31 พ.ค. 2019 เวลา 16:22 • การศึกษา
ทำไมเห็ดเผาะถึงแพงจัง ?
เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฏาคม หรือบางปีอาจจะยาวนานกว่านั้น ฟ้าฝนเริ่มเป็นใจทำให้ช่วงนี้ "เห็ดเผาะ" หรือ ทางเหนือจะเรียกว่า "เห็ดถอบ" หรือ Puff Ball Mushroom ชื่อสามัญ Hygroscopic earthstar วงศ์ Diplocystaceae เป็นเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal)
ก็จะผุดออกมาจากดิน เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก อย่างช่วงนี้แม่ค้าเค้าจะขายกันโดยมากเป็นลิตร ซึ่งตกอยู่ที่ลิตรละ 250-300 บาท ถ้าเป็นช่วงแรก ๆ อาจจะมีราคาที่แพงกว่านี้มาก
ทำไมมันถึงราคาแพง ?
1. หายาก เป็นเห็ดที่หาค่อนข้างที่จะยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มันเริ่มออกมาใหม่ ๆ โดยปรกติเห็ดเผาะจะอยู่ใต้ดินประมาณ 1-2 เซนติเมตร การที่ชาวบ้านจะเข้าไปหาได้นั้น
จะต้องใช้อุปกรณ์ เช่น ช้อน ทัพพี หรืออะไรก็ได้ที่สามารถขูดดินได้
จากนั้นชาวบ้านจะมองหารอยแตกหรือรอยแยกเล็ก ๆ แล้วแต่ความชำนาญ ขุดหาไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงเห็ดทัฟเฟอร์ไปเลย ว่าทำไมถึงแพง แต่เห็ดทัฟเฟอร์แพงกว่ามาก บางคนชำนาญในการหาก็ได้มาเยอะหน่อย แต่คนที่ไม่มีความชำนาญอาจจะไม่ได้ติดไม้ติดมือมาเลย
2. ขึ้นเฉพาะป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังเท่านั้น ป่าสองแบบที่ว่ามา อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานเกือบทั้งหมด
อันนี้ต้องย้อนให้ไปดูที่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตสมันมัธยมปลายกันก่อน เห็ดเผาะกับต้นไม้เฉพาะ จะมีความสัมพันธ์กันแบบ “ภาวะพึ่งพาอาศัย (Mutualism) (+,+)”
3. ภาวะพึ่งพาอาศัย แปลว่าอะไร แปลว่าการที่เห็ดเผาะจะขึ้นที่ไหนได้จะต้องมีต้นไม้ที่คอยช่วยเหลือกันและกัน
เห็ดเผาะเป็นเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal) ที่เจริญเติบโตร่วมกับต้นไม้ประมาณ 5 ชนิด มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างรากต้นไม้และกลุ่มใยราของเห็ดรา เห็ดช่วยต้นไม้สกัดสารอาหาร (โดยเฉพาะฟอสฟอรัส) จากผืนดิน
ในทางกลับกัน เห็ดจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของต้นไม้ เมื่อไหร่องค์ประกอบที่ว่ามาไม่ครบ เห็ดก็จะไม่ออก
 
4. ต้นไม้ 5 ชนิด นั้นหายาก ได้แก่
4.1 ต้นเหียง (Dipterocarpus obtusifolius Teijsm.ex Miq) ตระกูลเดียวกับต้นยางนา (มีคนเพาะกับต้นยางนาได้สำเร็จ แต่ปริมาณที่ได้ไม่มากพอ)
ต้นเหียง
4.2 ต้นตึง (D. tuberculatus Roxb.)
ต้นตึง
4.3 ต้นแข้งกวาง (Wendlandia tinctoria A.DC.)
ต้นแข้งกวาง
4.4 ต้นกระพี้ (Millettia brandisiana Kurz)
ต้นกระพี้
4.5 ต้นก่อ (Quercus kingiana Craib)
ต้นก่
5. รสชาติ ที่อร่อยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากเห็ดเผาะผิวข้างนอกจะกรอบ ช้างในจะมันและนุ่ม เมื่อนำมาทำอาหาร ทั้งต้มจิ้มกับน้ำพริกข่า แกง ผัด ทำได้สารพัดเมนู
6. มีสรรพคุณทางยา เห็ดเผาะมีสรรพคุณ ไม่ว่าจะเป็น ช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการช้ำใน ลดอาการบวมหรืออักเสบ แก้ร้อนใน เป็นต้น
เห็นไหมครับว่ากว่าจะมาเป็นเห็ดเผาะให้เราได้กินกันไม่ง่ายเลย และยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจึงทำให้ราคาค่อนข้างแพง
่สุดท้ายอยากฝากไว้ การเผาป่าไม่ได้ช่วยให้เห็ดเผาะออกมามากกว่าเดิม แต้ซ้ำจะเป็นการไปทำให้มันออกมาน้อยกว่าเดิม เพราะสปอร์ของเห็ดถูกเผาไปจนหมด
โดยสิ่งรอบตัว ถ้าชอบฝากติดตามด้วยนะครับ
อ่านได้ต่อที่ http://www.samneukdee.com/
โฆษณา