25 พ.ค. 2019 เวลา 12:55 • กีฬา
ระบบการดราฟต์ กฎแห่งความยุติธรรมของ NBA มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และทำวิธีไหนที่ทุกทีมจะยอมรับได้ วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง
ในกีฬาบาสเกตบอล มีความเชื่อว่า ผู้เล่นแค่ 1 คน สามารถเปลี่ยนโฉมทีมได้อย่างสิ้นเชิง
จากทีมที่ไร้อนาคต ถ้าหากคุณได้ผู้เล่นเกรด A เข้ามาเสริมทัพ แค่คนเดียวเท่านั้น มีสิทธิจะพัฒนาเป็นทีมระดับเพลย์ออฟได้ทันที
นั่นทำให้ NBA เชื่อมั่นในกฎการดราฟต์ ว่ามันสามารถทำให้ลีก มีความสมดุลได้ ทีมที่เก่งก็เก่งไป ส่วนทีมที่อ่อนกว่า จะได้สิทธิดราฟต์ผู้เล่นจากมหาวิทยาลัยก่อน เพื่อยกระดับให้ตัวเองแข็งแกร่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นคลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ในปี 1998-2003 พวกเขาเป็นทีมที่หมู แทบจะที่สุดในลีก ไม่ผ่านเข้าเพลย์ออฟมา 5 ปีติดต่อกัน เจอใครก็โดนเชือดหมด
แต่พอพวกเขาได้ดราฟต์เบอร์ 1 ในปี 2003 ตัดสินใจเลือกเลอบรอน เจมส์ เด็กมัธยมจากรัฐโอไฮโอ้ และจากนั้นก็อย่างที่เรารู้กัน เลอบรอน พาคลีฟแลนด์ เข้าเพลย์ออฟ 5 ปี ติดต่อกัน และได้เข้าชิง NBA ด้วย 1 สมัย ก่อนจะย้ายไปไมอามี่ ฮีต ในปี 2010
จากทีมที่เป็นสมันน้อย กลับพลิกโฉมเป็นทีมแกร่งได้ เพียงเพราะผู้เล่นแค่ 1 คนเท่านั้น
นั่นทำให้ ในแต่ละปี ทีมเล็กๆ จึงเฝ้าฝัน ว่าตัวเองจะได้สิทธิ์ "ดราฟต์เบอร์ 1" สักครั้ง ขอแค่ได้เลือกตัวท็อปจากมหาวิทยาลัยก่อนใคร เมื่อนั้นล่ะ ทีมจะกลับมาผงาดแน่นอน
ในปี 1966-1984 การเลือกว่า ทีมไหนจะได้สิทธิดราฟต์เบอร์ 1 จะดูว่า ทีมไหนมีสถิติแย่สุดในสาย
จะเอาทีมสถิติแย่สุดใน Western Conference กับ ทีมแย่สุดใน Eastern Conference มาโยนเหรียญหัวก้อยกัน
เท่ากับว่า สมมติคุณเป็นทีมที่สถิติแย่สุดในสาย ก็มีโอกาส 50-50 ที่จะได้เป็นดราฟต์เบอร์ 1
แต่ปัญหาของวิธีนี้ คือ หลายๆทีมตัดสินใจ "ทิ้งเกม" เพื่อให้ตัวเองมีสถิติแย่ที่สุด เพื่อไปลุ้นเอาดราฟต์เบอร์ 1
1
ในภาษาบาสเกตบอลเรียกว่า แทงค์ (Tanking)
Tank แปลว่ารถถัง ถ้าเป็นคำนาม แต่ Tank สามารถใช้เป็นกริยาได้ด้วย แปลว่า ตกต่ำ (To become less successful)
