5 มิ.ย. 2019 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดบุรุษไปรษณีย์ในไทย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามได้มีการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีการตั้งกงสุลต่างประเทศ โดยสถานกงสุลประเทศต่างๆ ได้นำระบบการเดินหนังสือ เรียกว่า “การไปรษณีย์” เข้ามาใช้ในการติดต่อกับสถานกงสุลประเทศอื่นๆ
จนมาปี พ.ศ.2418 ในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “COURT” โดยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ยังทรงพระเยาว์รวมกัน 11 พระองค์ นับเป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของคนไทย และต่อมาในปีพ.ศ.2419ได้เปลี่ยนเป็นชื่อภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ”
เมื่อหนังสือพิมพ์ออกฉบับแรกมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก โดยผู้ที่ต้องการ ต้องมารับหนังสือที่สำนักงานที่หอนิเพทพิทยาคมในพระบรมมหาราชวัง ในทุกวันการมาขอรับหนังสือของสมาชิกนั้น จะมาไม่พร้อมกันทำให้ต้องเก็บหนังสือค้างจ่ายจำนวนมาก
สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ หนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ร่วมก่อตั้งหนังสือจ่าวราชการ จึงโปรดให้มีบุรุษเดินหนังสือส่งให้สมาชิก เรียกว่า “โปสต์แมน” ตามภาษาอังกฤษ และให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีน้ำเงินสะพายกระเป๋าใส่หนังสือนำส่งให้สมาชิกทุกเช้า พร้อมทรงจัดพิมพ์ “ตั๋วแสตมป์” ใช้เป็นค่าบริการส่งหนังสือจำหน่ายให้แก่สมาชิกที่ต้องการ
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
การออกหนังสือข่าวราชการมีถึงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2419 และล้มเลิกไป แต่การเดินส่งหนังสือหรือการรับส่งจดหมายจากสมาชิกหนังสือพิมพ์ข่าวราชการ จะต้องเสียค่านำส่งเป็นตั๋วแสตมป์เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับตามที่อยู่ที่เขียนไว้บนหนังสือหรือจดหมาย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของไปรษณีย์ไทย
ส่วนคำว่า “ไปรษณีย์” นั้น ได้มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ในภาษาไทยโดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ทรงได้รับความไว้วางพระทัยจากเจ้านายให้ทรงช่วยบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ในภาษาไทยเพื่อทดแทนการใช้คำในภาษาอังกฤษ
อาจเป็นไปได้ว่าคำว่า “บุรุษไปรษณีย์” คงถูกเรียกตรงตามคำศัพท์ภาษาอังกฤษ “โปสต์” แปลว่า “ไปรษณีย์” และ “แมน” ที่แปลว่า “ผู้ชาย ดังนั้น “โปสต์แมน” ก็คือ “บุรุษไปรษณีย์”
โฆษณา