Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
#LittlePrinceThailand
•
ติดตาม
30 พ.ค. 2019 เวลา 02:53 • ครอบครัว & เด็ก
#พจนานุกรมภาษาปากของแพทย์
ตอนที่ 2
รวมคำศัพท์ที่หมอพ่นใส่กันทุกวัน
คำเหล่านี้เป็นที่เข้าใจกันของคนในวงการ คนนอกที่อยากเข้าใจ
หรือคนในที่ยังไม่เข้าใจควรอ่าน
1. คอน (น., ก.) : มาจากคำว่า consult ที่หมายถึงปรึกษา เป็นที่ทราบดีว่าแพทย์นั้นมีหลายแขนงมาก เป็นไปได้ยากมากที่ใครจะเข้าใจ หรือรู้ลึกซึ้งไปเสียหมด
การทำงานของหมอจึงต้องมีการปรึกษาแผนกที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆกว่าเราเสมอ การคอนโดยอุดมคติ จึงเป็นการทำงานประสานกันอย่างเป็นทีม เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย
แต่ในโลกแห่งความจริง การประสานงาน บางครั้งอาจเป็นการประสานงาไปอย่างช่วยไม่ได้ โดยอาจผิดที่คนขอคอน คนรับคอน หรือที่การสื่อสารก็ได้ บางครั้งคนขอคอนก็อาจไม่ได้ดูถ้วนถี่ ด้วยความไม่ชำนาญ อ่อนประสบการณ์ หรือบางทีอาจเป็นความไม่แคร์มากพอ
"ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ใช่แผนกเราร้อกก"
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดอุบัติเหตุที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างแผนกได้เสมอ เช่น ผู้ป่วยมีก้อนที่แถวๆกระดูกสะโพก ไม่มีไข้ เอ้ะ มะเร็งกระดูกป่าวหว่า คอนพี่ออโถ อปป้าแกลงมาดู คลำๆดู "ฉิบเป๋ง นี่มันฝีนี่หว่า ผ่าระบายก็หาย มึงสิคอนกูมาเฮ็ดหยังวะ" เจ้าชายรูปงามแห่งแผนกออโธ ก็อาจกลายร่างเป็นเจ้าชายอสูรที่พร้อมเขมือบหัวคนคอนในพริบตา
หรืออีกกรณีที่การคอนมักเป็นเรื่องเหนื่อยใจคือ ผู้เชี่ยวชาญที่รับคอน ดันไม่โปรดการรับคอนเท่าไร มักจะพ่นไฟผ่านสายที่โทรไปปรึกษาเสมอ (นี่คือเหตุ ที่เขาเรียกว่า hot line) ทำให้คนคอนซึ่งมักเป็น พี่ๆอินเทิร์นโดนกินหัว หัวหายกันไม่เว้นวัน พี่อินผู้เป็นเหยื่อทั้งหลายจึงมักจะหลีกเลี่ยงไปคอนในวันที่สต๊าฟชอบบริโภคอาหารปกติมากกว่าบริโภคศีรษะ
แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ พี่อินก็จะยอมถวายหัวเพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยเมื่อทราบแล้ว ก็ขอให้ความรักความเมตตากับพี่ๆอินเทิร์นด้วยเถิดครับ พี่เขาเครียดมามากแล้วว ให้กำลังใจกันและกันไว้เน้อ
2. เซิ้ง (ก.): เซิ้งในที่นี้มิใช่ระบำพื้นบ้าน แบบที่เรียนกันในวิชานาฏศิลป์สมัยประถม เซิ้งในความหมายของหมอ คือการที่หมอต้องรับมือกับภาวะวิกฤติของผู้ป่วย จนหมอใจสั่นตื่นเต้นไม่แพ้เวลาเจอคนที่ชอบส่งยิ้มมาให้