เมื่อหมดลุ้นจะเข้าเพลย์ออฟแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเล่นเต็มที่อีก เพราะยิ่งคุณชนะเยอะเท่าไหร่ มีสถิติดีมากขึ้นแค่ไหน ก็ได้ดราฟต์ตัวอันดับต่ำลงเรื่อยๆ
ในปี 1983-84 NBA สายเวสเทิร์น มี 12 ทีม เอาเข้าเพลย์ออฟ 8 ทีม
ฮุสตัน ร็อคเกตส์ จบอันดับ 12 ในสาย ได้ดราฟต์เบอร์ 1 แต่ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส จบอันดับ 9 ซึ่งก็ไม่ได้เข้าเพลย์ออฟเหมือนกัน แต่ได้สิทธิดราฟต์อันดับ 7
เมื่อเป็นแบบนี้ พอหมดลุ้นไปแล้วปลายฤดูกาล จะไปเล่นให้ชนะทำไมล่ะ เล่นให้แพ้ไปเลยดีกว่า เพื่อเอาสถิติแย่ๆ ไปเอาสิทธิ์ดราฟต์ตัวดีๆปีหน้าดีกว่า
การที่แต่ละทีมคิดแบบนี้ มันทำให้ NBA วุ่นวายมาก แฟนๆกีฬาที่อุตส่าห์มาเชียร์ทีมตัวเอง พอเห็นทีมจงใจเล่นแพ้ มันก็เสื่อมศรัทธา
ลองคิดดูว่า ปลายๆซีซั่น 6-7 ทีมที่หมดลุ้นไปแล้ว ต่างแข่งขันกันแพ้ มันทำให้เกมบาสเกตบอลน่าเบื่อหน่ายแค่ไหน
NBA เห็นถึงปัญหานี้ จึงออกกฎใหม่ขึ้นมาในปี 1985 ที่เรียกว่า ล็อตเตอรี่
1985-1989 ล็อตเตอรี่แบบสุ่มดวง
NBA ไม่ต้องการเห็นทีมมานั่งแทงค์กันช่วงปลายซีซั่น จึงออกไอเดียใหม่ขึ้นมา
คือจับเอาทีมที่ไม่เข้าเพลย์ออฟทั้งหมด มารวมกัน แล้วทำการจับสลากขึ้นมา วัดดวงกันไปเลย
วิธีนี้ อยู่ที่โชคล้วนๆ คุณจะมีสถิติบ๊วยของลีก หรือ เป็นทีมที่เฉียดเข้าเพลย์ออฟ ก็มีสิทธิเท่าๆกัน ที่จะได้ดราฟต์เบอร์ 1
ล็อตเตอรี่แบบสุ่มดวง ใช้งานได้สักพักก็โดนคนโวยขึ้นมา ว่ามันไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาให้ทีมอย่างแท้จริง
ตัวอย่างเช่น แอลเอ คลิปเปอร์ส ในปี 1986-87 พวกเขามีทีมที่แย่มากๆ มีสถิติ ชนะ 12 แพ้ 70 เป็นบ๊วยของลีก
คลิปเปอร์สไม่ได้แกล้งแพ้ พวกเขาแพ้ เพราะทีมอ่อนจริงๆ และภาวนาว่า ในการดราฟต์ 1987 พวกเขาจะได้สิทธิดราฟต์ดีๆ มาเพื่อยกระดับทีมให้ดีขึ้น
แต่ผลการจับสลาก คลิปเปอร์ส ได้สิทธิดราฟต์อันดับ 4
สุดท้ายคลิปเปอร์ส ไปดราฟต์เอา เรจจี้ วิลเลี่ยมส์เข้ามา ซึ่งก็ไม่ได้ยกระดับทีมขึ้นแต่อย่างใด ในซีซั่น ต่อมา 1987-88 พวกเขาจบด้วยการเป็นบ๊วยเหมือนเดิม
มันเลยเกิดคำถามว่า การล็อตเตอรี่แบบสุ่มดวง เป็นการไม่แฟร์กับทีมบ๊วยหรือเปล่า
ถ้าหากพวกเขาไม่ได้จงใจ Tank ล่ะ ถ้าหากทีมอ่อนจริงๆ ก็ต้องการดราฟต์เบอร์ 1 เข้ามากอบกู้ทีมไม่ใช่หรอ
จุดประสงค์การดราฟต์แต่แรก มีเพื่อทำให้ ทีมเล็กเก่งขึ้นทัดเทียมกับทีมใหญ่ไม่ใช่หรอ?
