4 มิ.ย. 2019 เวลา 03:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รถว่ายลม
เมื่อวิศวกรลอกธรรมชาติ
ธรรมชาติเป็นเหมือนแอ่งแรงบันดาลใจขนาดใหญ่ที่ถูกตักตวงได้อย่างไม่รู้หมดสิ้น มนุษย์เราจึงไม่เคยพร่องงานสร้างสรรค์
ลีโอนาโด ดาวินชี ศิลปินและนักประดิษฐ์อัจฉริยะผู้ดื่มด่ำกับการศึกษาธรรมชาติถึงกับกล่าวไว้ว่า “ ไม่มีผู้ใดสามารถประดิษฐ์คิดค้นได้งามไปกว่าธรรมชาติ เพราะผลงานของธรรมชาตินั้นไม่มีขาดเขินหรือส่วนเกินแม้แต่น้อย ”
จึงไม่น่าแปลกที่งานออกแบบมากมายจะได้รับอิทธิพลจากรูปร่างรูปทรงในธรรมชาติมาเต็มๆ
เมื่อบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ ริเริ่มจะสร้าง concept car ขึ้นคันหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างๆแขนง ทั้งนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพจนถึงนักวิจัยด้านยานยนต์ก็ไหลมารวมกัน
Concept car นั้นต่างจากรถที่วิ่งตามท้องถนนก็ตรงที่ มันไม่ได้ถูกสร้างมาไว้ขาย การสร้าง Concept car ไม่ได้จับจ้องไปที่ผลประโยชน์เชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตปริมาณมหาศาลเป็นหลัก แต่พวกมันถูกสร้างมาเพื่อแสวงหาสไตล์ใหม่ๆด้านการออกแบบ ,การผสานเทคโนโลยีที่น่าสนใจให้เข้ากับรถยนต์ หรือแม้แต่การพยายามขยับขยายนิยามของรถยนต์ให้มีมิติที่กว้างขวางขึ้น
ที่มารูป.www.greencarsite.co.uk/CONCEPTCARS/Mercedes-BioFish.htm
Concept car ของ เมอร์เซเดส – เบนซ์ คันนี้มีชื่อว่า Bionic car (รถชีวภาพ) มันได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก Boxfish ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยในแนวปะการังแถบแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
รูปร่างหน้าตาของปลาชนิดนี้ออกจะน่ารักไม่เบา เพราะนอกจากตาจะโตบ้องแบ๊วและมีลายจุดๆแสนสดใสตามตัวสีเหลืองเหมือนหลุดออกมาจากการ์ตูนดิสนีย์แล้ว ตัวมันยังป่องออกเป็นกระเปาะรูปสี่เหลี่ยมเห็นแล้วนึกว่าเผลอกลืนกล่องลงไปในท้อง แถมเวลาว่ายน้ำครีบยังกระพือดุ๊กดิ๊กๆด้วย
ที่มารูป.www.crystaldive.com/blog/yellow-boxfish/
ทำไมวิศวกรของเมอร์เซเดส – เบนซ์ มองมาที่เจ้า Boxfish แทนที่จะเป็นปลาที่ปราดเปรียวอย่างฉลาม?
 
ทั้งนี้เพราะธรรมชาติการว่ายหลบหลีกสิ่งกีดขวางตามปะการังและในดงสาหร่ายของมันช่างเหมาะเจาะกับวิถีชีวิตรถราในเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง อีกทั้งมันยังสามารถเคลื่อนไหวได้ดีในพื้นที่จำกัดเพื่อหาอาหารและหลบหลีกศัตรู
พูดได้ว่ารูปร่างพองๆของมันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการว่ายน้ำหรือใช้ชีวิตเลย ตรงกันข้ามเสียอีกเพราะกระดูกและโครงสร้างภายนอกของมันแข็งแกร่งเหมือนเกราะที่รับแรงดันและปกป้องร่างกายจากการบาดเจ็บจากเวลาเผลอว่ายชนโน่นนี่ได้ดี แถมลักษณะของกล่องยังช่วยในการทรงตัวแม้ในบริเวณที่กระแสน้ำปั่นป่วน
ที่มารูป.www.researchgate.net
เหล่าวิศวกรในงานนี้มองไปที่การค้นหารูปทรงที่ลดแรงต้านอากาศให้น้อยที่สุด แล้วก็เป็นดังคาด
เมื่อรถที่ถูกออกแบบตามลักษณะของ Boxfish มีแรงต้านอากาศน้อยมาก น้อยกว่ารถที่วิ่งตามท้องถนนโดยเฉลี่ยถึง 65 % แม้ไม่ถึงกับน้อยที่สุดในโลกแต่เมื่อเทียบกับปริมาณความสามารถในการบรรจุของในตัวรถแล้วก็ถือว่ายอดเยี่ยม
ผลลัพธ์ที่ได้คือรถทรงน่ารักที่มีประสิทธิภาพเจ๋งๆหลายด้าน
ที่มารูป.http://www.themakine.com
น่าทึ่งที่เทคโนโลยีถูกผสานกับธรรมชาติไว้ในงานออกแบบ Bionic car ได้อย่างลงตัว จนบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าความคิดดีๆอาจไม่ได้อาศัยอยู่ในห้องสมุด มหาวิทยาลัยหรือตามห้องวิจัยเท่านั้น
แต่อาจอยู่ซุกตัวในสนามหญ้า เตร่อยู่ในป่าเขา
และว่ายอยู่ในท้องทะเล
โฆษณา