31 พ.ค. 2019 เวลา 14:58 • ท่องเที่ยว
จดหมายรักจากยุโรป [2]
25 มิถุนายน
เบอร์ลิน : นครหลวงแห่งเยอรมนี
ลูกรัก
ตอนนี้พ่ออยู่ตรงใจกลางของทวีปยุโรป พ่อมาถึงกรุงเบอร์ลินตั้งแต่หลายวันก่อน
เยอรมนี หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่าเยอรมันนั้น มีประชากรราว 82 ล้านคน ถือว่ามากที่สุดในสหภาพยุโรป กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีนั้น มีประชากรราว 3.4 ล้านคนในเขตเมือง ถือว่ามากที่สุดในเยอรมัน เบอร์ลินเป็นเมืองศูนย์กลางของยุโรป ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะทางการเมือง วัฒนธรรม สื่อสารมวลชน และวิทยาการต่างๆ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางรถยนต์ และทางรถไฟในโซนยุโรป
นั่นคือ เมื่อพ่อมาถึงเบอร์ลินแล้ว พ่อสามารถเดินทางไปต่อยังประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป ที่เรียกกันว่า "ยูโรโซน" ได้ถึง 17 ประเทศอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพราะเยอรมนีมีชายแดนติดกับประเทศอื่นๆ ถึง 9 ประเทศ คือเดนมาร์ก, โปแลนด์, เช็กเกีย, ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, ลักเซมเบิร์ก, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ระหว่างนี้พ่ออยู่ในกรุงเบอร์ลิน จึงอยากจะเล่าเรื่องของเบอร์ลินมากมายให้ลูกรักของพ่อฟัง
ในช่วงเวลาหนึ่งอาทิตย์ที่อยู่ในเบอร์ลินนั้น พ่อมาเดิน ณ ใจกลางกรุงเบอร์ลิน 2 รอบ จุดแรกที่พ่อไปเยือนวันแรก คือ จัตุรัสอเล็กซานเดอร์ หรืออเล็กซานเดอร์พลาทซ์ [Alexanderplatz] ซึ่งเป็นย่านดาวน์ทาวน์ที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของเบอร์ลิน บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของขนส่งมวลชนในเบอร์ลิน เป็นย่านที่ผู้คนมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ และเดินจับจ่ายใช้สอยกันอย่างพลุกพล่าน ว่ากันว่า วันหนึ่งๆ มีผู้มาสัญจรในย่านนี้มากถึง 360,000 กว่าคนต่อวัน บริเวณนี้มีหอคอยเบอร์ลิน หรือ Berlin TV Tower สูง 368 เมตร เป็นแลนด์มาร์ค ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้จากทุกทิศทาง นอกจากนี้ยังมีนาฬิกาโลก ซึ่งเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ขึ้นชื่อของเบอร์ลิน ใครไปใครมาก็มักจะแวะไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเสมอ
จากจุดเริ่มต้น "อเล็กซานเดอร์พลาทซ์" นี้ เราสามารถเดินชมตัวเมืองและสถานที่สำคัญๆ ของเบอร์ลินได้หลายเส้นทาง วันแรกพ่อเดินลัดเลาะไปตามถนน ที่เลียบเลาะไปตามแม่น้ำสเปร ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเบอร์ลิน ริมถนนจะมีกำแพงเบอร์ลิน ที่เขานำมาตั้งโชว์ไว้เป็นแนวยาวให้ผู้คนที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศได้มาศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเยอรมนีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
ลูกครับ... กำแพงเบอร์ลิน หรือ Berlin Wall ภาษาเยอรมันเรียก Berliner Mauer เป็นกำแพงที่สร้างขึ้นช่วงสงครามเย็น เพื่อปิดกั้นพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันตก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีตะวันตก กับเยอรมนีตะวันออกที่โอบล้อมอยู่โดยรอบ ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่เยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 เยอรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คือ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย หรือเยอรมันตะวันตก ปกครองโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส มีกรุงบอนน์เป็นเมืองหลวง กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรือเยอรมันตะวันออก ปกครองโดยสหภาพโซเวียต มีกรุงเบอร์ลินตะวันออกเป็นเมืองหลวง กำแพงเบอร์ลินยาว 155 กิโลเมตร ถูกสร้างขึ้น ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2504 [ค.ศ. 1961] เพื่อกั้นผู้คนในกรุงเบอร์ลินออกเป็น 2 ฝ่าย ถึง 28 ปี ก่อนที่มันจะถูกทลายลง ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 หรือ 29 ปีที่ผ่านมานี่เอง
