Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ความรู้ทั่วไป
•
ติดตาม
11 มิ.ย. 2019 เวลา 15:45 • ไลฟ์สไตล์
ชัยนาท หากพูดถึงความเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว หลายคนอาจไม่ค่อยรู้จักและคุ้นเคยกันมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นเมืองทางผ่านไปยังจังหวัดในภาคเหนือมากกว่า แต่ถ้าลองมาทำความรู้จักเมืองนี้ให้ลึกขึ้น จากแค่ผ่านอาจสะกดให้เราหยุดหันมามอง และอยากจะมาเที่ยวเมืองติดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้ชื่อว่ามากด้วยเรื่องราวประวัติศาตร์ มีโบราณสถานล้ำค่า และวิถีชีวิตของชุมชนที่เรียบง่ายแห่งนี้ก็เป็นได้ ด้วยระยะทางจากกรุงเทพที่ใช้เวลาไม่นานประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ทำให้การมาเที่ยวชัยนาทแบบเช้าไปเย็นกลับไม่ได้ยากอะไร แถมมีจุดท่องเที่ยวให้เช็คอินกันเพียบ ว่าแล้วมาเริ่มออกเดินทางไปยัง 9 จุดเที่ยว กิน ชัยนาทใน 1 วัน
09.30 น. วัดมหาธาตุ
ออกเดินทางจากกรุงเทพเช้าหน่อยประมาณ 7 โมง เพื่อมุ่งหน้าไปยัง อำเภอสวรรคบุรี เมืองดั้งเดิมของชัยนาท สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยและอยุธยา ชื่อเดิมคือ เมืองสรรค์หรือเมืองแพรก ปัจจุบันเมืองสรรค์เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยนาทในชื่ออำเภอสรรคบุรี จากประวัติความเป็นมาของเมืองที่ยาวนาน สรรคบุรีจึงมีวัดวาอารามและเจดีย์เก่าแก่ให้ได้ชม ได้แก่ วัดมหาธาตุ เดิมชื่อว่าวัดพระธาตุ หรือวัดหัวเมือง เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่เมืองมาช้านาน โดยจากรูปแบบศิลปะทำให้มีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยอยุธยาแต่ได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยา วัดมหาธาตุ มีโบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระปรางค์กลีบมะเฟือง สร้างด้วยอิฐถือปูน 3 องค์ พระปรางค์มีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมเป็นศิลปะสมัยลพบุรี รวมทั้งพระวิหาร และหมู่เจดีย์ต่างๆสร้างด้วยศิลปะที่งดงามมาก
เมื่อเข้ามาถึงวัดอันดับแรกต้องเข้ามากราบไหว้ขอพร หลวงพ่อหลักเมือง หรือหลวงพ่อหมอ พระพุทธรูปโบราณที่เรียกท่านว่าหลวงพ่อหลักเมืองนั้นก็เพราะเบื้องหลังของท่านมีแผ่นศิลาสองแผ่นสลักลายเทวรูปปักอยู่คู่กัน ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่าหลักเมือง จึงเรียกหลวงพ่อองค์นี้ว่า หลวงพ่อหลักเมืองด้วย ส่วนชื่อหลวงพ่อหมอนั้นมาจากที่ชาวบ้านในแถบนั้น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจะพากันมาบนบามศาลกล่าว หรือขอน้ำมนต์กันไปรักษากันตามความเชื่อ บริเวณด้านหลังวัดมีลักษณะคล้ายเมืองเก่า มีโบราณสถานและพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ ประดิษฐานอยู่ ถัดไป คือ องค์พระมหาธาตุ ที่ก่อด้วยอิฐสีแดง ปัจจุบันยังคงเหลือไว้แต่ฐานสี่เหลี่ยม มีผ้าสีเหลืองพันรอบองค์พระธาตุ
ต่อด้วยเดินไปชมพระวิหาร 9 ห้อง ซึ่งเป็นอาคารขนาดเก้าห้อง ที่ตอนนี้เหลือเพียงเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล และผนังบางส่วนเท่านั้น มีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระประธาน 1 องค์ เป็นลักษณะช่างสกุลเมืองสรรค์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ อายุ 700 ปี ลักษณของสถาปัตยกรรมของวิหารมองไปแล้วคล้ายกับที่สุโขทัยเหมือนกัน
พระอุโบสถโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพระเจดีย์ที่เหลือเพียงส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงซ้อนกันหลายชั้น แต่ส่วนใหญ่พังทลายลงไปมากจนไม่เห็นถึงสภาพที่แท้จริง
นอกจากนี้ก็ยังมีหมู่เจดีย์รายข้างพระวิหารสร้างด้วยศิลปะอู่ทองงดงาม เช่น เจดีย์แปดเหลี่ยม มีฐานซ้อนเป็นชั้น มีซุ้มประดิษฐานพระยืนแปดทิศในซุ้มเรือนแก้วโค้ง
ถัดไปจากหมู่พระเจดีย์ คือ วิหารที่ประดิษฐานของ พระพุทธสรรค์สิทธิ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานในวิหารคดของวัดมหาธาตุ ชาวบ้านมีความเสื่อมใสกันมาก ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองสรรค์อายุ 700 กว่าปี มาถึงศาลาสีแดงหลังเล็ก ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ให้เราได้เข้าไปไหว้เพื่อความเป็นศิริมงคล
10.30 น. วัดพระแก้ว ชัยนาท
มาต่อด้วยอีกหนึ่งวัดโบราณในอำเภอสรรคบุรี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุ ที่ วัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีโบราณสถานที่สำคัญวัดหนึ่ง เนื่องจากมีองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่มีความงดงาม องค์เจดีย์นี้ มีผู้กล่าวว่า เป็นราชินีแห่งเจดีย์ทั้งมวลในเอเซียอาคเนย์ ลักษณะเป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับ เจดีย์ทวาราวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยกับสมัยศรีวิชัย ผสมผสานกัน บริเวณด้านหน้าเจดีย์มีวิหารหลวงพ่อฉาย ด้านหลังองค์หลวงพ่อฉายมี “ทับหลัง” แกะสลักติดอยู่ วัดนี้จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นวัดสำคัญของจังหวัดชัยนาท
หลวงพ่อฉาย เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงสีแดงอยู่ในวิหาร ด้านหน้าพระเจดีย์สี่เหลี่ยมวัดพระแก้ว กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าหลวงพ่อฉายมีอายุประมาณ 800 ปี ล่วงมาแล้ว ด้านหน้ามีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป แต่ด้านหลังมีทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในเรือนแก้วฝังอยู่ในองค์พระ ในลักษณะกลับหัว ทับหลังนี้เป็นศิลปะขอม มีอายุกว่าพันปี เป็นการนำโบราณวัตถุมาสร้างเป็นองค์พระพุทธรูป ทับหลังที่กลับหัวนั้นมีการตีความตามปริศนาธรรมว่า “ผู้ที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดเช่นพุทธองค์ จะต้องรู้จักปฏิบัติทวนกระแสแห่ง โลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะพบความสุขในชีวิต
ด้านหลังองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมมีพระพุทธรูปสีขาว นามว่าหลวงพ่อขาว ตั้งอยู่ในวิหารกลางแจ้งเป็นห้องอิฐสี่เหลี่ยมภายใต้ร่มไม่ใหญ่ บริเวณทางเข้าและมีซากของพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งอยู่ด้วย
11.00 น. สะพานลูกบวบ บึงกระจับใหญ่
จากอำเภอสรรคบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที เพื่องมุ่งหน้าไปยังอำเภอหันคา มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ สะพานลูกบวบ บึงกระจับใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกเป็ดน้ำและนกปากห่างเป็นจำนวนมาก เหมาะสำหรับล่องเรือชมนกยามเย็น แต่เราไม่ได้มาดูนก แต่มาชมไฮไลท์ที่น่าสนใจ คือ สะพานแพลูกบวบข้ามบึงกระจับใหญ่ไปเกาะเมืองท้าว ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางบึง ตัวสะพานลูกบวบทำด้วยไม้ทอดตัวยาวกลางน้ำ มองเห็นทัศนียภาพที่ของบึงน้ำได้แบบสวยงาม แถมมีลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งวัน
ขณะขับรถเข้ามาในพื้นที่ของบึงกระจับใหญ่ มองเห็นสะพานไกลๆ ในตอนแรกยังหวั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยแบบแน่นหนาหรือไม่ สามารถเดินได้จริงๆหรือเปล่า เพราะเป็นทางเดินไม้ไผ่แบบราบเรียบลอยไปกับน้ำ แต่พอได้ลงมาเดินบนสะพานมีความแข็งแรงมากเดินได้แบบชิวๆ บริเวณกลางสะพานเพิ่มความสวยงาม ด้วยการยกสูงให้ไปยืนเล่นชมวิวมองภาพของสะพานในมุมที่สูงขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ระหว่างทางก็จะเห็นร่องรอยของกระทงจำลองขนาดใหญ่เพราะที่นี่ใช้เป็นที่จัดงานลอยกระทงของชัยนาททุกปีอีกด้วย
12.15 น. ผัดไทยต้นตะขบ
ใช้เวลาเดินทางจากบึงกระจับใหญ่ประมาณ 40 นาที ย้อนกลับไปยังอำเภอสรรพยา (สับ-พะ-ยา) อำเภอเล็กๆติดแม่น้ำเจ้าพระยา สรรพยา เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงมีความเรียบง่ายของวิถีชีวิต ดึงดูดให้เราได้เข้าไปสัมผัสถึงความน่ารักของชุมชนเล็กๆแห่งนี้ แต่ก่อนเที่ยวท้องเริ่มส่งสัญญาณเตือนถึงความหิว ตั้งใจจะมาฝากท้องไว้ ที่ ร้านอาหารต้นตะขบ ซึ่งเป็นร้านชื่อดังของชัยนาท ตั้งอยู่ใกล้เขื่อนเจ้าพระยา ร้านนี้มีเมนูขึ้นชื่อ คือ ผัดไทย แบบต่างๆ เมนูเส้นผัดไทยที่หน้าตาดูธรรมดา แต่รสชาติกลมกล่อมมาก ตัวเส้นที่ใช้ ทั้งเส้นเล็ก เส้นเล็กนิ่มลื่น และวุ้นเส้นเหนียวนุ่มอร่อย นอกจากผัดไทยแล้วยังมีเมนูอื่นๆที่เป็นอาหารจานเดียวมีให้เลือกมากมาย โดยเน้นใช้ปลามาเป็นส่วนประกอบสมชื่อกับเป็นเมืองที่ติดเขื่อน ทั้ง ปลาลวกจิ้ม เมนูปลาทอดกระเทียม ทอดน้ำปลา เมนูต้มยำ และเมนูผัดฉ่า
13.00 น. เขื่อนเจ้าพระยา
ไม่ไกลจากร้านต้นตะขบ คือ ที่ตั้งของ เขื่อนเจ้าพระยา สถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของชัยนาท ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสรรพยา เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีทัศนียภาพรอบเขื่อนสวยงาม โดยได้จัดทำเป็นสะพานทอดยาวไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทสำหรับเดินเล่นชมวิวริมเขื่อนได้ โดยเฉพาะในยามเย็นเขื่อนเจ้าพระยาเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก
13.30 น. ผลิตภัณฑ์ผักตบชวาบ้านอ้อย
สรรพยา มีผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ขึ้นชื่อ คือ ผลิตภัณฑ์ผักตบชวาบ้านอ้อย เป็นงานฝีมือของกลุ่มคนในชุมชนที่มีความสนใจด้านงานจักสาน โดยการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มสมาชิกขึ้นมา เป็นการสร้างความมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นการระดมความคิดทางด้านการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผลิตภัณฑ์และชุมชนอื่น ทางกลุ่มมีการถ่ายทอดความรู้สู่ท้องถิ่นใกล้เคียง จังหวัดต่างๆ และผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน
โดยมีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เช่น การพันเกลียวผักตบชวา และพัฒนารูปแบบการจักสานมาเป็นกระเป๋าสุภาพสตรี กระจาด ตะกร้าใส่ของใช้ต่างๆ มากมาย โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้ผลงานที่สวยงาม ทันสมัย มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน สำหรับใครที่ชอบผลิตภัณฑ์แนวนี้ก็มาเลือกซื้อหาได้มีกระเป๋าแบบเก๋ๆมากมาย ที่สำคัญราคาไม่แพงมาก
14.00 น. วัดสรรพยา
มาเยือนอำเภอสรรพยา ชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดชัยนาททั้งที ต้องไปแวะที่ วัดสรรพยาวัฒนาราม กราบสักการะหลวงปู่เฟื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ บริเวณประตูเข้าวัดมีหลวงพ่อพุทธสำเร็จ พระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าวัด ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอย่าง อุโบสถหลังเก่า พระวิหาร ศาลาพระพุทธ และกลุ่มเจดีย์ ศิลปะสมัยอยุธยาอายุกว่า 100 ปี บรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบายเพราะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเรียบร้อยแล้ว
วิหารน้อย วิหารเก่าแก่ภายในพระวิหารมีพระพุทธรุปปางกราบพระบรมศพซึ่งหาชมยาก พบเพียงไม่กี่วัดในประเทศไทย สำหรับที่นี่พระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในสภาพสมบูรณ์และครบถ้วนตามหลักพระรัตนตรัย คือ มีพระพุทธเจ้าประทับนอนในหีบพระบรมศพ มีพระสงฆ์ ได้แก่ พระมหากัสสปะ (องค์สีทอง) พระอริยสงฆ์ นั่งสมาธิปลงสังเวช และพระสมมติสงฆ์นั่งชันเข่าในอาการเศร้าโศกเป็นตัวแทนของปุถุชน ทั้งหมดประกอบรวมเป็นหลักคำสอนหรือพระธรรมนั่นเอง ส่วนพระบาทยื่นออกมานอกหีบเป็นปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระมหากัสสปะถวายบังคม ก่อนไฟลุกไหม้พระบรมศพ ไม่เพียงสะท้อนสัจธรรมชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น และชาวบ้านยังนิยมกราบไหว้พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ เพื่อขอพรเกี่ยวกับสุขภาพให้หายจากอาการเจ็บป่วยหรือให้ร่างกายแข็งแรง ข้างบนเพดานวิหารมีการติดกระจกไว้สามารถมององค์พระพุทธรูปนอนหงายได้แบบเต็มองค์จากกระจก บริเวณผนังด้านหลังพระวิหาร มีภาพแกะสลักพระพุทธรูปโบราณที่ดูเก่าแก่และงดงามมาก มองไปที่รอบองค์พระพุทธรูปมีต้นโพธิ์ต้นเล็กๆ ขึ้นแซมออกมาจากผนังด้วยแปลกมาก
14.30 น. ชุมชนเก่าสรรพยา
ติดกับวัดสรรพยา คือ ชุมชนเก่าตลาดสรรพยา ชุมชนเล็กๆที่มีบ้านเรือนเก่าแก่ เป็นอาคารไม้ที่สวยงามหลายหลัง โดยชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ไว้ บ้านเรือนเรียงรายอยู่ตลอดสองฝั่งถนน ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ แรกของเดือน ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น. ที่นี่จะมีตลาดกรีนดี หรือ ตลาดโรงพักเก่าสรรพยาเป็นตลาดที่ไม่ใช่โฟมในการใส่อาหารแห่งแรกในชัยนาท บรรยาศจะคึกคัก มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของสินค้าและอาหารท้องถิ่น ต่างๆ มากมาย แต่ถ้ามาเที่ยวในช่วงเวลาอื่นบรรยากาศก็จะเงียบสงบ ซึ่งสามารถมาเดินเล่นชมบ้านเรือน และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนได้
