10 มิ.ย. 2019 เวลา 05:30 • การศึกษา
"ลักทรัพย์ประทั่งความหิวโหย" มีความผิดไหม?
และจริงหรือไม่ที่ "ถ้าจ่ายเงิน ๑๐ เท่าตามป้ายที่ร้านค้าติด
จะไม่สามารถดำเนินคดีได้" ?
เรื่องนี้ร้อยเวรได้รับแจ้งความบ่อยมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศเศรษฐกิจไม่ค่อยดี เพราะในเรื่องของความหิวโหย มันจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตต่อไป ไม่กินก็ตาย
แต่จะทำอย่างไรเมื่อวิธีการระงับความหิวด้วยความจำเป็น
มันผิดกฎหมายขึ้นมา ยอมเสี่ยงลักขโมยดีกว่าที่ตนเองจะต้องมานอนตาย แม้โดนจับติดคุกทางรัฐก็มีข้าวเลี้ยง...
ชอบภาพนี้ ขอเอามายืมใช้หน่อยนะครับ เพจปรึกษากฎหมายฟรี
เรื่องนี้เคยเกิดที่ต่างประเทศ เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ศาลฎีกาประเทศอิตาลี ยกฟ้องคดีชายเร่ร่อน สัญชาติยูเครน ที่ศาลชั้นต้นอิตาลีตัดสินลงโทษในข้อหาลักทรัพย์ แต่ศาลฎีกาอิตาลีพิพากษาว่า “การขโมยอาหารไม่ควรได้รับการพิจารณาความผิดทางอาญา หากผู้กระทำเป็นบุคคลไม่มีที่อยู่อาศัยและเป็นเพียงการขโมยเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ชีวิตรอดพ้นจากความหิวโหย”
ชายคนนี้ชื่อว่า โรมัน ออสเตรียคอฟ เป็นคนเร่ร่อนอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี โดยในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ เขาได้ขโมยไส้กรอกและชีสราคารวมกัน ๔.๐๗ ยูโรหรือประมาณ๑๖๕ บาท จากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง
ซึ่งเมื่อคำนึงถึงค่าครองชีพของประเทศอิตาลีแล้ว เงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นจำนวนที่เล็กน้อย ทางซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ส่งตัวให้ทางการอิตาลีดำเนินคดี
ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า มีความผิดและลงโทษจำคุกเป็นเวลา ๖ เดือน และปรับ ๑๐๐ ยูโรหรือประมาณ ๔,๐๐๐ บาท
ตามกฎหมายอิตาลี ผู้ต้องโทษมีสิทธิยื่นอุทธรณ์และฎีกา ในที่สุดศาลฎีกาอิตาลีได้มีคำพิพากษายกฟ้อง
สื่อมวลชนหลายสำนัก ต่างเขียนข่าวแสดงความพอใจและชื่นชมกับผลของคำพิพากษาศาลฎีกาอิตาลีเป็นอย่างมากชาวอิตาลียังถือว่า คดีนี้เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การตัดสินครั้งสำคัญที่เตือนทุกคนว่า
ในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ควรปล่อยให้ผู้ใดต้องตายเพราะความหิวโหย
คดีลักทรัพย์ประเภทอาหาร ที่ผู้กระทำผิดให้เหตุผลว่ากระทำไป เพราะไม่มีเงินซื้อหรือประทั่งความหิวโหยเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน
คดี“ลักขนุนริมคลองหลอด”
คดีนี้ เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี เป็นคดีที่คนกวาดถนนแม่ลูกอ่อนขโมยขนุนริมคลองหลอด (หน้ากระทรวงมหาดไทย) ให้ลูกทาน ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก ๒ ปี เพราะมีการตีความว่า ขนุนริมคลองหลอดเป็นของหลวง (สถานที่ราชการ) การลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ในยุคสมัยนั้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความเคร่งครัด
คดี “ลักซาลาเปา ๑ ลูกไปให้น้อง”
เหตุเกิดประมาณปีพ.ศ. ๒๕๔๒ พี่ชายพนักงานขายซาลาเปา อายุ ๑๗ ปี ในซูเปอร์มาร์เกต ถาวสาขาสุขาภิบาล ๑ ของห้างสรรพค้าแห่งหนึ่งมีฐานะยากจน ในวันเกิดเหตุพนักงานคนนี้ได้รับคำสั่งจากห้างให้นับจำนวนซาลาเปาที่เหลือและให้นำไปทิ้ง แต่เกิดความเสียดาย และต้องการนำกลับไปบ้านให้น้องชายทานเพื่อประทั่งความหิว จึงเก็บไว้หนึ่งลูก แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างจับได้
คดีนี้ ห้างสรรพสินค้าไล่พนักงานออกจากงานและดำเนินคดีกับพนักงาน ทั้งยังให้แม่ของพนักงานที่ทำงานในห้างออกจากงานด้วย
ในช่วงเวลานั้นประชาชนหลายคนไม่พอใจ แสดงออกโดยการไม่อุดหนุนซื้อสินค้าจากห้างนี้ในที่สุด จนยอดขายลดลงอยู่ช่วงหนึ่ง
ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีคดีจึงยุติชั้นอัยการ
คดี “ลักมะพร้าว ๓ ลูก”
เมื่อวันที่ ๕ มีนาคมพ.ศ. ๒๕๕๙ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ควบคุมตัวชายอายุประมาณ ๒๕ ปี ดำเนินคดีข้อหาลักมะพร้าว ๓ ลูก ชายคนนั้นอ้างว่าต้องการนำไปให้ภรรยาที่ตั้งครรภ์รับประทานแต่ไม่มีเงินซื้อจึงจำเป็นต้องขโมยคดีนี้
ผู้เสียหายแจ้งว่าผู้กระทำความผิดได้ลักมะพร้าวมาหลายครั้งแล้ว จนผู้เสียหายยอมลงทุนติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดจึงสามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้ ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะยอมความนอกจากนี้ ผู้กระทำความผิดมีประวัติเสพยาเสพติด และเคยถูกจับกุมคดีเสพยาเสพติดมาแล้วหลายครั้งคดีนี้
ก็ต้องรอดูว่าศาลจะตัดสินเช่นไร
คดี “แม่ลูกอ่อน ลักนมและผ้าอ้อม”
กรณี แม่ลูกอ่อนขโมยของเมื่อคุณแม่หมดหนทางจะหาเงินการลักขโมยเพื่อลูกจึงเกิดขึ้น ที่สำคัญไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวเหมือนอย่างกรณีก่อนหน้านี้แต่กลับเกิดขึ้นบ่อยๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดา
กรณีแรก แม่ลูกอ่อนแดนนครปฐม อายุ ๒๙ ปี เกิดมืดแปดด้านจนต้องขโมยนมผงและผ้าอ้อมมูลค่า ๑ พันบาท จากร้านค้าสวัสดิการ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกจับยัดห้องขังพร้อมลูกชายวัย ๕ เดือน จนท้ายที่สุดสามีต้องขอลูกกลับมานอนบ้านเนื่องจากไม่มีปัญญาหาเงินมาประกันตัวภรรยา
และในเวลาห่างกันไม่นานสาวแม่ลูกอ่อน วัย ๒๑ ปี ที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังหลังจากสามีทอดทิ้ง จนตัดสินใจบุกเข้าไปขโมยนมผงและผ้าอ้อมเด็ก ซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พร้อมลำดับความเป็นมาว่ามีฐานะยากจน หนีตามสามีมาอยู่ที่บ้านญาติของสามี แต่เมื่อมีลูกแล้วสามีกลับทิ้งไป ด้วยเพราะไม่กล้าบากหน้ากลับบ้าน จึงทนเลี้ยงลูกมาโดยตลอด
จนก้าวพลาดในที่สุดจากร้านค้าสวัสดิการ ห้างใหญ่ ก็ถึงคิวร้านสะดวกซื้อทุกหัวมุมถนนอย่างเซเว่นอีเลฟเว่น ที่อำเภอเทียนชัย คุณแม่วิ่งเข้าไปหยิบนมผงคาร์เนชั่นพลัส ๓ ถุง รวมมูลค่า ๔๒๐ บาทเพราะรายได้วันละ ๑๐๐ บาท จากการเร่ขายนมสดพาสเจอไรซ์แบบถุงตามหมู่บ้านไม่สามารถเลี้ยงลูกน้อยและสามีที่ติดเหล้าจนเสียผู้เสียคน
จนสุดท้ายพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีคดีจึงยุติชั้นอัยการ
ชดใช้เงิน คีดจบหรือไม่ ???