ลูกรัก... เพราะความขัดแย้งกันทางความคิด ความเห็น และความเชื่อทางการเมือง ชาวเยอรมนีจึงถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ถูกห้ามไปมาหาสู่กัน ในเยอรมนีตะวันออก [ฝ่ายคอมมิวนิสต์] กำแพงเบอร์ลิน คือ ปราการที่มั่นคงและเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านทุนนิยม สำหรับโลกเสรีแล้ว มันคือสัญลักษณ์ของความขัดแย้ง ระหว่างทุนนิยมของยุโรปตะวันตก ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา กับคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออก ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต หรือที่เราเรียกกันว่า "ยุคสงครามเย็น" นั่นเอง
ลูกครับ... สำหรับชาวเยอรมันทั่วไป และประชาคมโลกในระบบประชาธิปไตยนั้น กำแพงเบอร์ลินเปรียบเสมือนปราการที่มาปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในแทบทุกๆ ด้าน ว่ากันว่า กำแพงเบอร์ลิน เป็นกำแพงแห่งเดียวในโลกที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อปิดกั้นประชาชนในประเทศของตนจากโลกภายนอก ในขณะที่กำแพงเมืองอื่นๆ ทั่วโลกนั้น มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้ามารุกรานเสรีภาพของชาวเมือง
ลูกรู้ไหม.. ว่าหลังจากเขาสร้างกำแพงเบอร์ลินแล้ว เขาก็ห้ามคนเยอรมันไปมาหาสู่กัน แม้จะเป็นญาติพี่น้องกันก็ตาม หากใครฝ่าฝืนและถูกจับได้ มีโทษสถานเดียว คือ ถูกยิงทิ้ง ณ บริเวณกำแพงนั้นนั่นเอง ตลอดระยะเวลา 28 ปีมีผู้เสียชีวิตที่กำแพงเบอร์ลินขณะหลบหนี เท่าที่มีบันทึกไว้ถึง 206 คน และที่ไม่ได้รับการบันทึกไว้อีกนับไม่ถ้วน
ลูกรัก... พ่อดูแล้ว กำแพงเบอร์ลินก็ไม่ได้สูงมากนัก แต่ในความรู้สึกของผู้คนในยุคนั้นมันคงจะสูงเสียดฟ้าก็มิปาร ทั้งที่มันสูงแค่ 3.6 เมตร เป็นแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป กว้าง 1.2 เมตร ที่นำมาต่อๆ กัน เขาว่ามีถึง 45,000 แผ่น ที่ถูกนำมาเรียงต่อกันเป็นแนวรอบกรุงเบอร์ลินตะวันตก หลังจากสิ้นยุคสงครามเย็น กำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลายลง ส่วนหนึ่งถูกอนุรักษ์ไว้ บางส่วนถูกประมูลไปไว้ตามที่ต่างๆ บางส่วนถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ และสถานที่สำคัญ ๆ อีกหลายแห่ง อาทิ ด้านหน้าสภายุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พิพิธภัณฑ์นิวเซียม กรุงวอชิงตันดีซี พิพิธภัณฑ์จอห์น เอฟ เคนเนดี และพิพิธภัณฑ์โรนัล เรแกน ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ส่วนที่พ่อมาเดินชมนี้ถูกนำมาเรียงต่อกันไว้ข้างถนนริมฝั่งแม่น้ำสเปร เปิดพื้นที่ให้ศิลปินทั้งหลายไว้มาฝากฝีไม้ลายมือกันจนเต็มข้างกำแพงเลยทีเดียว
ลูกรัก... พ่อเดินลัดเลาะมาจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำสเปร ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งแล้วนั่งรถชมเมือง และเดินไปดูสถานที่สำคัญอีกหลายจุด เช่น บริเวณเสานางฟ้า, ประตูบรันเดนบูร์ก, มหาวิหารเบอร์ลิน, เบอร์ลินโดม หรืออาคารรัฐสภาหลังเก่า และอาคารรัฐสภาหลังใหม่, อนุสรณ์สถานชาวยิวที่ถูกสังหารในยุโรป, มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของเบอร์ลิน, สถานที่พรรคนาซีของฮิตเลอร์นำหนังสือมาเผาทำลาย, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาตร์, พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และสถานที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งแต่ละที่แต่ละแห่งนั้นล้วนแล้วแต่อลังการงานสร้าง ที่สำคัญมันมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ที่เชื่อมโยงกับบุคคลสำคัญระดับโลก อย่าง "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ถูกเก็บงำแลซุกซ่อนเอาไว้ในซอกมุมแห่งประวัติศาสตร์ ของโลก ทำให้พ่อกระหายใคร่รู้ และอยากสืบค้นเรื่องราว เอาไว้พ่อจะนำมาบอกเล่าให้ลูกฟังในฉบับต่อๆ ไป
ลูกรัก... "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" เขาเป็นใคร ทำไมเขาถึงกลายเป็นบุคคลอันตรายที่ถูกห้ามพูดถึงในเยอรมนี ทั้งๆ ที่เขาสร้างคุณูปการมากมายให้กับแผ่นดินเยอรมัน เขาเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ ที่ชาวเยอรมันรักเพียงใด ก็ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะเอ่ยนามของเขาออกมาในที่ชุมชน เอาไว้มีเวลาว่างๆ พ่อจะกลับมาเล่าให้ลูกฟังนะครับ
รักลูกเสมอ
จากพ่อ
#ทำมะจาริก #ท่องเที่ยว #หัวใจออกเดิน #จดหมายรักจากยุโรป #บันทึกการเดินทาง #จดหมายรักจากเยอรมัน #นครหลวงเบอร์ลิน #กำแพงเบอร์ลิน #อดอล์ฟฮิตเลอร์
@ เยอรมนี 🛵🚶
โฆษณา