11 มิ.ย. 2019 เวลา 11:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โครงการเอาเขื่อนออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกในสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มในอนาคตของโลก สาเหตุและผลที่ตามมา
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเอาเขื่อนออก ...อันนี้เป็นข้อมูลที่นักธรณีและวิศวกรแหล่งน้ำในอเมริกาตระหนักกันดี ...เขื่อนจำนวนมากถูกเป็นเจ้าของโดยเอกชน เพื่อการปั่นไฟฟ้า
ดังนั้นหากเอกชนไม่ดูแลเขื่อนดีๆ จะเสี่ยงต่อ liability สูง นั่นคือ หากเขื่อนแตก ทำความเสียหายต่อท้ายน้ำ ที่ดินชาวบ้านถูกกัดเซาะ ตลิ่งพัง หรือมีคนตาย จะชดใช้แพงมากๆ การเอาเขื่อนออกจึงถูกกว่าการดูแล ซ่อมแซมตลอดเวลา โดยเฉพาะเขื่อนอายุเกิน 50 ปี ที่เริ่มหมดอายุขัย
แม้ในปัจจุบันจะเอาเขื่อนออกปีละหลักร้อยที่ ในอเมริกา ยังเหลือเขื่อนมากนัก ...ข้อดีของมันก็มี เช่นการผลิตไฟฟ้าที่เสถียร หรือเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ...เมืองใหญ่เช่น Los Angeles หรือ Phoenix และเมืองต่างๆในอริโซน่า เนวาด้า จะไม่พัฒนาขึ้นได้เลย หากไม่มีเขื่อน Hoover ที่คอยส่งน้ำให้
จากเปเปอร์ในวารสาร Science นี้ กล่าวว่า แม้จะมีการเอาเขื่อนออกจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลักๆที่ผ่านมาไม่นาน ... แต่ทั่วโลกที่เศรษฐกิจกำลังบูมเช่น อาเซียน(แม่น้ำโขง) อเมริกาใต้ แอฟริกา ก็กำลังสร้างเขื่อนอยู่ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ในอดีต
การเอาเขื่อนออกจึงดูเหมือนจะเป็นเทรนในอนาคตไม่หยุดหย่อน ...เชื่อไหม 2 ปีที่แล้วที่แอดมินทำวิจัยเกี่ยวกับเอธิโอเปีย เขื่อนสูงที่สุดในแอฟริกาที่เพิ่งสร้างเสร็จ เพื่อการชลประทาน ประเทศที่ให้งบสร้างเขื่อนจนเสร็จ สุดท้ายก็ไม่พ้นจีน ทั้งๆที่อยู่กันคนละซีกโลก จีนขับเคลื่อนชาติด้วยเศรษฐกิจจึงต้องมีการสร้างเสมอๆ และปัจจุบันก็ช่วยลาวกับกัมพูชาสร้างเช่นกัน
สีดำคือเขื่อนที่สร้างแล้ว สีเหลืองคือวางแผนจะสร้าง ปัจจุบันคนเขมรใช้ไฟจากการปั่นเจเนอเรเตอร์ใช้น้ำมันทั้งนั้น จึงไม่ค่อยเสถียร ดับบ่อย การมีเขื่อนจะช่วยกริดไฟฟ้าประเทศนี้มาก จีนจึงช่วยเรื่องงบ แต่ก็แลกกับการที่จีนจะขอกัมพูชาและลาว เพื่อการระเบิดแก่ง ทำแม่โขงให้กว้าง/ลึกขึ้น เพื่อเรือสินค้าเข้าออกแม่โขง เป็นการขับเคลื่อนภูมิภาคด้านเศรษฐกิจ เพราะจีนมีประชากรมากมาย แต่การสร้างเขื่อนมากมายก็แลกมาด้วยผลเสียบางอย่าง เช่น การทรุดตัวของเดลต้าในเวียดนาม และจำนวนปลา สัตว์น้ำที่ลดลง ที่ฉันเคยเขียนไป
เรามาดูกันว่า ทำไมอเมริกาถึงเอาเขื่อนสูง 64 ม. และ 32 ม. ออก หมดเงินไปหลายพันล้านดอลล่า รูปนี้แสดงตะกอนที่หลงเหลือในอ่างเก็บน้ำ หลังเอาเขื่อนออกแล้ว
ปลาแซล์มอนมีหลายชนิดในบริเวณนี้ แซล์มอนชีนุคยาวถึง 5 ฟุต
ให้สังเกตุว่า มันวางไข่บนพื้นกรวดเท่านั้น เพราะสะอาดและมีออกซิเจนให้ไข่ปลาที่จะฟักมา น้ำมักตื้น แซล์มอนกระโดดผ่านน้ำตกได้สูง 10 ฟุต มันอยู่ในสัญชาตญานและ DNA เพื่อไปวางไข่ต้นน้ำ จากสีเงิน ร่างกายจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีแดง เพื่อดึงดูดคู่ผสมพันธุ์
หลังจากฟักในน้ำจืด ราว 1-3 ปีก็ลงทะเล ไปหากิน เติบโต 3-8 ปี โดย 90% ของลูกปลาถูกปลาใหญ่กิน หรือหลงไปในคลองชลประทาน จึงลงทะเลไม่สำเร็จ
นี่คือเส้นทางหากิน เติบโต ในทะเลของแต่ละสปีซี่ส์ ว่ายน้ำกันหลัก 3000 กม.
