25 พ.ค. 2019 เวลา 13:21 • ไลฟ์สไตล์
ศูนย์ปฏิบัติธรรม ตาณัง เลณัง ฯ ๒
"ศูนย์ฝึกเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน 4 แบบพอง - ยุบ "
ศูนย์ปฏิบัติธรรมแต่ละแห่ง แม้จะเป็นสถานปฏิบัติเหมือนกัน แต่ก็จะมีแนวทางการปฏิบัติและวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันออกไปตามแต่ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์จะสืบทอดกันมา ณ ที่นี้ผู้เขียนจะขอบอกเล่าประกอบเพื่อพอให้เข้าใจเบื้องต้นและที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ปฏิบัติธรรมตาณัง เลณังฯ เท่านั้นนะครับ
ป้ายใหญ่หน้าศูนย์ปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเรียกว่าการฝึกกรรมฐาน หรือการเจริญกรรมฐาน แบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ ที่ คือ 1 สมถกรรมฐาน และ 2 วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งแนวทางการปฏิบัติจะคล้ายกัน แต่เป้าหมายหรือผลของการปฏิบัติจะแตกต่างกัน
โดยสมถกรรมฐานนั้น เป็นการปฏิบัติเพื่อฝึกจิตให้เกิดความตั้งมั่นแห่งจิต และจิตเข้าสู่ความสงบหรือเราเรียกว่าสมาธินั่นเอง มี 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ขั้นต้นคือ 1สมาธิชั่วขณะ, 2 สมาธิจวนจะแน่วแน่,และ3 สมาธิแน่วแน่ มีวิธีการปฏิบัติแบ่งออกเป็น 40 วิธี ได้แก่ กสิน 10, อสุภะ10, อนุสติ10,พรหมวิหาร 4, อรูป 4, อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1, และจตุธาตุววัตถาน 1 (ซึ่งรูปแบบที่กล่าวมานี้ที่ตาณัง เลณังฯ จะไม่ได้สอนนะครับ)
ภาพผู้ปฏิบัติรับกรรมฐาน cr. ตามภาพนะครับ
ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน นั้น เป็นการเจริญกรรมฐานเพื่อฝึกฝนจิต ให้เกิดปัญญา เรียกภาษาพระว่าเป็น ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติภาวนาเจริญวิปัสสนา เรียนรู้ดูกาย กับใจ จนรู้จริงเห็นจริงว่า กาย กับ ใจ เป็นเพียง รูปกับนาม หรือ ธาตุ 4 ขันธ์ 5 ที่ประชุมกันขึ้น มิใช่เป็นคน สัตว์ บุคคล เรา เขา หญิง ชาย ดังที่เราทั้งหลายเข้าใจ และยึดติดกันอยู่ จนถึงขั้นมีปัญญา เห็นกายใจเป็นเพียงสภาวะธรรม ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของไตรลักษณ์ ขณะเดียวกันก็จะเกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส และประหารกิเลส ตามลำดับ จนถึงขั้นอย่างเด็ดขาด เปลี่ยนตนเองจากปุถุชน คนมีกิเลสหนา พัฒนาจนกลายเป็นอริยชนผู้มีกิเลสเบาบาง จนถึงขั้นที่สูงสุด คือจิตบริสุทธิ์หมดจด ไม่เหลือกิเลสอีกเลย ซึ่งเป็นเป้าหมายแท้จริงของพระพุทธศาสนาสูงสุดที่เราได้ยินเรียกว่า "พระนิพพาน" นั่นเอง
พระครูภาวนาสมณวัตร (หลวงพ่อใหญ่ของศูนย์ฯ )
โดยรูปแบบการปฏิบัติที่ตาณังเลณัง ฯ สอนอยู่นั้นเรียกว่าการเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฎฐาน 4 แบบยุบหนอ - พอหนอ แบบเข้มข้นเรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาโดยตรง ไม่มุ่งหมายเอาความสงบของจิตอย่างแน่วแน่ จะใช้สติกำหนดรู้ดูกาย กับใจ ชั่วขณะ ๆ ตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือกำหนดรู้ดูกาย, เวทนา, จิต, และธรรม ในอิริยาบถทั้งปวงของกายกับใจ ทั้งอิริยาบถใหญ่ คือ การ เดิน,ยืน,นั่ง,นอน และอิริยาบถย่อย คือการขยับกายเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับ เพื่อสั่งสมบ่มเพาะกำลังของขณิกสมาธิ ให้มีกำลังต่อเนื่องกันเสมือนกระแสน้ำที่ไม่มีขาดช่วง จนกระทั่งอินทรีย์ 5 ได้แก่ สัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา ตั้งมั่นมีกำลังจนยกระดับเป็นพละ5 คือธรรมทั้งอันมีกำลังสามารถกั้น นิวรณ์ 5 คือ กามฉันทะ , พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ,และวิจิกิจฉา เมื่อนั้นจิตจะเริ่มผ่องใส เห็นกาย เป็นเพียงรูปธรรม คือมีสภาวะของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และใจ เป็นเพียงนามธรรม ที่ถูกกิเลสปรุงแต่งอยู่ปรากฎขึ้นอยู่ทุก ๆ ขณะตามสภาพของไตรลักษณ์ เมื่อฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ผู้ปฏิบัติใดที่มีความเพียรไม่ลดละ บุญบารมีถึงพร้อม ก็จะเกิดวิปัสสนาปัญญาในลำดับต่าง ๆ ตามแต่บุคคล ซึ่งรูปแบบการสอนทั้งปวงนี้ พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อใหญ่ (พระครูภาวนาสมณวัตร)ท่านมิได้ทึกทักสอนเอง หากแต่มีที่มาที่ไปชัดเจน จากพระไตรปิฎก ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอนเอาไว้นะครับ.
ภาพพระภิกษุผู้เข้าปฏิบัติธรรม
ญาติโยมผู้เข้าปฏิบัติธรรม
@ โอกาสต่อไป จะมาเล่าถึงกฎระเบียบและการเข้าปฏิบัติของศูนย์ให้ฟังนะครับ
ปล. เพื่อนผู้อ่านสงสัยหรือต้องการแนะนำสิ่งใดบอกได้นะครับ 😄😄😄😄
โฆษณา