15 มิ.ย. 2019 เวลา 01:33 • การศึกษา
ตอนที่ 60 งูพิษกัด ต้องขันชะเนาะหรือไม่?
คราวก่อนเราพูดกันไปแล้วว่างูพิษแต่ละชนิดมีลักษณะเด่นเป็นที่สังเกตยังไง คราวนี้เราจะมาดูต่อกันว่า ในกรณีที่โชคร้ายถูกงูพิษกัด เราจะมีวิธีปฐมพยาบาลบังไงก่อนที่จะไปพบแพทย์ มาดูพร้อมกันเลยฮะ!
ถ้าเคยได้ยินความรู้การปฐมพยาบาลงูกัดในสมัยก่อน เราคงพอรู้จักการ "ขันชะเนาะ" กันบ้างใช่มั้ยฮะ เดิมเราเชื่อกันว่าการขันชะเนาะจะช่วยให้พิษงูแพร่เข้าสู่หัวใจได้ช้าลง แต่ปัจจุบันพบว่าการขันชะเนาะไม่ได้มีประสิทธิภาพมากมายขนาดที่เชื่อกัน นอกจากนี้การขันชะเนาะผิดวิธี เช่น รัดแน่นไป ไม่ได้คลายออกเป็นระยะ ก็อาจจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ต่ำกว่าชะเนาะและรอบๆ บาดแผล ขาดเลือดและเกิดเนื้อตายเป็นวงกว้างมากกว่าเดิม (โดยเฉพาะแผลพิษงูชนิดที่มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่ออยู่แล้ว) ดังนั้นปัจจุบันโดยทั่วไปจึง *ไม่แนะนำ* ให้ขันชะเนาะอีกต่อไปฮะ
สิ่งที่ควรทำเมื่อถูกงูพิษกัด อันดับแรกคือ ตั้งสติ! จากนั้นล้างแผลและทำแผลเหมือนแผลปกติทั่วไป ในกรณีที่มีผ้ายืด ให้พันผ้ายืดพอกระชับโดยไล่จากปลายมือหรือเท้าขึ้นมา จากนั้นใช้ไม้หรือของแข็งดามแล้วใช้ผ้าพันอีกรอบ เป้าหมายคือเพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่งๆ เนื่องจากจะทำให้พิษกระจายช้าลงฮะ หลังจากนั้นให้พยายามวางส่วนที่โดนกัดให้ต่ำกว่าหัวใจ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
สิ่งที่ไม่ควรทำคือ ไม่ควรใช้ไฟลน ใช้ไฟช็อต หรือเอามีดกรีดแผล (มักมีความเชื่อว่าการใช้ไฟฟ้าหรือความร้อนจะทำให้โปรตีนพิษงูเสียสภาพและหมดความเป็นพิษ ซึ่งไม่มีข้อพิสูจน์) การทำเช่นนั้นมักทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บมากขึ้นและอาจเกิดผลแทรกซ้อนในภายหลัง นอกจากนี้ห้ามใช้ปากดูดเลือดออกจากบาดแผลเนื่องจากอาจทำให้ได้รับพิษงูตามไปด้วยอีกราย ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มสุราหรือกินยานอนหลับ (รวมถึงยากระตุ้นหัวใจอื่นๆ) เพราะจะทำให้สังเกตอาการผู้ป่วยได้ยากขึ้น สุดท้ายคือไม่ควรขันชะเนาะอย่างที่กล่าวไปแล้ว การขันชะเนาะนั้นมีที่ใช้จำกัดมากในกรณีที่มั่นใจว่าโดนงูพิษต่อระบบประสาทกัดแน่ๆ และไม่สามารถนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ในเวลาอันสั้น ในกรณีนี้ต้องขันชะเนาะให้รัดเหนือบาดแผลแต่ไม่แน่นเกินไปโดยให้สอดนิ้วเข้าไปได้ และต้องไม่ลืมคลายออกทุก 15 นาทีด้วยฮะ
ย้ำข้อความเดิมในตอนที่แล้วอีกครั้งหนึ่ง คือ ในกรณีที่งูหนีไปไม่ต้องพยายามตามจับนะฮะ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลก่อน เนื่องจากแพทย์จะสามารถคาดเดาชนิดของงูได้จากการดูลักษณะบาดแผลว่าบวมหรือไม่ ประกอบกับเวลาและสถานที่ที่โดนกัด และกรณีทราบกลุ่มของงูว่าเป็นพิษต่อระบบใด (จากอาการแสดง) แต่ไม่ทราบชนิดจำเพาะของงู แพทย์สามารถให้เซรุ่มชนิดรวมกับผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ในกรณีที่ไม่มีเซรุ่มจริงๆ การรักษาประคับประคองที่เหมาะสมก็ยังอาจจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ฮะ
"เรื่องหมอง้ายง่ายกับมะไฟ" ตีพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ทุกวันศุกร์ สามารถติดตามได้ทั้งในหนังสือ และทาง Facebook & Blockdit “มะไฟ” ฮะ!
(สามารถโหลด app ได้ทั้ง iOS และ Android จากนั้น search หาชื่อ “มะไฟ” ได้เลยฮะ แล้วก็อย่าลืมกด follow เป็นอันเสร็จ!)
โฆษณา