เมื่อถึงเวลาที่จะวางไข่ มันก็กลับมายังบ้านเกิดได้ โดยอาศัยการจำสัญลักษณ์เชิงสนามแม่เหล็กโลก (เช่นเดียวกับเต่าทะเล) และการจำกลิ่นแม่น้ำที่มันโตมาในช่วงแรกๆ
วางไข่เสร็จก็ตาย เป็นแม่ที่อดทน ทุ่มเท และน่าสงสารมาก
เนื่องจากบริเวณนี้ มีการยกตัวภูเขาสูง ต่างจากในไทย แม่น้ำในแปซิฟิก NW จึงค่อนข้างชัน ไม่ลึกนัก 1-3 ม. และพื้นเป็นกรวด ร่มเงาต้นไม้ยังทำให้ปลาได้พักเป็นระยะๆ ไม่ร้อนเกินไป ไม่เครียด ในการเดินทาง
การมีปลาแซล์มอนหลัก 4-5 แสนตัวต่อแม่น้ำในอดีต ทำให้ประชากรสัตว์อื่นๆ เยอะตามไปด้วย แต่ปัจจุบันหลังจากมีเขื่อนกั้น ทำลายถิ่นวางไข่มัน เหลือเพียง 2-3 พันตัวต่อแม่น้ำ ซะส่วนมาก ระบบนิเวศน์จึงถูกทำลาย
วิศวกรมักสร้างบันไดปลาโจนเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาคือ น้ำตามเขื่อนและบันไดมีอุณหภูมิที่สูง ไม่มีร่มเงาให้พัก และปลาบาดเจ็บ ตาย ระหว่างเดินทาง ...พอถึงอ่างเก็บน้ำก็มึนงง หลงทาง เพราะน้ำนิ่งเกินไป ตามสัญชาตญาน/DNA แล้ว มันต้องว่ายทวนน้ำเสมอ ขึ้นไปเรื่อยๆ และมันจะไม่กินอะไรเลยในน้ำจืด การเสียเวลาในอ่างเก็บน้ำ จนกว่าจะวางไข่บนพื้นกรวดที่มีน้ำไหลเชี่ยวได้ เป็นเรื่องแย่
อย่างไรก็ดี ปีสองปีที่ผ่านมานี้ มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยพวกมันอพยพข้ามเขื่อนไปต้นน้ำได้ดีขึ้น
เมื่อเอาเขื่อนตัวแรกออก ตะกอนมากมายที่มันเคยกักเก็บไว้จาก backwater จึงโผล่ออกมาให้เห็น เท่ากับกองเท่าตึก 50 ชั้น
ที่บอกว่า ปัญหาเช่นเดียวกับเขื่อนแม่น้ำโขง เพราะเขื่อนในจีนกักตะกอนและธาตุอาหารไว้จำนวนมาก ทำให้ productivity หรือประชากรสัตว์น้ำลดลงในทะเลสาปกัมพูชาและเวียดนามเดลต้า ถึง 20% จากงานวิจัย เพราะธาตุอาหารสำคัญต่อพวกสาหร่ายและแพลงต้อน ที่ปลาจะไปกิน ปัญหานี้ในแม่โขงจะแย่ลงเรื่อยๆ
ที่มา วิทยาศาสตร์ทันโลก และภัยพิบัติในไทย
โฆษณา