แน่นอน นี่เป็นเรื่องที่มีเหตุผล NBA ก็คิดเช่นกันว่า การจับสลากแบบนี้ มันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก
ทีมที่เฉียดเข้าเพลย์ออฟบางทีม ก็เก่งมากอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามาโชคดี ได้สิทธิดราฟต์เบอร์ 1 อีก ยิ่งไปกันใหญ่เลย
ดังนั้น ต้องหาวิธีอะไรสักอย่าง ที่จะทำให้มันสมดุลกว่านี้
ล็อตเตอรี่ตามน้ำหนัก
ตั้งแต่ปี 1990 NBA คิดค้นระบบล็อตเตอรี่แบบใหม่ ที่ถูกนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน
เรียกว่า Weighted lottery system หรือ ล็อตเตอรี่ตามน้ำหนัก
NBA จะมีล็อตเตอรี่ 1000 ใบ ใส่รวมไว้ในโถเดียว โดยใน 1000 ใบนั้น จะมีชื่อของทีมที่ไม่ได้เข้าเพลย์ออฟทั้งหมด รวมอยู่ด้วย
แต่ละทีมจะได้โควต้ากี่ใบ ใน 1000 ใบนั้น ขึ้นอยู่กับผลงานในซีซั่นที่แล้ว ทีมที่อันดับแย่ที่สุดในลีก จะได้สิทธิมากที่สุด แย่ที่สุดอันดับ 2 ก็จะได้สิทธิเรียงลงมา
ขอยกตัวอย่าง การดราฟต์ในปี 2007 มีทีมที่ไม่ผ่านเข้าเพลย์ออฟทั้งหมด 14 ทีม
สถิติแย่สุดอันดับ 1 เมมฟิส กรีซลีย์
ชนะ 22 แพ้ 60
มีล็อตเตอรี่ในโถ ทั้งหมด 250 ใบ
สถิติแย่ที่สุดอันดับ 2 บอสตัน เซลติกส์
ชนะ 24 แพ้ 58
มีล็อตเตอรี่ในโถ ทั้งหมด 199 ใบ
สถิติแย่ที่สุดอันดับ 3 มิลวอกี้ บัคส์
ชนะ 28 แพ้ 54
มีล็อตเตอรี่ในโถ ทั้งหมด 156 ใบ
สถิติแย่ที่สุดอันดับ 14 แอลเอ คลิปเปอร์ส
ชนะ 40 แพ้ 42
มีล็อตเตอรี่ในโถ ทั้งหมด 5 ใบ
จะเห็นได้ว่ายิ่งสถิติแย่ที่สุด ก็ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์มากที่สุด ส่วนทีมที่สถิติดีที่สุด (ในทีมที่ไม่เข้าเพลย์ออฟ) ก็ยังมีโอกาสเช่นกัน แต่อาจจะน้อยหน่อย
วิธีนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่โอเคมาก
ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่มีมากกว่า ทำให้ทีมที่เป็นบ๊วยของลีกจริงๆ ยังมีโอกาสสูงสุดที่จะได้สิทธิดราฟต์เบอร์ 1
แต่ทว่า ในอีกมุม คุณจะ Tank มั่วซั่วก็ไม่ได้ เพราะต่อให้มีเปอร์เซ็นต์มากสุด ก็ใช่ว่าจะได้ดราฟต์เบอร์ 1 อยู่ดี
บางปี ทีมที่มีสถิติแย่ที่สุด ได้ดราฟต์เบอร์ 1 อย่างเช่นปี 2003 คลีฟแลนด์โชคดี ชนะล็อตเตอรี่ ทำให้พวกเขาเลือกดราฟต์เลอบรอน เจมส์
