15 มิ.ย. 2019 เวลา 12:23 • การศึกษา
ย้อนรอย Timeline
============
“ทับทิมอัฟริกา -ทำไมต้องเผาอุดแก้วตะกั่ว (Lead Glass Filled)"
คงปฏิเสธไม่ได้ที่ทุกวันนี้ เวลาเดินผ่านร้านขายเพชรพลอยทีไร… มักจะเห็นคนขายพลอยทับทิมกันเกลื่อน
.
พลอยมีสีแดงสวยฉ่ำ และมีให้เลือกกันตั้งแต่เม็ดเล็ก จนเม็ดใหญ่ จะหาแบบเม็ดโตเขื่องๆ ทั้งแบบพลอยเจียระไน หรือจะเป็นทรงหลังเบี้ย หลังเต่า ล้วนก็มีให้เห็น ให้เลือกกันมากมาย…
พลอยทับทิม เผาอุดแก้วตะกั่ว จากโมซัมบิค
พอลองได้ถามราคา ก็กลับประหลาดใจ เพราะราคาก็ไม่ได้แพงกันอย่างที่คิด… ผิดจากสมัยก่อนที่กว่าจะหาทับทิมสวยๆสักเม็ด แทบงมเข็มกันทีเดียว แถมราคาที่รับฟังกันมาก็สู้ไม่ไหว….
.
จนบางทีก็ตั้งคำถามในใจว่า
แล้วมันของแท้… หรือของปลอมกันเนี่ย… (แม้จะแอบเห็นใบเซอร์จากห้องแลป การันตีสินค้ากันอยู่ก็ตาม)
อัพเดทราคาพลอย ถ่ายจากงานแฟร์ต่างประเทศ ช่วงมีค. 2562
อย่างที่เล่ากันไปในโพสต์ก่อนหน้า ที่ว่ามีการขุดเจอพลอยทับทิมเป็นจำนวนมากทางอัฟริกา เจอทั้งสีแดงฉ่ำสวยๆ ทั้งเล็กใหญ่ จนเป็นที่โด่งดังโดยเฉพาะเหมืองทับทิมที่มาจากทางประเทศโมซัมบิก
แต่แม้จะขุดพบเจอพลอยเป็นจำนวนมาก แต่พลอยส่วนใหญ่ที่พบกลับมีคุณภาพต่ำ เจอตำหนิทั้งประเภทจุดดำ(Black Crystal), หมอกควัน(Finger Print, Minute) บางเม็ดเจอตำหนิหนัก (Crack, Liquid, Cavities etc. ) จนโผล่ถึงบริเวณผิวพลอยก็มี เรียกได้ว่าไม่สามารถนำมาขึ้นงานทำเครื่องประดับกันเลย
ในช่วงของการเริ่มต้น แม้จะมีการนำไปเผาในรูปแบบเก่า เพื่อปรับปรุงคุณภาพแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นจากเดิมมากนัก แต่ด้วยผลจากการขุดเจอพลอยทับทิมที่เยอะ แน่นอนที่ว่า ต้นทุนราคาพลอยก้อนจึงอยู่ในระดับที่ถูกเอามากๆ (ขายยกกันเป็นกิโล) มันจึงเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการนำมาลองผิดลองถูก และเริ่มพัฒนาการเผารูปแบบใหม่อีกครั้ง
การเผารูปแบบใหม่ที่ว่านี้เริ่มต้นจากการนำ “แก้ว กับธาตุตะกั่ว” มาใช้ร่วมในการเผา โดยเมื่ออุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น แก้ว กับตะกั่ว ถูกหลอมละลาย และแทรกซึมเข้าอุดร่องรอยมลทินภายในเนื้อพลอยได้ ทำให้พลอยมีเนื้อดูดีขึ้น แววาว สดใสมากขึ้น และเป็นที่มาของคำว่า "พลอยเผาใหม่" หรือชื่อทางการค้า "Newly Treated Ruby" ในปัจจุบัน
ในส่วนของพลอยก้อนที่จะนำมาทำส่วนใหญ่เป็นพลอยที่มีตำหนิแตกจากในเนื้อพลอยขึ้นมาจนถึงผิวพลอย เพราะเป็นช่องทางที่ แก้วตะกั่ว สามารถซึมผ่านทางร่องรอยแตกเพื่ออุดตำหนิภายในได้ (*เผาใหม่เฉพาะพลอยก้อนที่มีคุณภาพต่ำ ส่วนพลอยก้อนที่มีคุณสมบัติดีขึ้นมา สามารถทำเผาเก่าได้ ก็จะคัดแยกออกมาเพื่อการเผาแบบเก่า หรือถ้าคุณภาพดีไปเลยก็จะนิยมทำกันเป็นพลอยดิบ หรือขายเป็นพลอยสดไปเลย)
และจะว่าไปแล้ว วิธีการเผาแบบอุดแก้วตะกั่วสำหรับวิธีการ "เผาใหม่"นี้ แท้จริงก็คล้ายๆกับวิธีการเผาอุดแก้วที่มีมาแต่เดิม ซึ่งคนไทยรู้จักวิธีการนี้ในชื่อ "พลอยอุด" ส่วนคนทำพลอยมักจะเรียกว่า "พลอยอ๊อก" หากแต่โบราณใช้เพียงแค่แก้ว ส่วนปัจจุบันใช้ "แก้วตะกั่ว" แทน
แม้รูปแบบการเผาอุดแก้วจะริเริ่มทำกันมาแต่โบราณก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันนักในตลาดโลก ดังนั้นการเผาอุดแก้วตะกั่วรูปแบบใหม่นี้ ก็เป็นเช่นกัน
*********
คำถามคือ “ทำไม”
*********
📌 "แก้ว หรือแก้วตะกั่ว ที่ถูกอุดในเนื้อพลอย เป็นสิ่งที่ไม่คงทนถาวร สามารถหลุดออกเองได้"
เมื่อใดที่แก้วตะกั่วหลุดออก ก็จะพบความจริง เห็นร่องรอยแตก เห็นหลุมของพลอยเม็ดนั้นอย่างชัดเจน เรียกว่า "ธรรมชาติ ก็ย่อมคืนสู่ธรรมชาติเช่นกัน"
ส่วนถ้ามีการนำพลอยเผาอุดแก้วตะกั่ว ไปผ่านขบวนการการทำเครื่องประดับ ในขั้นตอนการชุบตัวเรือน น้ำยาจากขบวนการชุบ และความร้อนระดับการตื๊ด (Cleanings) สามารถกัดกร่อน ล้าง “แก้วตะกั่ว” ให้หลุดออกมาได้โดยง่าย ทำให้พลอยอุดแก้วตะกั่วสามารถลั่นแตกได้โดยง่าย
ดังนั้นผู้ผลิตจึงแก้ปัญหาโดยจะชุบงานที่ตัวเรือนให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงค่อยฝัง "พลอยเผาอุดแก้วตะกั่ว" ในขั้นตอนสุดท้าย
.
ส่วนในแง่ของผู้ใช้งานก็เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไปตัวเรือนที่ใช้เริ่มเก่า การนำตัวเรือนไปชุบใหม่ ก็จำเป็นต้องแกะพลอยออกก่อน แล้วจึงชุบตัวเรือนให้เสร็จ ก่อนฝังพลอยในขั้นตอนสุดท้ายเช่นกัน
📌 "พลอยที่ผ่านการเผาแบบอุดแก้วตะกั่ว มีความเปราะ ไม่คงทนเหมือนพลอยที่เผาแบบเก่า"
.
ทั้งนี้เพราะรูปแบบการเผาใหม่นี้ ใช้น้ำยาเผาใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงเช่นกัน ซึ่งรุนแรงพอที่จะทำให้พลอยทับทิมที่ผ่านวิธีการเผาใหม่ มีความเปราะ และไม่คงทน
ถ้าคุณได้ลองทำพลอยหล่นพื้น หรือแม้พลอยมีการกระทบกระทั่งพลอยด้วยกันเอง ก็สามารถลั่นแตกได้โดยง่ายเช่นกัน (นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบ ที่ส่งผลต่อผู้เผาพลอยเองโดยตรง และผู้ที่เจียระไนพลอยดังกล่าว ซึ่งผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดในมุมลึกๆครับ)
📌 พลอยทับทิมโดยตามธรรมชาติ ประกอบไปด้วยแร่ธาตุ Al2O3 ซึ่งเป็นแร่ธาตุหลัก และมีฟอร์มตัวจากธรรมชาติเอง เมื่อมีการนำ “แก้ว กับตะกั่ว” ปลอมปนอุดเข้าไปในเนื้อพลอย โดยแร่ธาตุดังกล่าวล้วนเกิดจากมนุษย์ใส่ หรือสร้างเข้าไป
ดังนั้นจึงเกิดความคิดเห็นต่างกัน ในแง่การยอมรับความเป็นธรรมชาติของพลอยทับทิมที่มีมาแต่โบราณ กับทับทิมรูปแบบใหม่ ซึ่งมีวิธีการที่มาแตกต่างกัน
และแน่นอนที่... บางทีก็มักได้ยินคนในวงการเรียกชื่อแปลกๆกัน เช่น New Ruby, Glass Ruby กัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น รวมถึงปริมาณการขุดเจอที่ยังคงเยอะอยู่ ย่อมส่งผลให้เห็นราคาพลอยชนิดนี้ที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งก็เป็นราคาสะท้อนตามต้นทุนจริงๆของพลอยชนิดนี้นั่นเองครับ
และบทสรุปเรื่องราคาพลอยที่ไม่แพงนี่เอง ทำให้วันนี้เราได้มีโอกาสเห็นพลอยทับทิมเม็ดใหญ่ๆเขื่องๆบนสร้อยคอ บนเครื่องประดับมากมาย และรวมถึงการนำพลอยทับทิมอุดแก้วตะกั่วมาลงตัวเรือนเงินขายกันมากมาย
🎈อ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าคุณคงหายสงสัยกันแล้วว่าทำไมจึงเห็นพลอยทับทิมกันเยอะ ทำไมราคาพลอยทับทิมที่เห็นจึงไม่แพง และคุณคงอยากรู้แล้วว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่าพลอยที่ซื้อมามีการอุดแก้วตะกั่วกัน และในใบเซอร์จากแลปจะระบุอย่างไร โพสต์หน้าเราจะมาเล่าเรื่องราว "พลอยอาฟ" ในมุมที่คุณไม่รู้กันต่อครับ....
"น้ำหนึ่งเจมส์"
(เซ็นทรัลพระราม2, ชั้น 2, ติดราวบันไดเลื่อน ตรงข้ามร้าน Matsumoto Kiyoshi)
รับรองสมาชิกโดย
#สมาคมผู้ค้าอัญมณีเครื่องประดับจันทบุรี
สมาชิกกรมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์
"ความสุขของคุณ...
คือความภูมิใจของเรา"
ช่องทางติดต่อ
✅OFFICIAL LINE: @nngjewelry
✅Facebook: @nngjewelry
✅Instagram : @nngjewelry
15/06/2562
โฆษณา