ส่วนใหญ่การลักของกินจะเกิดตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า แต่การลักทรัพย์ยังถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อรัฐที่ไม่สามารถยอมความได้
ดังนั้น แม้ผู้เสียหายจะไม่ติดใจ หรือได้รับชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้วเป็นที่พอใจแล้วก็ตาม(ตามที่ห้างชอบเขียนว่าจะปรับเป็นเงิน ๑๐ เท่า)
การชดใช้ค่าสินค้าเป็นการชดใช้กันในทางแพ่งไม่ทำให้คดีอาญาข้อหาลักทรัพย์ยุติดไปแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนก็ยังต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน หากไม่ปฏิบัติร้อยเวรย่อมมีความผิดเสียเอง
แล้วร้อยเวรควรทำอย่างไร ???
ร้อยเวรควรสอบให้ปรากฎว่าที่เขากระทำไปนั้น กระทำด้วยความจำเป็นอย่างไร เพื่อให้อัยการ และศาลใช้ดุลพินิจในการตัดสินต่อไป
การติดป้ายประกาศในร้านค้าว่า ใครขโมยของต้องเสียค่าปรับเท่านั้นเท่านี้บาท ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่น่าจะมีผลในทางจิตใจ ในการข่มขู่หรือเตือนใจคนที่คิดจะขโมย เจ้าของร้านจะปรับเงินเป็นจำนวนตามป้าย ถ้าจ่ายจะไม่แจ้งความ อย่างนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะร้านค้าไม่ใช่ศาล
ถ้าอย่างนี้จะต้องจ่ายเท่าใด ???
การจ่ายเงินค่าเสียหายให้เจ้าของร้าน จึงต้องจ่ายไม่เกินราคาสินค้าที่ขโมย ไม่ใช่ราคาตามป้ายที่ปิดประกาศ และถ้าคืนของที่ลักไปแล้ว ก็ไม่ต้องชำระค่าเสียหายอะไรอีก เจ้าของร้านไม่มีสิทธิเรียกร้อง
แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ????
ทางร้านค้าก็ยังไม่แจ้งตำรวจ ถ้าหากผู้เสียหายนำเงินมาชำระตามที่ร้านค้ากำหนดเป็นจำนวน ๓ เท่าบ้าง ๑๐ เท่าบ้าง ก็ไม่แจ้งความ (ถ้าตำรวจไม่รู้ หรือไม่มีคนมาแจ้งความ)
แต่ถ้าไม่ได้ก็จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี (เจ้าของร้านจะนำเป็นเครื่องต่อรองทางคดีความ) เมื่อดำเนินคดีแล้วจะมาจ่ายในภายหลังก็ไม่ทำให้คดียุติแล้ว
แต่คดีลักของกินประทังความหิวนั้น จะซื้อข้าวกินยังไม่มีเลยจะเอาเงินที่ไหนมาชดใช้เป็นจำนวน ๑๐ เท่า
ดังนั้น คดีอาญาหลาย ๆ คดี จึงจบลงในชั้นพนักงานอัยการ ใช้ดุลพินิจกลั่นกรองคดีอาญาก่อนขึ้นสู่ศาลได้ หากคดีใดเห็นว่าการไม่ฟ้องคดีอาญาเรื่องนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า เพื่อความเป็นธรรมและความยุติธรรมแก่ประชาชนในฐานะที่เป็นทนายความของแผ่นดิน ซึ่งเป็นการช่วยให้คดีอาญาไม่ล้นศาล และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน
และหากคดีประเภทนี้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลมาจริงๆ หากจำเลยให้การรับสารภาพพฤติกรรมแห่งคดีเป็นที่น่าสงสารเห็นใจและผู้เสียหายไม่ติดใจ ท่านผู้พิพากษาได้เมตตาพิพากษาให้รอลงอาญา เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีในสังคม
คดีอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ที่กระทำความผิดไป เพราะความยากจนด้วยเหตุจำเป็น และทุนทรัพย์ไม่มากนัก
ระบบกฎหมายทั้งของไทยและอิตาลี อาจจะยกเหตุผลในการพิจารณาที่แตกต่างกันแต่ผลสุดท้ายไม่แตกต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของมนุษยธรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ภาพ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ
#แต่ถ้าจะเอาใจของร้อยเวร เอาไป เอาไปได้เลย ให้ไปเลย
ข้อมูลจาก เดลินิวส์ : ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ดร. รุจิระ บุนนาค ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ , เพจปรึกษากฎหมายฟรี ,เฟชบุค อาจารย์ ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค,เครภาพจากสำนักงานกิจการศาลยุติธรรม และ Dek-D ครับ
โฆษณา