นอกจากบ้านเรือนเก่าแก่ตลอดสองฝั่งถนนที่มีให้ได้ชมแล้ว ยังมีภาพเพ้นท์ผนังที่น่ารัก ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชนชาวสรรพยาชุมชนริมน้ำที่มีความผูกพันธุ์กับสายน้ำเจ้าพระยามาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นภาพกลุ่มเด็กหัวจุกกระโดดน้ำอย่างสนุกสนาน ภาพชาวบ้านกำลังใช้สุ่มจับปลา และภาพควายกำลังเล่นน้ำเป็นภาพแบบสามมิติให้เราได้โพสต์ท่าจูงด้วย
เดินมาเกือบสุดชุมชน เราจะโรงพักเก่าแก่โบราณ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าตลาดเก่าสรรพยา เป็นอาคารทรงปั้นหยาสีขาวครีมยกพื้นสูง อายุกว่า 100 ปี ตามประวัติก่อสร้างโรงพักเก่าสรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2444 หรือ ร.ศ.120 สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งปี พ.ศ.2530 ได้ย้ายออกไปสร้างโรงพักแห่งใหม่ ทำให้บริเวณดังกล่าวเงียบเหงามาก ชาวบ้านเห็นอาคารเริ่มทรุดโทรม จึงอยากให้อนุรักษ์และพัฒนาไว้เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นอาคารโรงพักเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ต่อมาทางเทศบาลตำบลสรรพยา จึงปรับปรุงพัฒนาให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ โดยทำเป็นศูนย์วัฒนธรรมชุมชน เพื่อรองรับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นพิพิธภัณฑ์อันเก่าแก่ที่สวยงามของ อ.สรรพยา จึงทยอยปรับปรุงโรงพักเก่าและตกแต่งตัวอาคารและภูมิทัศน์จนสวยงาม เรียกว่า เหมาะสำหรับมาถ่ายภาพ สไตล์วินเทจเก๋ๆมาก
16.00 น. คลาสิคคารวาน คาเฟ่
เที่ยวในชุมชนสรรยากันจนเต็มอิ่ม ได้เวลากลับแล้ว ก่อนกลับเราแวะจิบเครื่องดื่มกันเบาที่ คลาสสิคคาร์คาราวาน คาเฟ่ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสรรพยา เช่นกัน แต่จะอยู่ติดถนนสายเอเซีย กม 117 ขาเข้ากรุงเทพ ซึ่งสามารถแวะได้ตอนกลับ เพราะเป็นเส้นทางผ่าน ร้านนี้เป็นทั้งที่พักและคาเฟ่ โดยที่พักจะเป็นรถบ้านให้เราได้เลือกนอนรวมทั้งบ้านพักแบบเป็นหลังใครไม่พักก็มาทานอาหารได้ มีทั้งอาหารให้เลือกและเครื่องดื่มหลายเมนู
บรรยากาศของร้านตกแต่งแบบสบายๆ ร่มรื่นมาก กลางสวน มีที่นั่งแบบบนต้นไม้ขนาดใหญ่เก๋มาก และมีสวนสัตว์น้อยๆ ให้เราได้มาถ่ายรูปเล่น หรือจะให้อาหารก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบ่อปลาคาร์ฟ ที่มีปลาเยอะมาก หรือจะเป็นให้นมแพะ ขี่ม้า ให้อาหารกระต่าย แล้วแต่ชอบ พื้นที่ด้านหลังร้านติดทุ่งนา มีรถบ้าน และที่นั่งให้นั่งเล่นชมบรรยากาศได้อย่างผ่อนคลาย แถมเป็นมุมเก๋ๆให้ถ่ายภาพได้อีกด้วย
จบทริป 1 วัน ได้อะไรหลายอย่างที่ชัยนาท ทั้งวัดเก่าโบราณที่สวยงาม เที่ยวธรรมชาติ ชุมชมเก่าแบบคลาสิค ได้ทานอาหารอร่อย แวะคาเฟ่สวย เป็นจังหวัดที่ยังคงมีความสงบและผู้คนยังคงใช้ชีวิตกันแบบรักษาวัฒนธรรมไว้อย่างเหนียวแน่น
รวมสถานที่ท่องเที่ยวชัยนาท ที่เที่ยว ที่กิน ชัยนาท
บันทึก
3
3
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย