16 มิ.ย. 2019 เวลา 05:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เปิดทำเนียบงานวิจัยลวงโลก
ตอนที่ 2 หมอกระดูกผูกปม (ค.ศ.1980-2016)
Yoshihiro Sato เป็นหมอกระดูกที่ รพ. Mitate ตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆที่ญี่ปุ่นชื่อ Tagawa เขาทำวิจัยเรื่องผลกระทบของวิตามิน อาหารเสริม และยา ต่อความแข็งแรงของกระดูกในกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ
ในระยะเวลา 30 กว่าปี คุณหมอ Sato ตีพิมพ์งานวิจัยไปกว่า 200 เรื่อง และถูกอ้างอิงกว่า 4000 ครั้ง สร้างผลกระทบต่อการวงการสาธารณสุขของญี่ปุ่นอย่างเป็นวงกว้าง
1
เนื่องจากเขาตีพิมพ์งานวิจัยเป็นจำนวนมากในหัวข้อที่ไม่ได้มีคนอื่นศึกษามากเท่าไร ผลลัพธ์จากงานวิจัยของ Sato จึงถูกนำไปใช้เป็นข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเสริมให้กับผู้ป่วยหลายๆโรค เช่น วิตามิน K ถูกแนะนำให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพื่อเพิ่มมวลกระดูก ยา bisphosphonates ช่วยลดการแตกของกระดูกสะโพกในกลุ่มผู้ป่วย Stroke หรือพาร์กินสัน และวิตามิน B ช่วยลดการแตกของกระดูกในกลุ่มผู้หญิงวัยทอง นอกจากถูกนำไปใช้โดยตรงแล้วงานวิจัยของ Sato ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานวิจัยอื่นๆตามมาอีกมากหลาย ทั้งงานวิจัยเชิงทดลอง และ meta-analysis ทางการแพทย์
ภายใต้ความสวยงามผลการทดลอง งานวิจัยของ Sato มีบางสิ่งที่น่าฉงนสนเท่ห์
ในเปเปอร์ปี 2005 Sato รายงานว่ายาชื่อ risedronate สามารถลดการแตกของกระดูกสะโพกในกลุ่มผู้ป่วย Stroke เพศหญิงได้ถึง 86% โดยเขาเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ป่วย 374 คน ซึ่งสมัครเข้าร่วมโครงการ clinical trials ในระยะเวลา 4 เดือนเท่านั้น ในปี 2007 งานวิจัยเรื่องเดียวกันก็สามารถหาอาสาสมัครผู้ป่วย stroke เพศชายได้ถึง 280 คน ภายในระยะเวลาแค่ 2 เดือน และในงานวิจัยกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เขาก็สามารถหาอาสาสมัครได้ถึง 500 คนในเวลาไม่มาก โดย Sato รายงานว่าเขาเป็นคนตรวจผู้ป่วยทุกคนด้วยตัวเอง และอาสาสมัครส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการจนจบ ไม่ถอนตัวไปกลางคัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งสำหรับงานวิจัยเชิง clinical trials
จนกระทั่งเมื่อปี 2012 ทีมนักวิจัยจากอังกฤษและนิวซีแลนด์ผู้ศึกษาเรื่องการกินแคลเซียมเป็นอาหารเสริมอ่านเจอเปเปอร์ของ Sato เข้า ผลที่ดีเหลือเชื่อและปริมาณอาสาสมัครที่ล้นหลามไปกระตุกต่อมสงสัยของนักวิจัยทั้ง 4 เข้าอย่างจัง
พวกเขาจึงค่อยๆขุดงานของ Sato ออกมาดูทีละชิ้น และพบว่ามีงานวิจัย 33 เรื่องที่มีกลิ่นแปลกๆ โดยงานวิจัยทั้งหมดคือ clinical trials ที่ใช้ผู้ป่วยอาสาสมัครรวมทั้งสิ้น 5894 คน