1
แต่บางปี ทีมที่มีโอกาสน้อยสุดๆ กลับชนะล็อตเตอรี่ซะอย่างนั้น เช่น ปี 2008 ชิคาโก้ บูลส์ มีล็อตเตอรี่ อยู่ในโถ แค่ 17 ใบ จาก 1000 ใบ แต่กลับได้ดราฟต์เบอร์ 1 เฉยเลย ซึ่งก็ทำให้พวกเขาไปดราฟต์เอาเดอร์ริก โรส มาเสริมทัพ
1
ระบบล็อตเตอรี่ จึงทำให้การดราฟต์ของ NBA มีความสมดุลขึ้น
1
ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมคือ ทีมที่สถิติแย่สุดย่อมมีโอกาสได้ตัวดีๆมากสุด แต่ท้ายที่สุด คุณก็ต้องมีดวงเข้ามาช่วยด้วยอยู่ดี
ในปีนี้ NBA มีการปรับระบบ ล็อตเตอรี่อีกครั้ง ให้สมดุลยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก
นั่นเพราะ 3 ปีหลังสุด ทีมบ๊วยได้ดราฟต์เบอร์ 1 ติดกัน 3 ปีซ้อน ซึ่งอาจทำให้แต่ละทีมยังคงอยาก Tank เพื่อให้เป็นบ๊วย
ดังนั้นจึงกำหนดให้ทีมสถิติแย่สุดอันดับ 1 2 3 ทุกทีมจะมีล็อตเตอรี่ของตัวเองในโถ แค่ 140 ใบเท่านั้น (คิดเป็น 14%)
นิวยอร์ก นิกส์ ทีมที่สถิติแย่ที่สุดในลีก เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา ชนะ 17 แพ้ 65 ถ้าเป็นปีอื่นๆ ก็จะได้ล็อตเตอรี่มากที่สุดในโถ แต่ในปีนี้ พวกเขาจะได้เท่ากับ อันดับ 2 ที่แย่สุด คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ( 19-63) และ ฟีนิกซ์ ซันส์ (19-63) เท่านั้น
เมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา NBA Draft 2019 ได้มีการจับล็อตเตอรี่กันไปแล้ว
ในปีนี้ความพิเศษอยู่ตรงที่ ในผู้เล่นระดับคอลเลจ มีปีศาจที่ชื่อ ไซออน วิลเลียมสัน แห่งมหาวิทยาลัย Duke
ว่ากันว่า นี่คือผู้เล่นที่เก่งที่สุดในรอบ 10 ปี
อายุแค่ 18 แต่ร่างกายแข็งแกร่งเหมือนภูผาหิน และมีส่วนสูงถึง 201 เซ็นติเมตร
ความเร็วความคล่องตัวไม่เป็นรองใคร ยิงระยะกลางได้ดี ส่วนเทคนิคก็แพรวพราว เคยโชว์ดั๊งค์แบบ 360 องศาตอนแข่งจริงมาแล้ว
ไนกี้,อาดิดาส และ อันเดอร์ อาร์เมอร์ รุมแย่งกันขอเป็นสปอนเซอร์หลัก ทันทีที่วิลเลียมสันเซ็นสัญญาอาชีพ
นอกจากนั้น แม้จะเป็นแค่ผู้เล่นมหาวิทยาลัยแต่แฟนคลับของวิลเลียมสันนั้นเพียบ การแข่งขันของดุ๊ค มีเรตติ้งทางโทรทัศน์สูงสุด พีกไปถึง 11.9 หรือระดับเดียวกับ ตอนซีรีส์ Game of Thrones ฉาย ขนาดนั้นเลยทีเดียว