โดยมากมักใช้บรรยายความเยินของเวรกลางคืน
A "เมื่อคืนนี้พี่เซิ้งอยู่ไอซียูทั้งคืนเลยจ้า"
B "โห สนุกไหมครับพี่ เพิ่งรู้ว่าพี่ชอบรำ"
A "สนุกแม่เอ็งสิ ตูไม่ได้นอนยันรุ่งเลยนะบักหำ"
ทั้งนี้เหตุที่ใช้คำว่าเซิ้ง เกิดมาจากอะไรก็ไม่อาจทราบได้ โดยทั่วไปในความหมาย ถ้าใช้คำว่าเซิ้ง หมอๆจะมีมโนภาพที่ตรงกันคือ ความที่มีหมอเวรวิ่งไปวิ่งมา ตรวจนั่นส่งแลปนี่ โทรหาคนนู้นคนนี้ วุ่นวายอยู่ตรงปลายเตียงคนไข้ ด้วยสีหน้าตื่นตระหนก เหงื่อแตกพลั่ก ผมกระเซิง
"เซิ้ง" แท้จริงอาจเพี้ยนมาจาก การที่หมอบางจังหวัดพูดเหน่อว่า "กระเซิ้ง" ต่อมาเกิดการกร่อนเสียง เหลือ "เซิ้ง" ก็เป็นได้
(มั่วล้วนๆ ไม่ได้มีหลักวิชาการทางภาษาศาสตร์แต่อย่างใด)
หรือถ้าคนที่ใช้ต้องการสื่อให้เกิดมโนภาพถึงการระบำแบบนั้นจริงๆ ก็คงไม่ได้สื่อความในลักษณะที่ดี ที่งดงาม แต่คงสื่อถึงการเซิ้งแบบมือสมัครเล่น เซิ้งแบบเซิ้งไม่เป็น แต่ตูจะเซิ้ง จนได้ท่าทางออกมาเหมือนผู้ป่วยลมชักอาการกำเริบ และจังหวะเพลงก็น่าจะเร็วระดับที่หัวใจเต้นใกล้ค่า maximal heart rate จนเท้าอยู่ไม่สุก ฟลอร์ลุกเป็นไฟ
ภาพของหมอเวรที่เจอภาวะวิกฤติของผู้ป่วยในยามกลางคืน สามารถเปรียบเทียบได้ง่ายดังนี้เอง (เซิ้งสมัครเล่นในเพลงที่โคตรเร็ว)
ยิ่งถ้าผู้ป่วยเกิดมีภาวะวิกฤติขึ้นพร้อมกันหลายๆคน ความรัวเร็วของการเซิ้งก็จะมากขึ้น ต่อไปนี้ขอให้เข้าใจ ว่าถ้าหมอคุยกันว่าเซิ้งมาทั้งคืน ไม่ได้หมายความว่าหมอโดดเวรไปดูหมอลำมาแต่อย่างใด เด้อค่ะเด้อออ
3. ซื้อ (ก.) : ในที่นี้ มีความหมายว่า ยอมรับ ตกลง เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการวินิจฉัยโรคใดโรคหนึ่ง "พี่ซื้อ MI ไหมคะ" หมายถึง "สรุปว่าพี่เห็นว่าผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดใช่ไหมคะ"
คำถามนี้มักเป็นคำถามที่มีทุกเช้าในการดูผู้ป่วย สาเหตุที่ต้องกันเยี่ยงนี้บ่อยๆ ก็เพราะผู้ป่วยมีเยอะหลายคน แต่ละคนก็มีปัญหากันคนละหลายอย่าง สลับซับซ้อน อีกทั้งปัจจุบันวิถีชีวิตคนเรามีปัจจัยที่เข้ามารบกวนธรรมชาติการดำเนินโรคมาก ทำให้หาอะไรที่ออกมาตรงตำรายากจริงๆ การดูคนไข้หลายๆคนอาจทำให้ผู้ที่อยู่ในทีมรักษาเกิดความสับสน เข้าใจไม่ตรงกันได้ การเช็คเสมอๆ ว่าเราซื้ออะไรกันแน่ในเคสนี้ จึงช่วยให้การทำงานเป็นไปในทางที่ตรงกันทั้งทีม ถ้าได้ยินหมอพูดซื้อๆกันบ่อยๆ เขาจึงอาจจะไม่ได้ shopping อยู่ก็เป็นได้
