไหนกันแน่
ข้อมูลการศึกษาของทำให้บ่งชี้ว่า หินบลูสโตนถูกเคลื่อนย้ายจากแหล่งดั้งเดิมของมันในพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเหมืองสองแห่งคือเหมือง Carn Goedog และ Craig Rhos-y-felin เพื่อนำมาสร้างเป็นอนุสรณ์กลางทุ่งบนที่ราบซอลส์เบอร์รีทางตอนใต้ของอังกฤษ
1
เหมืองทั้งสองแห่งนี้อยู่ห่างจาก สโตนเฮนจ์ 180 ไมล์ และถูกศึกษาโดยทีมสำรวจตั้งแต่ปีค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) จนถึงค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) รายงานว่าทีมสำรวจได้ค้นพบถ่านโบราณและเครื่องมือที่ทำจากหินในพื้นที่
การศึกษาบ่งชี้ว่า หินบลูสโตน ปรากฏบนพื้นผิวหลายล้านปีก่อน เมื่อชั้นผิวของแม็กมา (Magma) หลายชั้นเย็นตัวลงจนกลายเป็นทรงเสาแนวตั้ง เวลาผ่านไปหลายยุคเข้า หินรอบแม็กมาก็กร่อนออกจนเหลือแค่หินที่เรียกกันว่าบลูสโตน และเชื่อว่าหินบลูสโตนอย่างน้อย 5 ชิ้นจากกลุ่มหินจำนวนมากในสโตนเฮนจ์ มีที่มาจาก เหมืองทั้งสองแห่ง
เชื่อกันว่าแรงงานในยุคก่อนประวัติศาสตร์น่าจะเล็งเห็นลักษณะตามธรรมชาติของหินที่ปรากฏนั้นเป็นรูปทรงแนวตั้งสอดคล้องกับสมมติฐานว่า กลุ่มคนยุคก่อนประวัติศาสตร์มีแนวโน้มขยับหินได้เลยมากกว่าที่จะต้องแกะหินให้เป็นรูปทรง วิธีการก็เพียงแต่อาศัยเครื่องมือทั่วๆ ไป เช่น ค้อน ชะแลง
และจากการค้นพบแท่นโหลด นักโบราณคดีเชื่อว่าหลังจากที่ใช้เชือกลากเสาลงมาบนแท่น จากนั้นก็เคลื่อนมันลงมาบนเลื่อนไม้ และใช้คนลากเสาบนพาหนะเลื่อนที่ทำจากไม้เพื่อเคลื่อนย้ายเสา
ถ้ามีคำถามว่า การเคลื่อนย้ายเสาที่ใหญ่และหนักขนาดนี้ในยุคก่อนที่ยังไม่มีเครื่องมือทันสมัยนั้นเป็นไปได้หรือไม่ นิโคลัส เพียร์ส นักธรณีเคมีจากมหาวิทยาลัย Aberystwyth ในเวลส์ ได้ให้คำตอบว่าหินบลูสโตนใหญ่ก็จริง แต่ไม่ได้ใหญ่โตขนาด มนุษย์ยุคหินที่แข็งแรงไม่สามารถลากไปได้
อีกคำถามที่อาจโต้แย้งสมมติฐานของทีมวิจัยชุดนี้คือ ปกติแล้วคนงานในไซต์งานเกี่ยวกับเสาหินขนาดใหญ่ทั่วยุโรปไม่ค่อยใช้งานหินที่อยู่ห่างจากจุดใช้งานเกิน 10 ไมล์ แต่ปาร์คเกอร์ เพียร์สันเชื่อว่า หินบลูสโตนนี้อาจอยู่นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะพิเศษของหิน
แม้ว่าบลูสโตนจะไม่ใช่หินที่ใหญ่ที่สุดในสโตนเฮนจ์ แต่ก็ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจต่อการศึกษาสโตนเฮนจ์ ขณะที่ Trilithon กลุ่มหินทรายที่เป็นหิน 3 แท่งประกอบกัน ถือเป็นหินที่ใหญ่กว่าและเชื่อกันว่าเป็นหินจากในละแวกใกล้เคียงสโตนเฮนจ์
ในแถลงการณ์ของกลุ่มนักวิจัยระบุว่า พื้นที่เหมืองยังช่วยให้นักโบราณคดีสามารถศึกษาเทียบตารางเวลาของสโตนเฮนจ์ในประวัติศาสตร์ผ่านการสืบค้นอายุของถ่านที่พบในแท่นด้วยคาบอน ได้พบว่าถูกขุดเจาะในช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล (ราว 5,000 ปีก่อน) เหล่านักโบราณคดีเชื่อว่าสโตนเฮนจ์ เป็นอนุสรณ์ที่สร้างขึ้นต่อเนื่อง โดยแรกเริ่มจากนำเสาหินบลูสโตนไปตั้งล้อมเป็นวงกลมลงในหลุมที่เรียกว่า Aubrey Holes
การค้นพบครั้งล่าสุดเหมือนเป็นการตั้งคำถามกับทฤษฎีเดิมที่เชื่อว่าบลูสโตนเคลื่อนย้ายผ่านทางทะเล แต่จากการศึกษาครั้งล่าสุด พื้นที่เหมืองแสดงให้เห็นว่าหินมาจากพื้นที่ด้านเหนือของเทือกเขา
แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือทำไมผู้สร้างอนุสรณ์ในช่วงแรกต้องลากหินหนักมาไกลขนาดนั้น คำถามนี้ยังเป็นคำถามที่แม้แต่ทีมวิจัยยังต้องยอมรับว่าให้คำตอบแบบเฉพาะเจาะจงไม่ได้
ปาร์คเกอร์แสดงความคิดเห็นว่า สโตนเฮนจ์ก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและจำนวนประชากรเสื่อมถอยลงในแถบอังกฤษ สโตนเฮนจ์ อาจเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมช่วยให้ชุมชนที่แตกต่างกันเกิดความสามัคคีกัน
โฆษณา