8 มิ.ย. 2019 เวลา 01:37 • การศึกษา
"ลานนกหว้า"
นกหว้าเป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ ในบ้านเราพบได้ทางภาคใต้ นกหว้าตัวผู้ขนาดยาว(รวมหาง)​ถึง 160-200 ซม. ตัวเมียขนาดประมาณ 72-76 ซม.จะมีขนาดเป็นรองก็แค่นกยูงเท่านั้น
ผมได้ยินเรื่องราวของนกชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก
จากคำเล่าขานกันว่านกหว้าตัวผู้จะทำลานกว้างไว้กลางป่าลึก เพื่อเป็นที่เกี้ยวพาราสีตัวเมีย โดยจะคุ้ยเขี่ยเก็บกวาดใบไม้กิ่งไม้และสิ่งที่รกรุงรังออกจนหมดเกลี้ยง
ต้นไม้เล็กๆที่จิกทิ้งไม่ออก นกหว้าจะใช้ลำคอม้วนรัดแล้วออกแรงดึงถอนขึ้นมาจนหมดสิ้น
นกหว้าในสถานที่เพาะเลี้ยง ตัวผู้กำลังเกี้ยวพาราสีตัวเมีย ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/36917655@N08/4488290936
เมื่อนายพรานที่ต้องการล่านกชนิดนี้ไปพบเห็นลานสวาทของมัน ก็จะนำไม้ไผ่มาเหลาให้ด้านหนึ่งเหลือแต่ผิวไม้ ซึ่งผิวไผ่นั้นคมกริบดุจใบมีดโกน แล้วแอบนำไปปักไว้บนลานนกหว้า
พอนกหว้ากลับมาเห็นสิ่งแปลกปลอมในลาน ก็จะพยายามถอนทิ้งตามสัญชาตญาณ เมื่อถอนไม่ออกเพราะพรานปักไว้แน่นหนา นกหว้าที่น่าสงสารก็จะใช้ลำคอรัดแล้วถอนเพื่อจะดึงผิวไผ่ทิ้งให้ได้
แน่นอนว่า โศกนาฏกรรมย่อมเกิดขึ้นบนลานรักแห่งนั้น
นี่คือคำเล่าขานที่ชาวบ้านพูดกันมานาน แต่ผมก็ไม่เคยได้ยินว่ามีใครทำเรื่องโหดร้ายแบบนั้นจริงๆหรอกครับ
ลานนกหว้า
พบอยู่บริเวณที่ราบบนยอดเขาในป่าภาคใต้
พื้นที่โดยรอบเป็นป่าดงดิบ
ลานนกหว้าที่ผมถ่ายภาพมานี้ อยู่บนภูเขาในป่าลึกที่ จ.พังงา การเดินทางเข้าไปลำบากมาก
น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถถ่ายภาพตอนนกหว้าอยู่ในลานมาให้ชมกันได้ ทั้งที่ได้ยินเสียงมันร้อง ว้าาา... ว้าาา... อยู่ทุกวัน
จึงมีเพียงภาพลานโล่งๆมาให้ชมกัน แต่เท่านี้ก็เป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งในยุคนี้แล้วครับ
----
ชาวบ้านมีความเชื่อว่าห้ามเดินข้ามลานที่นกหว้ากวาดไว้ จะทำให้เคราะห์ร้าย หรือเป็นอัปมงคล
ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นกุศโลบายของคนโบราณ ไม่ให้เข้าไปรบกวนนก เพราะอาจทำให้มันไม่กล้ากลับมาที่ลานอีก
"ลานนกหว้า" ยังใช้เป็นคำเปรียบเปรยของชาวใต้ หมายถึง จุดซ่อนเร้นที่เกลี้ยงเกลา ไม่มี"ขน" อีกด้วยครับ
นกหว้าตัวผู้ ภาพจาก https://en.m.wikipedia.org/wiki/Great_argus
อ้างอิงข้อมูลขนาดนกหว้าจาก
โฆษณา