แต่ถ้าได้ยินเขาพูดว่า ซื้อเวรนั้นเวรนี้บ่อยๆ อันนั้นสันนิษฐานได้ว่าพี่หมอเขาคง shop หนักไปหน่อย เริ่มจะร้อนเงินละ 5555
4. ราวน์ (ก.) : อันนี้แอดเคยเจอกับตัว จู่ๆคุณป้าก็ถามว่า "คุณหมอจะไปเที่ยวกันเหรอจ๊ะ" ผมก็งง ถามป้าว่าทำไมป้าถึงคิดงั้น "เห็นหมอชวนกันไปลาวเรื่อยเลย ป้าเคยไปนะ หลวงพระบางสวย... บลาๆๆ"
5555 น่าร้ากกกก
ราวน์ในที่นี้ หมายถึง การเดินไปดูคนไข้ตามเตียงต่างๆ เพื่อติดตามอาการและวางแผนการรักษาของวันนั้น
ถือเป็นกิจวัตร เหมือนที่พระต้องออกบิณฑบาตเยี่ยงนั้น
การราวน์นั้นจะแบ่งเป็นรอบๆ รอบแรกสุดคือรอบของนิสิตแพทย์ซึ่งมักจะเริ่มตั้งแต่เช้า ช่วงเดียวกับที่ไก่กำลังกระสันอยากจะขันพอดี
นสพ.ต้องมาติดตามอาการของผู้ป่วยที่ตนเองรับผิดชอบก่อนใคร ในระหว่างนั้นจะเกิดเกมส์แย่งชิงเล็กๆระหว่างนิสิตแพทย์กับพี่พยาบาล นิสิตแพทย์จะต้องวิ่งแย่งชิงชาร์ตผู้ป่วยจากพี่พยาบาลที่ก็กำลังรีบกรอกข้อมูลหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
ภาพของการวิ่งราวน์ในทุกวันของนสพ. พร้อมกับฉกชาร์ตผู้ป่วยไปดู จึงได้กลายมาเป็นคำว่า "ฉกชิงวิ่งราวน์" ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวงการในสมัยปัจจุบัน (มั่วล้วนๆ)
หลังจากนสพ.ราวน์ของตัวเองเสร็จก็จะมีรอบสอง คือราวน์กับพี่อินเทิร์นหรือพี่เรสซิเด้นท์
ซึ่งรอบนี้นสพ.ก็จะได้เห็นพี่ๆสั่งการรักษาต่างๆ บางครั้งอาจมีรอบสาม คือรอบที่อาจารย์มาราวน์ด้วย
ความเร็วในการราวน์จะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ถ้าช้า อาจจะเกิดจากพี่เขา เป็นละเอียดรอบคอบจัดๆ คิดทุกปัญหาของผู้ป่วยอย่างถี่ถ้วน โดยส่วนมากการราวน์ของวอร์ดเด็กมักจะเป็นในลักษณะนี้
เวลา 75% ของการราวน์วอร์ดเด็ก จะอยู่กับการหันหัวจุ่มกันทั้งวงราวน์แล้ว กดเครื่องคิดเลขพร้อมกัน กดหนึ่งรอบ เช็คอีกรอบ บางคนอยากชัวร์มากๆก็เพิ่มอีกสักรอบ กดไปกดมา เกิดมีคนนึงในวงดันกดออกมาผลไม่เหมือนเพื่อน ก็จะได้เริ่มใหม่กันทั้งวง เป็นกงกรรมกงเกวียนไปไม่รู้จบสิ้น
ถ้าราวน์เร็วมากๆ ก็มักจะเป็นสาขาที่งานเยอะ ไม่ชอบอะไรจุกจิก ตระกูลศัลยกรรมทั้งหลายที่มีห้องผ่าตัดรออยู่ การราวน์มักจะเช้ามาก และสปีดเร็วมาก เพราะเขาก็ต้องรีบราวน์รีบเสร็จรีบวิ่งเข้าห้องผ่าตัดกัน
นสพ.มักจะชอบการราวน์ที่ไม่นานมาก เพราะยืนมาตั้งแต่ไก่โห่แล้ว แต่ถึงศัลยกรรมจะราวน์เร็ว สุดท้ายก็ไม่รอด ไปยืนตายกันต่อในห้องผ่าตัดอยู่ดี
สรุปคือนสพ.ล้วนทึ่งในความสามารถของพี่ๆและอาจารย์หมอมาก ที่ยืนกันได้ไม่รู้จักเหนื่อย จนบางทีนสพ.ก็แอบคิดว่าขาอาจารย์เป็นขาหลอกหรือเปล่า จริงๆแอบนั่งเก้าอี้อยู่แน่ๆ เส้นเลือดที่ขาของบรรดาหมอจึงมักไม่ค่อยเหลือรอด ต่างพากันขอดโดยมิได้นัดหมายอย่างน่าอัศจรรย์ ก็เพราะอะไรล่ะ หลักๆส่วนหนึ่งก็มาจากการราวน์นี่แหละ
ผู้ป่วยจ๋า ถ้าเห็นหมอแอบนั่งแกว่งขาบ้างอะไรบ้าง ก็อย่าถือกันเลยนะจ๊ะ ให้ขาหมอได้พักบ้างเถิด
ส่วนการราวน์ในช่วงเย็นก็จะเป็นเหมือนงานทิ้งท้ายของหมอๆในวันนั้น เป็นการทบทวนกันอีกรอบว่า หนึ่งวันที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่นอนอยู่ ปัญหาเป็นอย่างไร แล้วพรุ่งนี้เราจะทำไรกันต่อดี จะเห็นว่างานของหมอมีเยอะแยะ ไม่ได้มีแค่นั่งตรวจหน้าคอมดังที่มนุษย์โลกเข้าใจเด้อ
ถ้าเห็นอาจารย์หมอท่านลงมาตรวจสาย ก็อย่าไปถือโกรธพิโรธท่านเลย ท่านมาพานสพ.โง่ๆเดินดูคนไข้ให้นสพ.ได้ฉลาดตามท่านทุกเช้าตรู่นะครับ งานหนักกว่าจูงหมาไปเที่ยว ก็จูงนสพ.ไปราวน์นี่แหละ 555
5. อาเรส (ว.) : มาจากคำว่า cardiac arrest คือภาวะที่อธิบายง่ายๆคือ จะตาย หัวใจไม่ทำงาน คลำชีพจรไม่ได้ เป็นคำที่มีฤทธิ์คลายง่วงยิ่งกว่าคาเฟอีน และสามารถทำให้ใจหมอสั่นระรัวได้ยิ่งกว่ามีมาริโอ้กับณเดชมารุมนวดเท้าให้
การตะโกนว่า "หมอ มีคนไข้อาเรสว้อยยย" มีพลังทำให้หมอร้องไห้เป็นภาษาซิมบับเวแบบเฉียบพลัน พร้อมกับเสกความฝันที่จะได้นอนสักงีบในคืนนั้นให้กลายเป็นธุลีไปในพริบตา
ถ้าอยากเห็นหมอและพยาบาล "เซิ้งสามัคคี" กันทั้งคืน คำสั้นๆแค่สองพยางค์นี่แหละ ได้ผลชะงัด ทั้งนี้การช่วยชีวิตคนที่มีภาวะอาเรสนี้ แม้แต่คนทั่วไป ก็สามารถทำได้ เราเรียกมันว่า การซีพีอาร์ นั่นเอง ทั้งนี้มีคำที่สำคัญที่สุดอยู่สามคำ "กดหน้าอก กดหน้าอก กดหน้าอก"
ทั้งนี้จะกดอย่างไร ต้องอาศัยการฝึกฝน ในส่วนของความรู้เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังจ้า
ทั้งนี้มนุษย์ปุถุชนผู้ไม่เคยฝึกซีพีอาร์สามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้ง่ายๆ ด้วยการตะโกนร้องแรกแหกกระเชอว่า
"ช่วยด้วยมีคนหมดสติ เจ้าข้าเอ้ยยย"
และหาโทรศัพท์โทร " 1669"
หากใกล้ๆมีกล่องที่มีเครื่อง AED ให้นำมาใช้โดยด่วน และอย่าทำตัวเป็นไทยมุงเกินงาม มุงห่างๆ ให้ที่คนที่เขาช่วยได้เข้าไปช่วย เท่านี้ท่านก็สามารถมีส่วนช่วยคนที่อาเรสตามทางทุกหนแห่งได้จ้าา
#LittlePrinceTH.
1 บันทึก
5
2
1
1
5
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย