1 มิ.ย. 2019 เวลา 13:19 • การศึกษา
กุ้งเครย์ฟิช Cherax lorentzi กุ้งเครย์ฟิชสีเเวววาวแสนน่ารัก
กุ้งเครย์ฟิช Cherax lorentzi ( คำนิยามโดย Roux, 1911 ) เป็นกุ้งเครย์ฟิช ที่ถูกจัดหมวดหมู่ จากหน่วยงาน Scientifically inadequate designation kreef ( ซึ่ง Kreef มีความหมายเดียวกับ Crayfish ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1905กุ้งเครย์ฟิช สายพันธุ์นี้ มีความยาวของลำตัวได้ประมาณ 16 เซนติเมตร และมีแหล่งกระจายพันธุ์อยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ที่บริเวณ ทางตะวันตก และ ตะวันตกเฉียงเหนือของ ของพื้นที่แถบปาปัวนิวกินี บริเวณ แม่น้ำ Lorentz ทางด้านตะวันตกของอ่าว Geelvink และ ในอ่าว Etna ทางด้านล่างของภูเขา Charles Louis , ในแม่น้ำ Mimika และ บริเวณหมู่เก่า Regen และ Bivak จึงนับว่าเป็นกุ้งเครย์ฟิช ที่มีการกระจายประชากร อยู่ในหลายพื้นที่ของแถบปาปัวนิวกินีเลยทีเดียว
เมื่อแรกเห็นกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้นั้น หลายๆ ท่านอาจจะหวนคิดคำนึงถืงญาติในตระกูลเดียวกัน อย่าง Cherax quadricarinatus เป็นรายชื่อแรก ๆ ที่แว่บเข้ามาในความคิด แต่ช้าแต่ เขาแห่ยายมา.... กุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้ ก็ยังมีความแตกต่าง จากญาติๆ ของมันเอง อย่าง Cherax quadricarinatus อยู่บางส่วน เช่น ในส่วนของก้าม จะมีลักษณะที่โค้งเป็นมุมมากกว่า และ สีสันของลำตัวจะมีความสดใส แวววาวมากกว่า อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะที่เปลือกส่วนห่าง และ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ คือในส่วนที่เป็นขอบของก้าม ( หรือ ที่นิยมเรียกว่า นวม ) ที่มีสีสันสดใสนั้น จะมีความอ่อนนุ่ม ไม่ได้แข็งเหมือนกับกุ้งเครย์ฟิชหลายๆชนิดครับ ส่วนสีสันของลำตัว จะมีได้หลากหลายสี ขึ้นกับสภาพแวดล้อม และ อาหารที่กุ้งกินไป
และเหมือนกับกุ้งเครย์ฟิช สาย C ญาติๆชนิดอื่นๆ เช่นเดียวกันครับ กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ ยังมี สายพันธุ์ย่อยอีกหนึ่งสายพันธุ์ ก็คือ Cherax lorentzi , Cherax lorentzi aruanus ( Roux, 1911 ) ซึ่งสำหรับสายพันธุ์นี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเกาะ Aroe ( พื้นที่ Trangan และ Kobroor ) ของพื้นที่ทาง ตะวันตกเฉียงใต้ ของนิวกีนี ซึ่งสามารถแบ่งแยกสายพันธุ์ย่อยนี้ได้ โดยการสังเกตลักษณะที่แตกต่างกันอยู่บางประการ เช่น ที่ส่วนกรีของกุ้ง Cherax lorentzi aruanus นี้จะเรียวและบางกว่า และ ส่วนก้ามก็จะ กว้างกว่าเล็กน้อยเป็นต้น
นิสัยกุ้งชนิดนี้ ค่อนข้างขี้อาย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเลี้ยงร่วมกับ ปลา หรือ หอยต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาศัยหากินอยู่ตามพื้นก้นตู้ เพราะอาจจะตกเป็นเหยื่อของกุ้งชนิดนี้ได้ เนื่องจากว่า หอย หรือ ปลาที่อ่อนแอนั้น คืออาหารตามธรรมชาติของกุ้งชนิดนี้ สำหรับการผสมพันธุ์ หลังจากการผสมพันธุ์กันเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้กับตัวเมีย จะอาศัยอยู่ร่วมกันซักระยะหนึ่ง ตัวเมีย จะใช้เวลาในการฟักไข่ อยู่ที่ประมาณ 6 สัปดาห์ และ ตัวเมีย จะคอยอยู่ใกล้ๆ ดูแลลูกอ่อน อีกซักระยะ โดยประมาณได้ซัก 2 สัปดาห์ ก่อนลูกกุ้งจะเติบโต และ แยกย้ายกันไป ปริมาณของไข่ จะอยู่ที่ประมาณ 50 – 70 ฟองโดยประมาณ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว จะค่อนข้างน้อยกว่ามากพอสมควร ถ้าเทียบกับญาติๆของมันบางชนิด เช่น กุ้งก้ามแดง ( Cherax quadricarinatus ) และ สามารถจะผสมพันธุ์วางไข่ได้ 3 – 4 ครั้ง ต่อปี ในการที่จะประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์กุ้งชนิดนี้นั้น ควรจะต้องจัดเตรียมคุณภาพน้ำให้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะปริมาณของอ็อกซิเจน ควรจะมีอยู่สูงในน้ำครับ หลังจากนั้น จึงนำกุ้งพ่อและแม่พันธุ์นำลงไปผสมเข้าคู่กัน และคอยสังเกตว่าตัวเมียนั้นท้องแล้วหรือยัง ถ้าท้องแล้ว ก็สามารถแยกตัวผู้ออกไปได้ และ รอขุนลูกกุ้งที่กำลังจะออกมาต่อไป
ในปัจจุบันท้องตลาดบ้านเรา มีกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้จำหน่ายอยู่เป็นบางระยะครับ สนนราคาตอนนี้ ถือว่ายังสูงกว่า ญาติๆของมันอย่างกุ้งก้ามแดง Cherax quadricarinatus อยู่พอสมควร และ มีการนำกุ้งเครย์ฟิชสองชนิดนี้มาทำการผสมเป็นลูกผสมด้วย ซึ่ง สีสันของตัวกุ้ง ก็จะมีลักษณะที่ผสมผสานกันไป ของกุ้งเครย์ฟิช สองชนิดนี้ครับ
เรื่อง : กษิดิศ วรรณุรักษ์
เครดิตภาพ :Christ Lukhaup
SMF 2.0.15 | SMF © 2011, Simple Machines
SMFAds for Free Forums
Designed by Lerm Nattporn.
CrayfishThailand ©
โฆษณา