11 มิ.ย. 2019 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
เมื่อหงสาวดีไร้บุเรงนอง
พระเจ้าบุเรงนอง พระนามนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดี พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ สามารถขยายดินแดนจนได้รับพระสมัญญานามว่า “ผู้ชนะสิบทิศ”
แต่อาณาจักรอันของพระองค์ก็มีอายุที่สั้น เมื่อพระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา พระองค์มิได้มีอำนาจบารมีเทียบเท่าพระเจ้าบุเรงนอง เจ้าเมืองอื่นที่เคยอ่อนน้อมก็พากันแข็งข้อ ซึ่งพระองค์ก็ทรงปราบปราม โดยมีการอ้างว่าพระองค์ได้สั่งประหารประชาชนกว่า 4 พันรายที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนกบฏของเจ้าเมืองอังวะ
การทำสงครามกับสยามหลายครั้งก็ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างหนักเนื่องจากกองทัพหงสาต้องพ่ายแพ้ให้กับกองทัพพระนเรศวรแทบทุกครั้ง รวมถึงการที่พระมหาอัปราชแห่งหงสา พระราชโอรสของนันทะบุเรงเองก็ต้องสิ้นพระชนม์ด้วยการกระทำยุทธหัตถี
ความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าและการแปรพักตร์ของอดีตพันธมิตรของพระองค์ ยิ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงดำเนินมาตรการกระชับอำนาจมากยิ่งขึ้น มีบันทึกว่าพระองค์ทรงใช้อำนาจกดขี่ชาวมอญอย่างหนัก จนทำให้ชาวมอญหลบหนีมาพึ่งบารมีอยุธยาเป็นจำนวนมาก
ในปีค.ศ.1595 (พ.ศ. 2138) อังวะ แปร และตองอู ได้พากันแข็งเมือง เจ้าเมืองยะไข่ได้ส่งกองเรือรบมาเล่นงานราชอาณาจักรหงสาวดีเพื่อล้างแค้นสมัยที่พระเจ้าบุเรงนองเคยบุกมารุกราน ปีถัดมา กองทัพยะไข่ก็สามารถยึดสิเรียม เมืองท่าของหงสาวดีได้สำเร็จ ก่อนเคลื่อนทัพไปยังหงสาวดีที่กองทัพตองอูกำลังล้อมโจมตีอยู่ ด้านพระนเรศวรก็ทรงกรีฑาทัพตามมาเช่นกันแต่ไม่ทัน
การตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลา ทำให้หงสาวดีตกอยู่ในสภาพที่อดอยากยากแค้น ท้องทุ่งที่ทำการเกษตรถูกทำลายจนเกิดภาวะอดอยากถึงขนาดที่คนต้องกินคนด้วยกันเอง ซึ่งในบทความเรื่อง “หงสาวดี: เมืองของผู้ชนะ 20 ทิศ” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543 ได้ยกบันทึกของนักบวชคณะเยซูอิตถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า
“…ถึงกับว่าพวกเขาต้องกินกันเอง และภายในตัวเมืองพะโคมีหญิงชายลูกเล็กเด็กแดงอยู่อาศัยเหลือไม่เกินสามหมื่นคน นับเป็นภาพที่น่าเศร้าใจที่ได้เห็นซากปรักหักพังของวัดวาอาราม และปราสาทราชวัง ตามถนนหนทางและท้องไร่ท้องนาเต็มไปด้วยหัวกระโหลกและกระดูกของชาวพะโคผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกฆ่าหรือต้องตายด้วยความอดอยาก…”
1
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการชุลมุนอยู่นั้น ยังมีอีกกลุ่มอำนาจที่มีบทบาทสำคัญคือชาวโปรตุเกส ซึ่งมีทั้งพ่อค้า โจรสลัดและทหาร บ้างก็เข้ารับใช้เจ้าในดินแดนต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ฟิลิป เดอบริโต (Philip de Brito) ชาวโปรตุเกสที่ได้รับมอบหมายจากกษัตริย์แห่งยะไข่ให้ดูแลเมืองสิเรียมพร้อมกำลัง 1600 นาย แต่กลับฉวยโอกาสตั้งตนเป็นเจ้าเสียเอง แล้วขับไล่พวกยะไข่ออกไปด้วยการสนับสนุนจากอุปราชโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกสที่มาแสวงโชคในตะวันออกส่วนใหญ่มีเป้าหมายเดียวกันคือแสวงหาความร่ำรวยและเปลี่ยนคนท้องถิ่นให้หันมาเข้ารีต เดอบริโต ก็เช่นกัน เขาไม่ให้ความเคารพต่อความเชื่อของคนท้องถิ่น จึงสั่งให้ทำลายเจดีย์และศาสนาสถานต่างๆ เพื่อรวบรวมจองมีค่าทั้งหลายและบังคับให้ชาวมอญหันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ
เดอบริโต ฝครองอำนาจได้ 10 ปี ก็ถูกเจ้าสุทโธธรรมราชา พระราชนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ครองอังวะ ยกทัพลงมาปราบ โดยชาวมอญในเมืองสิเรียมได้หันไปเข้ากับกองกำลังพม่าและโจมตีเจ้าโปรตุเกส
ปัจจุบันหงสาวดีเป็นเหมือนกับเมืองในชนบทเล็กๆ พระราชวังเหลือเพียงอิฐเตี้ยๆ ไม่เหลือเค้าโครงความยิ่งใหญ่ในอดีต ทางการพม่าจึงได้จัดสร้างพระราชวังแห่งกษัตริย์บุเรงนองขึ้นมาใหม่โดยอาศัยหลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนังและภาพวาดรวมถึงคำบรรยายในสมุดพับโบราณของพม่า
โฆษณา