27 พ.ค. 2019 เวลา 11:47 • ปรัชญา
ทำอย่างไรดี หากชีวิตกำลัง “ย่ำแย่” ไร้ทางออก
1. ปล่อยให้ตัวเองได้สัมผัสกับความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้น
ทีการปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึกแย่บ้างก็เป็นเรื่องที่ไม่เลว ให้คุณคิดว่า อะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตคุณย่ำแย่นั้น มันต้องมีเหตุผลที่แท้จริงแฝงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน หรือการตกงานที่นำไปสู่ปัญหาทางการเงิน รวมถึงข่าวร้ายอื่นๆ ที่ไม่ทันตั้งตัว แน่นอนว่าคนเราย่อมมีสิทธิ์ที่จะบ่นหรือตัดพ้อในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการคิดในแง่ลบบ้างย่อมไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม บางครั้งการคิดในแง่ลบก็ช่วยทำให้เกิดผลดีได้เช่นกัน มันสามารถช่วยให้คุณข้ามพ้นปัญหา และนำคุณไปสู่การฟื้นฟูจิตใจตนเองและกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบปกติสุขได้
2. รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเดินหน้าต่อไป
ก็คือ การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ‘การโทษตัวเอง’ กับ ‘การรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น’ ไม่ว่าความผิดพลาดทั้งหมดจะเกิดจากการตัดสินใจพลาด หรือจะเป็นการที่ไม่สามารถควบคุมต้นเหตุของปัญหาได้ก็ตาม การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้และเรียนรู้จากมันย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด การโทษตัวเองไม่สามารถช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นได้เลย เพราะฉะนั้นเราจึงควรหันมาทำความเข้าใจกับการกระทำของตัวเองเสียใหม่ แล้วคิดทบทวนให้ดีว่า ถ้าหากคุณได้รับโอกาสเดิมเป็นครั้งที่สอง คุณจะยังคงทำสิ่งต่าง ๆ แบบเดิมอยู่หรือไม่ และเมื่อได้บทเรียนจากการคิดใคร่ครวญครั้งนั้นแล้ว ก็จงลุกขึ้นแล้วก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
3. ทำเพื่อตัวเอง
อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ความร้ายแรงของสิ่งที่เกิดขึ้นเบาบางลงได้ก็คือ ต้องใจกว้างและใจดีกับตัวเองเป็นพิเศษ ช่วงเวลาแบบนี้แหละ ที่คุณควรจะตามใจตัวเองให้มากแต่ก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่เหมาะสม ลองหยุดพักและถอยห่างจาก “การจริงจังกับชีวิต” เพื่อตั้งหลักให้มั่นและรวบรวมความคิดเสียใหม่ อาจจะลองออกไปเดินเล่นข้างนอกท่ามกลางธรรมชาติ หรือที่ไหนก็ตามที่ทำให้คุณสบายใจขึ้น ก็เป็นวิธีง่ายๆ รูปแบบหนึ่งในการปลอบประโลมตัวเองได้ สิ่งสำคัญก็คือ คุณควรเอาใจใส่กับสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำได้โดยการกินอาหารดีๆ ดื่มน้ำเยอะๆ หรือออกกำลังกาย ก็ถือได้ว่าเป็นวิธีคลายความซึมเศร้าตามธรรมชาติ หรืออาจจะให้เวลากับสิ่งที่ชอบมากขึ้น ไม่ก็ใช้เวลากับเพื่อนหรือคนที่คุณรัก
ต่อมาคุณต้องยอมรับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ ยามที่เกิดอารมณ์เศร้าหรือโกรธ ซึ่งทางที่ดีก็คือ ระบายมันออกมาด้วยการพูดหรือการเขียน พยายามปลดปล่อยสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจออกมาให้หมด
อาจจะฟังเพลง เล่นดนตรี หรืออะไรก็ได้ ทั้งหมดนี้คือวิธีที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ความรู้สึกแย่ๆ ของตัวเอง และสามารถนำความรู้สึกดีๆ เข้ามาทดแทนได้
4. เผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว ให้ลองมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางแก้ไข คอยปลอบใจตัวเองว่า สิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามาแล้วย่อมผ่านไปเสมอ แล้วความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านี้ย่อมหายไปเมื่อถึงเวลาของมัน บางครั้งสิ่งเดียวที่คุณจะทำได้ก็คือ “การรอคอย” โดยเฉพาะเมื่อกำลังรู้สึกเศร้าหรือแย่ถึงขีดสุด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน หรือการสูญเสียคนใกล้ชิด การสูญเสียอะไรบางอย่างย่อมนำไปสู่ความเศร้าโศกและใจสลาย ซึ่งการปฏิเสธความรู้สึกเหล่านี้ หรือฝังมันเอาไว้ในส่วนลึกของจิตใจด้วยการทำเป็นไม่รู้สึกรู้สาอะไร ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และอาจส่งผลเสียร้ายแรงในระยะยาวได้
5. จำไว้ว่าปัญหาจะทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น
ประสบการณ์จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้และเข้มแข็งขึ้นกว่าที่เคยเป็น เราทุกคนล้วนผ่านเหตุการณ์ที่ย่ำแย่ในชีวิตกันมาบ้าง บางคนอาจต้องเผชิญกับมันมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำไป ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นได้ ก็คือ การเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้าย เมื่อคุณรู้ว่ามีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้น คุณอาจจะมีความรู้สึกหดหู่ใจ แต่ประเด็นก็คือ อย่างน้อยคนเราก็ควรมีวันที่เศร้าบ้าง มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บ้าง หรือรู้สึกหดหู่ใจบ้าง ขอเพียงคุณกล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่แน่ว่ามันอาจกลายมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตของคุณก็ได้นะ
โฆษณา