1 มิ.ย. 2019 เวลา 14:48 • ครอบครัว & เด็ก
รู้ไหม อยากได้ ยาดี ! เวลาไปซื้อยาต้องทำยังไง ?
วันนี้ผมจะมาเล่าความลับของเภสัชกรร้านยาให้คุณฟัง ว่าเวลาอยากได้ยาดีๆ ตรงโรค ตรงอาการต้องทำยังไง !!
เริ่มกันที่คำว่า "ยาดี" กันก่อนเลย
ยาดี ไม่ใช่ยาแพง ไม่ใช่ยานอก ไม่ใช่ยาที่เพื่อนข้างบ้านบอก ไม่ใช่โฆษณา
แต่ !! ยาดี คือยาที่ตรงโรค ตรงขนาด ตรงอาการ และเหมาะกับคุณ !!
นี่แหละครับยาที่ดีที่สุด เพราะถ้าคุณได้ยาที่ตรงกับอาการที่คุณมี ถูกขนาด ถูกโรค ถูกระยะเวลาการรักษา ราคาเหมาะสม นี่แหละครับยาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
แล้วทำยังไงถึงจะได้ยาที่เหมาะสมและดีกับคุณที่สุด เวลาไปซื้อยา ?
ผมแนะนำดังนี้ครับ
1. บอกว่าคนที่ใช้ยาคือใคร บางคนมาซื้อ บอกอาการมายาวเหยียด พอตอนจะจ่ายยาอ่าวสรุปซื้อให้อีกคนท้องอยู่ แบบนี้เสี่ยงที่คนกินยาจะได้ยาที่อันตรายเลยนะครับ บอกเภสัชไปเลยครับ ใช้เองหรือซื้อให้ใคร
2. บอกอาการทั้งหมดที่มี ย้ำ ! ว่าทั้งหมดที่มี เช่น เป็นหวัด อย่าบอกแค่หวัด หวัดที่ว่ามีอาการยังไง ไอ ไข้ น้ำมูกไหล จาม บอกให้ละเอียดที่สุด เพื่อที่คุณจะได้ยาที่ครอบคลุมอาการมากที่สุด
3. หากมียาที่ใช้อยู่ให้แจ้งด้วยว่ามียาที่ใช้อยู่ เพื่อป้องกันการได้ยาซ้ำ ป้องกันยาตีกัน แอดเคยเจอเคสหนึ่งปวดเข่าเรื้อรังชอบซื้อยาหลายๆที่ทั้งร้านยา คลินิก โรงพยาบาล
แต่ละครั้งที่ไปซื้อยาที่ใหม่ๆก็จะไม่บอกว่าตัวเองกินยาอะไรอยู่ ก็จะซื้อมาจากหลายๆที่แล้วเลือกกิน ปรากฎว่าผู้ป่วยรายนี้กินยาซ้ำกันถึง 3 ตัว !! ไตไม่วายก็บุญแล้วแม่จ๋า
อย่าลืมนะครับ มียาอะไรใช้อยู่ต้องแจ้งเภสัชทุกครั้งก่อนซื้อยา
4. มีโรคประจำตัว แพ้ยา หรือภาวะสุขภาพบางอย่างผิดปกติอยู่ต้องแจ้ง เช่น ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร เตรียมผ่าตัด กระเพาะเป็นแผล พวกนี้ต้องแจ้งนะครับ
เพราะอะไร
เพราะยาหลายตัวมากที่อาจส่งผลต่อโรค หรือภาวะต่างๆเหล่านี้ หรือยาบางตัวสามารถแพ้ข้ามกันได้ ใช่ว่าเราแพ้ยาตัวนี้จะกินยาตัวอื่นๆได้ปลอดภัย ไม่ใช่นะครับ ดังนั้นต้องแจ้งเภสัชกรเสมอ
5. ยี่ห้อ ราคาที่ต้องการ อยากได้ยี่ห้ออะไรเป็นพิเศษแจ้งได้เลยครับ หรือไม่เอายานอกเอายาไทยก็แจ้งได้เช่นกัน
เพราะเรื่องราคาและยี่ห้อเป็นสิทธิของผู้บริโภคครับ แต่ยาดังกล่าวต้องตรงข้อบ่งใช้นะครับ ไม่ใช่มาขอซื้อ ZIthromax (ยาฆ่าเชื้อ) เพราะคันคอ นี่ก็คงไม่ถูกต้อง และคงได้ "ยาไม่ดี" ไปใช้แทน "ยาดี"
6. หยุดพฤติกรรมเรียกหา รู้ไหมครับจากประสบการณ์มีหลายครั้งมากที่ลูกค้ามาเรียกหายาตามยี่ห้อบ้าง ตามข้อมูลที่ได้จาก internet บ้าง
ถ้าเข้าร้านที่โชคดีมีเภสัชถามอาการก็ดีไปครับ เพราะยาที่คุณเรียกหาอาจไม่ตรงกับอาการที่คุณมีก็ได้
แต่ถ้าคุณไปร้านที่มีเภสัชไม่สนใจ เขาก็จะจ่ายๆยาให้คุณเก็บตัง โดยไม่ต้องมาเสียเวลาอธิบายอะไรเลย และคุณอาจได้ยาที่ไม่ตรงโรคกลับไป
เช่น คุณไปอ่านเจอว่ายานี้แก้โรคกระเพาะได้จากโฆษณาเลยมาซื้อกินเอง กินมาเป็นเดือนก็เป็นๆหายๆ เพราะมันเป็นแค่ยาบรรเทาอาการไม่ใช่ยารักษา มันก็เลยไม่หาย
ถ้าคุณปรึกษาเภสัชคุณอาจจะได้คำแนะนำดีๆ รวมถึงได้ยารักษามาทาน ถามเขาเถอะครับ เขาอยู่ให้คุณถามโดยไม่ได้เงินจากค่าตอบคำถามเลย ดีออกครับ ถามคนที่มีความรู้คอยช่วยดูแลคุณ
7. หยุดไปร้านยาที่ไม่มีเภสัช อันนี้หลายคนบอก "ยาก" เออใครอยู่ในย่านที่มีแต่ร้านเลวๆพวกนี้ก็ต้องทำใจครับ ไปซื้อไกลหน่อย หรือตามร้านในห้างร้านพวกนี้มีเภสัชแน่นอน
การซื้อร้านยาที่ไม่มีเภสัชก็ง่ายดีครับ อยากได้อะไรเขาหยิบให้หมด หยิบสารเคมีให้คุณกินอร่อยเลย กินอะไรเข้าไป กินได้มากแค่ไหน คุณกินได้ปลอดภัยจริงไหม ไม่มีใครช่วยเลือกให้คุณนะครับ ก็อยู่ที่คุณเลยว่าจะเลือกเข้าร้านแบบไหน
ร้านยาที่เภสัชถามเยอะๆ ร้านที่ไม่ยอมจ่ายยาบางตัวที่คุณอยากได้ให้คุณทุกครั้ง จงรักร้านเหล่านั้นครับ
การที่เขาถามนั่นคือเขาอยากให้คุณได้ยาที่ "ดีที่สุด" เขาจะไม่ถามก็ได้จริงไหมครับ ถามเยอะก็ไม่ได้เงินเพิ่ม เขาจะจ่ายยาที่คุณอยากได้ไปเลยก็ได้ ทำไมเขาไม่จ่ายให้คุณ ทั้งๆที่ขายให้คุณเขาก็ได้เงินแล้ว
แต่ร้านไหนที่ซื้อมาขายไป ไม่ถามอะไรสักคำ หยิบยาทุกตัวที่คุณอยากได้แล้วจ่ายให้คุณแลกกับเงินและรอยยิ้มสวยๆ
ร้านนั้นบอกเลยครับว่าเขาไม่ห่วงคุณเลย เขาแค่อยากได้เงินของคุณ คุณจะเอาไปกินยังไงก็เรื่องของคุณ เขาไม่สนหรอกครับ เขาได้เงินคุณแล้ว
ยานะครับ คือสารเคมี ไม่ใช่ขนมหรืออาหารทั่วไป ไม่งั้นจะมีเภสัชกรในร้านยาทำไม ไม่งั้นพวกเขาจะเรียนมาถึง 6 ปี เพื่อมาดูแลการใช้ยาทำไม
หลายคนไม่รู้นะครับว่าพวกเขาเรียนตั้งแต่ สารสำคัญ กระบวรการสร้าง ผลิต และการออกฤทธิ์ในร่างกายมนุษย์ เภสัชไม่ได้เรียนแค่จำชื่อยา พวกเขาพร้อมจะส่งมอบยาที่ดีที่สุดให้กับคุณเสมอ
และนี่ก็คือเทคนิคการซื้อ "ยาดี" จากร้านยา หวังว่าหลังจากนี้ชาวเพจจะได้ยาดีไปกินทุกคนนะครับ แต่ดีที่สุดคือรักษาสุขภาพจะได้ไม่ต้องใช้ยาบ่อยๆ
#เก๊าเป็นห่วง
- ว่าด้วยยาและการตลาด
โฆษณา