นั่นแปลว่า ล็อตเตอรี่ครั้งนี้มีความหมายจริงๆ หากใครได้เบอร์ 1 จะมีโอกาสมากๆที่จะพลิกโฉมหน้าของทีมไปอย่างสิ้นเชิง
ในสนามทีมจะยกระดับขึ้น ส่วนนอกสนาม ก็จะได้แฟนๆกลุ่มใหม่ ที่เป็นสาวกของไซออน วิลเลียมสัน เข้ามาซัพพอร์ทด้วย
นิวยอร์ก, คลีฟแลนด์ และ ฟีนิกซ์ สามทีมที่มีล็อตเตอรี่ในโถมากที่สุด ทีมละ 140 ใบ ก็หวังว่า จะได้วิลเลียมสัน มากอบกู้ทีม
แต่แล้ว การจับสลาก ทีมที่ถูกล็อตเตอรี่ กลับเป็น นิวออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ ที่มีสลากอยู่ในโถแค่ 60 ใบเท่านั้น
เปอร์เซ็นต์ที่เพลิแกนส์ จะชนะล็อตเตอรี่มีแค่ 6% แต่พวกเขาดวงแข็งสุดๆ จับสลากได้สิทธิดราฟต์เบอร์ 1
นั่นแปลว่า นิวออร์ลีนส์จะเซ็นไซออน วิลเลียมสันแน่นอน ในการดราฟต์ที่จะมาถึง
นิวออร์ลีนส์ในปีหน้า พวกเขามีสิทธิเข้าเพลย์ออฟลึกๆได้เลย
อย่าลืมว่าในทีม มีผู้เล่นระดับออลสตาร์อย่างแอนโทนี่ เดวิสอยู่ 1 คน ซึ่งถ้าเก็บไว้ได้ เดวิส จะได้เล่นร่วมกับไซออน วิลเลียมสัน เกมวงในของเพลิแกนส์จะแข็งแกร่งมากๆ
แต่เดวิส เคยขึ้นบัญชีขอย้ายทีมเอาไว้แล้ว ซึ่งถ้าหากเขายังคงอยากย้ายอยู่ เพลิแกนส์ ก็ย่อมได้ผู้เล่นระดับคุณภาพในดีลการเทรดครั้งนี้แน่นอน
ไม่ว่ามุมไหนก็มีแต่ได้กับได้
ก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าสุดท้าย ไซออน วิลเลียมสัน จะเล่นได้สุดยอดสมความคาดหวังกับดราฟต์เบอร์ 1 หรือไม่
ในอดีตที่ผ่านมา มีดราฟต์เบอร์ 1 ที่กลายเป็นตำนานแล้วหลายคน ทั้ง อัลเลน ไอเวอร์เซ่น, เดอร์ริก โรส, เลอบรอน เจมส์ , ทิม ดันแคน, ไครี่ เออร์วิ่ง หรือ ฮาคีม โอลาจูวอน
แต่ก็มีดราฟต์เบอร์ 1 ที่ล้มเหลวจำนวนไม่น้อย เช่น ควาเม่ บราวน์ ,ไมเคิล โอโลโวคันดี้ หรือ แอนโทนี่ เบนเนตต์ ซึ่งชื่อเหล่านี้ แม้จะเป็นดราฟต์เบอร์ 1 กลับไม่สามารถแจ้งเกิดได้
การได้ดราฟต์เบอร์ 1 แน่นอน มันมีความเสี่ยงอยู่ ถ้าหากทีมปั้นผู้เล่นไม่ขึ้น ก็อาจโดนหัวเราะจากทีมอื่นได้ ว่าใช้ของดีไม่เป็น
แต่ก็นะ
เชื่อเถอะ ไม่ว่าทีมไหน ใครๆก็อยากเสี่ยงทั้งนั้น
#ZION #LOTTERY
โฆษณา