10 มิ.ย. 2019 เวลา 12:39 • ประวัติศาสตร์
“เจียวไข่” มาจากไหน
มีคำไทยหลายคำที่ไม่ได้เป็นคำไทยแท้ แต่ยืมมาจากศัพท์ต่างประเทศ
ประเทศจีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไทยยืมศัพท์มาหลายคำเช่น บะช่อ พะโล้ จับฉ่าย
อีกคำที่น่าสนใจและน่าสงสัยคือคำว่า “เจียว”
คำนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายว่า ก. ทอดมันสัตว์เพื่อเอานํ้ามัน เช่น เจียวนํ้ามันหมู ทอดของบางอย่างด้วยนํ้ามัน เช่น เจียวไข่ เจียวหอม เจียวกระเทียม (ถิ่น-พายัพ) แกง. ว. ที่ทอดด้วยนํ้ามัน เช่น ไข่เจียว หอมเจียว กระเทียมเจียว แต่ก็ไม่ได้เชื่อมโยงว่ามีรากศัพท์มาจากไหน แต่เว็บไซต์ของชุมชนชาวฮากกา ได้ถึงจดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ ๒๘ (ธันวาคม ๒๕๔๗) อธิบายว่า “เจียว” (焦) เป็นคำคุณศัพท์จีนแต้จิ๋ว หมายถึงความกรอบ ไหม้ของอาหาร หรือสิ่งของทั่วไป ในกรณีอาหาร จะทำโดยใช้น้ำมันร้อนในปริมาณไม่มาก คำๆ นี้จึงน่าจะเป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ถึงการทอดอาหารให้สุกในน้ำมัน
การทำเช่นนี้ จำเป็นต้องมีกระทะเหล็กแบบจีนซึ่งถ่ายเทความร้อนจากเตาไฟมายังน้ำมันและชิ้นอาหารได้ดีกว่ากระทะดินเผา ซึ่งหลักฐานกระทะเหล็กแบบจีนนี้เคยพบที่แหล่งเรือสำเภาจมในอ่าวไทย ใกล้เกาะคราม อำเภอสัตหีบ ชลบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 คะอนอายุได้ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และเป็นสินค้าที่อยุธยานำเข้าจากจีนเพื่อจะส่งไปขายต่อยังแหล่งรับซื้ออื่นๆ
คำว่าเจียวนี้น่าจะมีการใช้มานาน เนื่องจากในหนังสือตำรับสายเยาวภาของสายปัญญาสมาคม มีอธิบายไว้ว่า “เจียว หมายถึง ทำวัตถุละเอียดหรือเป็นฝอยซึ่งต้องการให้สุกหรือกรอบด้วยน้ำมัน โดยการตักน้ำมันใส่ภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วใส่วัตถุนั้นลงคนเรื่อยไปจนกว่าจะสุกตามต้องการ” ซึ่งชวนให้นึกถึงการเจียวหอมเจียวกระเทียม
และที่น่าสนใจก็คือวิธีการเฉพาะของการทำให้สุกในน้ำมันแบบต่างๆ ก็คือวิธีทำไข่เจียวของตำรับสายเยาวภา นั้น ระบุว่าทำโดย “ตีไข่ให้ฟูก่อนจึงค่อยเจียว เวลาเจียวไม่ควรกลับ ใช้ตะหลิวแซะข้างกระทะเพื่อให้ไข่ที่ยังไม่สุกจะได้ไหลออก ทิ้งไว้ให้เหลือง จึงพับสอง ตักใส่จาน…”
น่าจะมีคำกิริยาในการครัวแบบจีนอีกหลายคำที่ถูกยืมมาใช้ซึ่งคงสืบสวนค้นคว้ากันต่อไปได้อีกมาก แต่คำว่า “เจี้ยน” นั้น ก็ยังน่าสงสัยว่าจะเป็นคำจีนที่คนภาคใต้รับมาใช้จนกลายเป็นคำถิ่นไปหรือไม่
ไข่เจียวที่เป็นอาหารพื้นๆในสำรับกับข้าวไทย ภายหลังเมื่อได้รับอิทธิพลจากอาหารชาติอื่นๆ ก็น่าจะมีการเปลี่ยนไปอีกบ้าง
โฆษณา