4 มิ.ย. 2019 เวลา 11:59 • ประวัติศาสตร์
ปฏิบัติการสายฟ้าฟาด
ภารกิจชิงตัวประกันเอนเทบเบ
ย้อนไปเมื่อ 43 ปีก่อน 27 มิถุนายน 1976 ที่สนามบินเอนเทบเบ (Entebbe) ประเทศยูกันดา
เครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน AF-139 จากเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ซึ่งพาผู้โดยสารมุ่งสู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถูกกลุ่มสลัดอากาศ 4 คนบุกจี้ระหว่างแวะจอดที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
1
ขบวนรถซึ่งปลอมเป็นฝ่ายยูกันดาในปฏิบัติการสายฟ้าฟาด (ภาพจากภาพยนตร์ 7 Days in Entebbe )
สลัดอากาศเข้าควบคุมลูกเรือและผู้โดยสารกว่า 240 ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอลหรือคนเชื้อสายยิวไว้เป็นตัวประกัน แล้วบังคับให้นักบินเปลี่ยนเส้นทางบินจากจุดหมายเดิมคือปารีส ไปสู่สนามบินเอนเทบเบในประเทศยูกันดา
กลุ่มผู้ก่อการร้ายประกาศข้อเรียกร้องขอแลกตัวประกันบนเครื่องกับนักโทษการเมือง 53 คน
โดยเป็นนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังในอิสราเอล 40 คน และนักโทษที่ถูกขังในอีก 4 ประเทศรวม 13 คน และเรียกเงินค่าไถ่อีก 5 ล้านดอลล่าร์
ผู้ก่อการร้ายในครั้งนี้ มีอยู่ 2 คนที่เป็นสมาชิกแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Popular Front for the Liberation of Palestine / PFLP) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีแนวคิดสุดโต่งและเคียดแค้นชาวยิวแบบฝังลึก เนื่องจากปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์เรื่องการแย่งชิงดินแดนของชาวปาเลสไตน์มาตั้งเป็นประเทศอิสราเอล
ส่วนอีก 2 คนนามว่า วิลฟรีด โบเซ และบริจิตต์ คุห์ลมันน์ เป็นชาวเยอรมันชาตินิยมหัวรุนแรงและเป็นสมาชิกกลุ่มกองโจร Revolutionary Cells (RZ) ซึ่งก็จงเกลียดจงชังชาวยิวเช่นกัน
เชื่อกันว่าการจี้เครื่องบินครั้งนี้อาจได้รับการสนับสนุนโดยประธานาธิบดีอีดี อามิน ผู้นำเผด็จการทหารของยูกันดา ซึ่งมีชื่อฉาวโฉ่ระดับโลกนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
2
ประธานาธิบดีอีดี อามิน บนปกนิตยสารไทม์
ความคิดเช่นนี้ก็น่าจะไม่ผิด เพราะหลังเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานเอนเทบเบ อีดี อามินถึงกับเดินทางมาต้อนรับผู้ก่อการร้ายด้วยตนเองเลยทีเดียว
ตัวประกันทั้งหมดถูกคุมตัวไปยังอาคารพักผู้โดยสารเก่า แล้วคัดแยกผู้โดยสารสัญชาติอิสราเอลและชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายยิวออกจากผู้โดยสารอื่น
กัปตันมิเชล บาคอส ก็ได้แสดงสปิริตอันแรงกล้าด้วยการปฏิเสธการถูกคัดออกจากกลุ่มตัวประกัน ด้วยเหตุผลว่าเขาต้องดูแลผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขาทั้งหมด
วันที่ 30 มิถุนายน ผู้ก่อการร้ายตัดสินใจปล่อยตัวประกันกลุ่มแรก 48 คนที่ไม่ใช่ชาวยิว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก
วันถัดมารัฐบาลอิสราเอลได้แสดงเจตนาที่จะเจรจาด้วย ผู้ก่อการร้ายจึงปล่อยตัวประกันเพิ่มอีก 100 คน และเลื่อนกำหนดเส้นตายจากวันที่ 1 กรกฎาคมเป็น 4 กรกฎาคม
แต่ก็ขู่ว่าหากข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้รับการสนองตอบ ก็จะเริ่มสังหารตัวประกันซึ่งเหลืออยู่อีก 106 คน
1
สถานการณ์ทางอิสราเอล บรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยมอสสาด (Mossad) ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองและปฏิบัติการพิเศษเรืองนามของอิสราเอล ทำการรวบรวมข้อมูลและประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อหาทางช่วยตัวประกัน
โดยหนึ่งในผู้วางแผนคือ เอฮุด บารัค อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยคอมมานโดซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน (ต่อมา เอฮุด บารัค ผู้นี้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลถึง 2 สมัย)
เอฮุด บารัค ในปี 1972
แต่ภารกิจนี้ไม่ง่ายเลย เพราะข้อมูลเกี่ยวกับยูกันดามีน้อยมาก แถมยังไม่รู้พิกัดทำเลที่ตั้งของเอนเทบเบ ถึงขนาดที่บารัคเอ่ยถามคนในห้องประชุมว่า
“พวกคุณแน่ใจจริงๆ หรือว่าเอนเทบเบอยู่ตรงไหน?”
1
ภาวะที่ข้อมูลมีจำกัดแถมต้องทำงานแข่งกับเวลาทำให้ภารกิจยิ่งยากเข็ญ
แต่ในที่สุดก็มีวิศวกรจากบริษัทซึ่งเคยเสนอโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบินเอนเทบเบเข้ามาคลี่คลายปัญหาด้วยพิมพ์เขียวผังอาคารเก่าซึ่งถูกใช้เป็นที่คุมขังตัวประกันในขณะนั้น ทำให้แผนปฏิบัติการมีความหวังมากขึ้น
ในตอนแรก ที่ประชุมจะให้หน่วยซีล (SEAL) ของกองทัพเรืออิสราเอลกระโดดร่มลงในบริเวณทะเลสาบวิกตอเรียซึ่งอุดมไปด้วยจระเข้
จากนั้นก็พรางตัวเดินทางไปจนถึงที่หมาย หรือใช้เรือสปีดโบ้ทของเคนยาช่วยในการเดินทาง
แต่หน่วยมอสสาดเตือนว่าเคนยาอาจไม่ยอมร่วมมือ เพราะคงไม่อยากผิดใจกับอีดี อามิน แผนนี้จึงระงับไป
เวลานั้นมีหลายประเทศพยายามหาทางช่วยเหลือ เช่น อียิปต์ได้ช่วยเจรจากับยัสเซอร์ อาราฟัด ประธานองค์การปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์ (PLO) และเจรจากับรัฐบาลยูกันดา
ในช่วงแรกการทูตได้ผลดีจนอาราฟัดส่งผู้แทนพิเศษไปยังยูกันดาเพื่อเจรจาขอปล่อยตัวประกัน แต่ทว่าสมาชิก PFLP ในกลุ่มก่อการร้ายไม่ยอมเจรจาด้วย
เมื่อวิธีทางการทูตล้มเหลว ก็ถึงเวลาตัดสินใจบุกจู่โจมชิงตัวประกัน
วันที่ 3 กรกฎาคม
คณะรัฐมนตรีอิสราเอลอนุมัติแผนช่วยเหลือตัวประกัน โดยพลจัตวา แดน ชอมรอน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการซึ่งใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการสายฟ้าฟาด (Operation Thunderbolt)”
โดยมีพันโท โยนาธาน เนทันยาฮู พี่ชายของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบัน ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าหน่วยจู่โจม
1
โยนาธานกับเทอร์ซา อดีตภรรยาคนแรก
ทหารและเจ้าหน้าที่อิสราเอลกว่า 200 ชีวิตออกเดินทางด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130 เฮอร์คิวลีส 4 ลำ และโบอิ้ง 707 จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นทั้งศูนย์บัญชาการลอยฟ้าและหน่วยแพทย์สนาม
เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ พวกเขาต้องบินที่เพดานบินต่ำมาก บางจุดต้องบินต่ำเหนือพื้นดินไม่ถึง 35 ฟุต โดยบินข้ามทะเลแดง ผ่านประเทศจิบูตี เคนยา โซมาเลีย เอธิโอเปีย และทะเลสาบวิกตอเรีย ใช้เวลาบินทั้งหมด 8 ชั่วโมง รวมระยะทางราว 2,500 ไมล์
พวกเขาเลือกไปถึงที่หมายในยามราตรีเพื่ออำพรางตัว และนำรถเมอร์เซเดสสีดำหรูหราที่เหมือนกับรถประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีอีดี อามิน และรถแลนด์โรเวอร์ที่เหมือนกับรถคุ้มกันลงจากเครื่องบิน
รถเมอร์เซเดสสีดำที่ใช้ตบตาทหารยูกันดาว่าเป็นรถของอีดี อามิน 
รถเหล่านี้ถูกเตรียมมาเพื่อตบตาทหารยูกันดาให้ยอมปล่อยผ่านโดยไม่ตรวจค้น แต่ทว่าทหารยามยูกันดา 2 นายเกิดจำได้ว่าประธานาธิบดีอามินเปลี่ยนไปใช้รถเมอร์เซเดสคันใหม่แล้ว
รถคันใหม่ก็ดันเป็นสีขาว! ตรงข้ามกับสีของรถคันนี้เลย
1
ทันทีที่ทหารยามออกคำสั่งให้หยุดรถ พันโทเนทันยาฮูก็สั่งคอมมานโดยิงทหารยามด้วยปืนเก็บเสียงในทันใด ทหารในรถแลนด์โรเวอร์ที่ตามมาเห็นเหตุเฉพาะหน้าก็ยิงซ้ำด้วยปืนไรเฟิล
เสียงปืนไรเฟิลทำให้ทหารยูกันดารู้ตัวและยิงถล่มใส่ขบวนรถ หน่วยปฏิบัติการพิเศษตัดสินใจโดดออกจากรถและวิ่งไปที่อาคารผู้โดยสาร เดิมทีพวกเขาวางแผนกระจายกำลังไปยังประตูแต่ละจุด
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน หน่วยคอมมานโดทั้งทีมจึงต้องวิ่งเข้าไปพร้อมกัน
โชคดีที่พวกเขามาได้ทันการณ์ ผู้ก่อการร้ายยังไม่ทันตั้งตัว คนร้ายรายหนึ่งถูกยิงตายทันที ผู้ก่อการร้ายอีก 2 คนที่วิ่งเข้ามาก็ถูกสอยร่วงไปตามๆกัน
หน่วยจู่โจมบุกแบบสายฟ้าแลบเข้าไปในห้องโถงพร้อมทั้งตะโกนให้ตัวประกันหมอบลง การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด ผู้คนวิ่งหนีหาที่ซ่อนกันชุลมุน เสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว
จนกระทั่งทุกอย่างสงบลง พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวประกันได้ 102 คนจากทั้งหมด 106 คน ผู้ก่อการร้ายตายไป 7 คน (อีก 3 คนตามมาสมทบที่เอนเทบเบในภายหลัง) ทหารยูกันดาอย่างน้อย 20 นายเสียชีวิต
ตัวประกันเดินทางกลับอิสราเอลอย่างปลอดภัย 
ในความสำเร็จก็มีเรื่องเศร้า มีทหารอิสราเอลเสียชีวิตไป 1 นาย... ก็คือ พันโทโยนาธาน เนทันยาฮู ผู้นำการจู่โจมครั้งนี้
ปฏิบัติการนี้จึงถูกเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่า ปฏิบัติการโยนาธาน (Operation Yonathan) เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของเขา
1
กล่าวกันว่าการที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล 4 สมัย เบนจามิน เนทันยาฮู ตัดสินใจมาลงเล่นการเมืองเพื่อรับใช้ประชาชน ก็เพราะคิดถึงความเสียสละของพี่ชายในปฏิบัติการครานั้นนั่นเอง
1
ชาวอิสราเอลร่วมแสดงความยินดีที่ภารกิจลุล่วง
อ้างอิง
ภาพเปิดเรื่องจากภาพยนตร์ 7 Days in Entebbe
ภาพปกนิตยสาร TIME
ข้อมูลบางส่วนจาก
บทสัมภาษณ์ผู้สร้างภาพยนตร์ 7 Days in Entebbe จากสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
โฆษณา