ทีมนักขุดนำข้อมูลของกลุ่มอาสาสมัครที่ Sato รายงานไว้ในเปเปอร์ เช่น อายุ น้ำหนัก ความดัน มวลกระดูก และอีกหลายร้อยตัวแปร มาพล็อตรวมกันเพื่อหาค่า p-value ซึ่งบอกถึงความต่างหรือคล้ายคลึงกันระหว่างกลุ่มตัวอย่างในแต่จะงานวิจัย พวกเขาพบว่ากลุ่มผู้ป่วยจากงานวิจัยทั้ง 33 เรื่องมีความเหมือนกันอย่างผิดปกติ จึงเป็นไปได้อย่างสูงว่า Sato ปลอมข้อมูลขึ้นแทนที่จะเก็บมาจากตัวอย่างจริง เมื่อได้เห็นสถิติที่เหลือเชื่อเช่นนี้ ทีมนักขุดจึงติดสินใจส่งผลงานการขุดไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
กราฟฟิกแสดงผลงานปลอมๆของ Sato และผลกระทบที่มีต่องานวิจัยอื่น /ภาพจาก Science
ถึงแม้ว่าเปเปอร์ของทีมนักขุดจะวนลูป rejection อยู่หลายปี แต่ข่าวความสะตอของ Sato ก็แพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆค่อยๆ retract งานของ Sato ออกจากวารสารของตน และตั้งคณะกรรมการสอบสวน Sato และ co-authors จนจับได้ว่า Sato มีความผิดจริง
Sato ฆ่าตัวตายในปี 2016 หลังจากเปเปอร์แฉถูกตีพิมพ์ได้ไม่นาน
ใบปัจจุบัน เปเปอร์ 46 ฉบับของ Sato ถูกถอนจากวารสารวิชาการ โดย 21 ฉบับมาจาก clinical trials 33 เรื่องที่ถูกแฉ ทำให้ชื่อของ Sato ติดอันดับ 5 ของ Retraction Watch List ซึ่งจัดอันดับนักวิจัยที่มีเปเปอร์ที่ถูกถอนออกจากวารสารมากที่สุดในโลก
ที่น่าแปลกคือ ใน Top 10 ของ Retraction Watch list เป็นนักวิจัยชาวญี่ปุ่นถึง 4 คน (อันดับ 1, 3,5,6) ทั้งๆที่ 5% ของเปเปอร์ที่ตีพิมพ์ในโลกมาจากญี่ปุ่น
ทำไมถึงเป็นแบบนี้ไปได้?
นักวิจัยชาวญี่ปุ่นให้ตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นได้รับความนับหน้าถือตามาก และน้อยคนนักจะคิดตั้งข้อสงสัยอาจารย์ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการทำงานของอาจารย์เหล่านี้ และด้วยกิติศัพท์เรื่องความซื่อตรงของคนญี่ปุ่นทำให้คนต่างชาติเองก็ไม่คิดจับผิดผลงานจากญี่ปุ่น กว่าจะถูกจับได้ อาจารย์ขี้โกงเหล่านี้ก็ถลำลึกลงไปอย่างกู่ไม่กลับ สร้างผลงานปลอมๆติดอันดับโลกไปเสียแล้ว
งานวิจัยที่ขาดการตรวจสอบ ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้นำที่ไม่มีใครทัดทาน หรือกฎหมายที่ไร้ผู้พิทักษ์ ระบบที่ไม่มีการคานอำนาจ รังแต่จะเปลี่ยนคนสีขาวให้เป็นสีเทา และคนสีเทาให้เป็นดำมืด
หากตรวจสอบพฤติกรรมไม่ได้ ศีลธรรมที่ว่ามีมากมายมันก็แค่ลมปาก
#นักวิจัยไส้แห้ง
อ้างอิง
Scoop พิเศษเจาะลึกเรื่อง Sato จากวารสาร Science https://www.sciencemag.org/news/2018/08/researcher-center-epic-fraud-remains-enigma-those-who-exposed-him
เปเปอร์แฉจากทีมนักขุด http://n.neurology.org/content/early/2016/11/09/WNL.0000000000003387
โฆษณา