31 พ.ค. 2019 เวลา 11:00 • บันเทิง
ฟังไปแล้ว - Mellow Moods งานคัฟเวอร์ละมุนๆ อุ่นหูแบบ Soul After Six
​ออกอัลบัมแรกมาในปี 2539 ที่แม้จะไม่ใช่งานขายดีในแบบงานของวงป็อปหรือเพลงที่อยู่ในกระแส แต่ Soul After Six อัลบัมที่ใช้ชื่อเดียวกันกับวง ก็ทำให้แฟนเพลงที่กำลังหางานเพลงไทย ในรูปแบบใหม่ๆ แปลกหูได้สัมผัสกับสิ่งที่พวกเขาตามหา ขณะที่เรื่องรางวัลทางดนตรี คำชมจากนักวิจารณ์ก็มีมาให้ไม่ขาดสาย
​อัลบัมชุดต่อมาของณรงค์ฤทธิ์ และวิศรุตเทพ สุพรรณเภสัช กับศรุต วิจิตรานนท์ The Rhythm ออกมาในปี พ.ศ. 2545 ที่ตัวงานคลี่คลายมากขึ้น ซาวนด์ดนตรีมีความเป็นป็อปมากกว่าที่เคยเป็น แต่ถึงกระนั้น The Rhythm ก็ไม่ได้รับการตอบรับในวงกว้างไปกว่าที่ Soul After Six ได้รับ แม้ในเรื่องของรางวัล คำวิจารณ์ที่ดียังโอบกอดผลงานชุดนี้อย่างอบอุ่น ไม่แพ้กัน
​แต่หลังจากอัลบัมชุดนี้ แฟนๆ ที่ชอบดนตรีในแบบที่พวกเขาเป็น ก็ไม่ต้องรอกันนาน เมื่อโซล อัฟเตอร์ ซิกซ์ ปล่อยอัลบัมใหม่ ที่เป็นการนำเพลงเก่าๆ จากยุค 80 มาทำใหม่ในสไตล์ของพวกเขาทั้งชุด “รักเก่าๆ” ของวงสามหน่อ, “สัญญา” ของบ่น, “เข้าใจไปเอง” ของ System4, “อาลัย” ของ Grand ‘Ex, “หากคิดจะรัก...ก็รัก” ของอิทธิ พลางกูร, “ก็นอนไม่ค่อยหลับ” ของ Autobahn, “คำตอบ” ของ โยคี เพลย์บอย, “ข่าวของเธอ” ของบอย โกสิยพงษ์, “ยังไม่ชิน” ของระวิวรรณ จินดา และ “ยังมี” ของเฉลียง
​ซึ่งหากไล่เรียงดูทั้งหมดก็คือ เพลงที่ได้รับความนิยมกันอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็เป็นงานป็อปบัลลาดซึ้งๆ แต่เมื่อถูกปรับแต่งให้เป็นเพลงในแบบของโซล อาฟเตอร์ ซิกซ์ ทุกเพลงแม้จะแตกต่าง แต่ก็ฟังนุ่มนวลกลมกล่อม ละมุมละไม ให้ความรู้สึกฉ่ำๆ แบบผลไม้สุกอย่างที่ชื่ออัลบัมว่าเอาไว้จริงๆ โดยที่ยังอิงอยู่กับเมโลดีแบบเดิมๆ ของต้นฉบับ
​อย่าง “คิดจะรัก... ก็รัก” การปรับเปลี่ยนจังหวะจะโคนให้เป็นโซลป็อปสนุกๆ ไม่ใช่เพลงป็อป นุ่มๆ ฟังฝันๆ อย่างที่ต้นฉบับ ซึ่งร้องโดยอิทธิ พลางกูรเป็น
​“ยังมี” ที่ต้นฉบับติดกลิ่นบัลลาด ร็อคมาในเนื้องาน ก็ฟังคึกคักกว่าเดิม ในแบบเพลงที่ให้กำลังใจ มากกว่าจะเป็นการรอคอยอยู่ไม่ห่างเหมือนที่ได้ยินจากอัลบัม แบ-กบาล ของเฉลียง ตัวดนตรีมีลูกเล่นที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะงานในส่วนของริธึม อย่าง เบส เสียงแซ็กโซโฟนก็หยอกล้อไปกับเสียงร้องได้อย่างสนุก, “สัญญา” ก็หนักแน่น และแข็งแรงในสารที่สื่อออกมา ซึ่งต่างไปจากต้นฉบับของอนุชิต ‘บ่น’ จุรีเกษ อย่างเห็นได้ชัด
​แม้ซาวนด์ของงานฟังอาจจะให้ความ ‘รู้สึก’ เหมือนกำลังฟังงานป็อป-แจ๊ซซ์ ในแบบของชรัส เฟื่องอารมย์ แต่ในทางดนตรีก็มีความแตกต่างชัด ทั้งสีของฟังค์หรือโซลที่อยู่ข้างใน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ฟังแล้วไม่ได้ให้ความรู้สึกแบบ “สู้ของเก่าไม่ได้” แต่เป็นเรื่องของการทำให้เพลงเก่าๆ ที่อาจจะพ้นวัยไปบ้าง กลับมาพร้อมกับมุมมอง และความรู้สึกใหม่ๆ ที่ฟังแล้วยังจับใจไพเราะได้เหมือนเดิม
​ซึ่งไม่ได้แค่แสดงให้เห็นว่า เพลงเหล่านี้มีความแข็งแรงในเรื่องโครงสร้างหลักขนาดไหน แต่ยังแสดงถึงศักยภาพของโซล อาฟเตอร์ ซิกซ์ ที่สามารถจับเพลงที่ดีมาอยู่ในที่ทางของพวกเขาได้อย่างลงตัว และถ่ายทอดออกมาได้แสนกลมกล่อมอย่างที่เห็น
(โซล อาฟเตอร์ ซิกส์ จะมี คอนเสิร์ต “Soul After Six.. ความทรงจำของก้อนหิน..!” ที่สมาชิกทุกคนกลับมาขึ้นเวทีร่วมกันอีกครั้ง พร้อมแขกรับเชิญ เบน ชลาทิศ, มาเรียม B5 และบุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ พร้อมนักดนตรีระดับแนวหน้าของประเทศ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ รอยัลพารากอนฮอลล์ ซื้อบัตรที่ได้บูธไทยทิคเก็ทเมเจอร์ หรือที่ www.thaiticketmajor.com)
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง Mellow Moods งานคัฟเวอร์ละมุนๆ อุ่นหูแบบ Soul After Six คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2562
อ่านแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด้วยการกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
รำลึกถึงอัลบัมแรกของ Soul After Six อีกหนึ่งอัลบัมคุณภาพของวงการเพลงไทย >> https://www.blockdit.com/articles/5cd1c889867d63100d708c8c
โฆษณา