29 พ.ค. 2019 เวลา 10:59 • ไลฟ์สไตล์
ในหนึ่งวันทำงานของนักบิน เขาทำอะไรกันบ้างน้อ?
การเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยที่สุดในปัจจุบัน
ผู้คนเริ่มใช้บริการทางอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะราคาค่าโดยสารที่ถูกลงเยอะมาก
สายการบินก็มีให้เลือกหลากหลาย จุดหมายปลายทางที่ปกติขับรถไปต้องใช้เวลานานแถมอันตราย ก็สามารถไปด้วยเครื่องบิน ประหยัดเวลาและไม่เหนื่อยด้วย
ส่วนใหญ่สายการบินจะมีกฏว่าต้องไปเช็คอินก่อนเวลากี่นาที และเดี๋ยวนี้ก็มีวิธีการเช็คอินให้เลือกมากมาย
เวลาการเช็คอินของสายการบินต่างๆ
บางสายการบินมีบริการตู้เช็คอินอัตโนมัติ
แล้วนักบินล่ะ ต้องไปกี่นาที กี่ชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องออก และต้องทำอะไรกันบ้าง มีเดี้ยมจะมาเล่าให้ฟังครับ
นักบินจะได้รับตารางการทำงานล่วงหน้าจากฝ่ายจัดตารางบิน ซึ่งจะบอกรายละเอียดว่าทั้งเดือนมีบินวันไหนบ้าง ไปที่ไหนบ้าง รวมถึงรายชื่อนักบินและลูกเรือ
นักบินทุกคนจะถูกจำกัดชั่วโมงการทำงาน เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องมีความพร้อมในขณะปฏิบัติหน้าที่
ตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พ.ศ. 2559 กำหนดให้สายการบินจัดให้นักบินทำการบินได้ภายใน 7 วัน ต้องไม่เกิน 34 ชั่วโมงบิน ภายใน 28 วันต้องไม่เกิน 110 ชั่วโมงบิน และภายใน 365 วัน ต้องไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงบิน
นอกจากนี้ยังกำหนดช่วงเวลาการพักผ่อนหรือ rest period ไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น หากช่วงเวลาปฏิบัติการบินไม่เกิน 8 ชั่วโมง ต้องมีช่วงเวลาการพักผ่อนไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง เป็นต้น หากช่วงเวลาปฏิบัติการบินยาวขึ้น ช่วงเวลาพักผ่อนก็จะยาวตามเป็นสัดส่วน
ก่อนที่นักบินจะไปทำการบิน ก็จะต้องเช็คเอกสารส่วนตัวก่อนว่าทุกอย่างยังไม่หมดอายุ ซึ่งเอกสารที่นักบินต้องพกติดตัวเวลาไปทำการบินก็จะมี
1. Pilot license (CPL, ATPL)
2. Medical certificate class 1
3. Pilot proficiency check record
4. Passport
5. Logbook
ศึกษาชาร์ทของสนามบินต้นทาง ปลายทาง และระหว่างทางในกรณีที่ต้องไปลงฉุกเฉินด้วยครับ
เที่ยวบินแต่ละเที่ยวจะมีเวลาที่ต้องไปรายงานตัว เราเรียกกันว่าเวลารีพอร์ต ปกติจะ 1 ชั่วโมงก่อนเที่ยวบินออก แต่ก็ต้องไปก่อนเพื่อไปตรวจสอบเอกสารการบินต่างๆ
ถ้ารีพอร์ตตีห้า มีเดี้ยมก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีสามครึ่งเพื่ออาบน้ำแต่งตัว หาอะไรกินรองท้อง ร่างกายจะได้ตื่นตัว สมองจะได้รับน้ำตาล ทำงานได้เต็มที่
ยังง่วงอยู่เลย
เอกสารการบินที่ต้องตรวจสอบก็จะมี
Flight plan หรือแผนการบิน ทางสายการบินจะกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มมาตรฐานของ ICAO ซึ่งจะมีหมายเลขเที่ยวบิน สนามบินต้นทางจนถึงปลายทาง สนามบินที่ผ่าน รวมถึงสนามบินสำรอง ชนิดของอากาศยานรวมถึงอุปกรณ์ที่ติดตั้งในอากาศยานด้วย
แผนการบินมีประโยชน์ในการควบคุมจราจรทางอากาศและในการค้นหากู้ภัยเมื่อเครื่องประสบภัย
Flight information เป็นข้อมูลของเที่ยวบินนั้นๆ เช่น วันเดือนปี เวลาออกและเวลาถึงของเที่ยวบิน หมายเลขเที่ยวบิน รหัสเครื่องบิน สนามบินต้นทางและปลายทาง เส้นทางที่ใช้บิน จำนวนผู้โดยสาร น้ำหนักของเครื่องบิน น้ำมันที่ต้องใช้
General Declaration เป็นเอกสารที่มีรายชื่อนักบินและลูกเรือทุกคนในเที่ยวบิน เพื่อแจ้งแก่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ปลายทางสำหรับลูกเรือที่ต้องลงค้างที่นั่น
Weather Information เป็นข้อมูลพยากรณ์อากาศครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องบินผ่าน ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์อากาศ
นอกจากนี้ยังมี METAR ซึ่งเป็นข้อมูลอากาศที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ประกาศที่สุด จะรายงานแบบอัตโนมัติผ่านคลื่นความถี่ที่สนามบินกำหนด และมีการอัพเดททุกหนึ่งชั่วโมง หรือสามสิบนาทีสำหรับสนามบินใหญ่ๆ
NOTAMs หรือ Notice to Airmen ตามบทความของคุณ”เด็กการบิน”
หลังจากตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด นักบินก็จะทำการสั่งน้ำมันว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ อาจจะต้องบวกเพิ่มอีกในกรณีอากาศไม่ดี จะได้มีสำรองเผื่อต้องทำการบินวนรอ
เมื่อมาถึงเครื่องแล้วก็ต้องตรวจสอบเอกสารบนเครื่อง และเดินเช็คดูรอบเครื่อง ถ้าเห็นว่าเครื่องบินไม่มีปัญหาอะไรก็จะสั่งให้เริ่มบอร์ดผู้โดยสารมาที่เครื่องได้เลย
กว่าที่เที่ยวบินหนึ่งจะออกเดินทางได้ ต้องมีหลายฝ่ายตรวจสอบและเตรียมเอกสารเยอะมาก เพราะ safety มาเป็นอันดับแรกของธุรกิจการบินครับ
โฆษณา