22 มิ.ย. 2019 เวลา 00:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เปิดทำเนียบงานวิจัยลวงโลก
ตอนที่ 5 เลือดหยดเดียว (บทที่ 1 จาก 2) (ค.ศ. 2003-2016)
งานวิจัยลวงโลกหลายงานถูกแฉเมื่อยังอยู่บนหิ้ง แต่เรื่องราวที่แอดจะมาเล่าในวันนี้ คืองานวิจัยขึ้นห้างที่ฉาวโฉ่ที่สุดในทศวรรษนี้
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นจากสาวน้อย Elizabeth Holmes นักศึกษาปีหนึ่งภาควิศวเคมีแห่งมหาวิทยาลัย Stanford ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย Elizabeth เป็นลูกสาวคนโตจากตระกูลผู้ดี เธอมีเกรดระดับท็อป พูดภาษาจีนได้ดีเลิศ และยังมีประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่สมัยมัธยม ด้วยคุณสมบัติของนักเรียนตัวอย่างทำให้เธอก็กลายเป็นศิษย์โปรดของคณบดี Channing Robertson จนได้ตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยที่แล็บของอาจารย์
เมื่อจบปีหนึ่ง Elizabeth เลือกไปฝึกงานที่สถาบันจีโนมแห่งสิงคโปร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรค SARS กำลังระบาดหนักในเอเชีย หน้าที่ของเธอคือการเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยจำนวนมาก ประสบการณ์ในซัมเมอร์นั้นประกอบกับโรคกลัวเข็มอันเป็นทุนเดิม เป็นแรงบันดาลใจให้ Elizabeth ร่างสิทธิบัตรแรกในชีวิตของเธอขึ้นมา
สิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการของเธอคือแผ่นแปะที่ทำจากเข็ม microneedles ที่สามารถแทงผ่านชั้นผิวหนังเพื่อวินิจฉัยโรคจากค่าต่างๆในเลือดและส่งโดสยาที่เหมาะสมเพื่อรักษาผู้ป่วย ความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นของ Elizabeth สร้างความประทับใจให้ Channing Robertson อย่างมาก เขาแนะนำให้เธอออกล่าตามความฝัน
ในปี 2003 หลังจากเรียนที่ Stanford ไปได้เพียงปีกว่า สาวน้อย Elizabeth ในวัย 19 ปี ตัดสินใจลาออกจากมหาลัย และใช้ทุนที่พ่อแม่เก็บไว้จ่ายค่าเทอมมาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง ด้วยเน็ตเวิร์คที่กว้างขวางของครอบครัวและเพื่อนฝูงไฮโซที่เธอพบที่ Stanford Elizabeth สามารถหาเงินลงทุนงวดแรกได้ถึง 6 ล้านดอลลาร์ บริษัท Theranos ซึ่งสร้างมาจากคำว่า Therapy + Diagnosis จึงถูกก่อตั้งขึ้น
3
ทีม Theranos เลือกที่จะมุ่งเป้าพัฒนาเฉพาะเครื่องมือวินิจฉัยโรคจากเลือดโดยผสมผสานเทคนิคเชิง microfluidic และชีวเคมี เข้าด้วยกัน Elizabeth วาดภาพไว้ว่า คนไข้เพียงแค่เจาะเลือดจากปลายนิ้วใส่ลงในเครื่องอ่าน ซึ่งจะแยกพลาสมาส่งไปทำปฏิกิริยากับ antibody ที่มีความจำเพาะกับสารเคมีต่างๆในเลือด หลังจากทำปฏิกิริยาเสร็จแล้ว เครื่องมือก็จะส่งข้อมูลออนไลน์ไปให้หมอ Elizabeth ตั้งใจว่าเครื่องมือของเธอจะสามารถวัดสารได้เกือบทุกชนิด มีขนาดเล็ก และสามารถซื้อไปใช้ในครัวเรือน เธอเชื่อมั่นว่าบริษัทของเธอจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ดีขึ้นสำหรับทุกคน
วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่และสายสัมพันธ์อันกว้างขวางของ Elizabeth ทำให้ Theranos ได้ผู้บริหารมือดีและนักลงทุน Venture capital มาร่วมเป็นกรรมการได้หลายคน ด้วยอายุที่น้อยแสนน้อย ภาพลักษณ์ดูดีชาญฉลาด ความสามารถในการตรึงผู้ฟังให้หลงใหลในเสียงทุ้มต่ำผิดหญิงและดวงตาสีฟ้ากลมโตที่แทบไม่กระพริบ รวมถึงการแต่งตัวด้วยเสื้อคอเต่าสีดำเลียนแบบศาสดา Jobs ทำให้ Elizabeth เป็น CEO รุ่นใหม่ที่ทุกคนจับตามอง ขนานนามว่านางคือ Steve Jobs ภาคสตรีที่จะทำให้แผ่นดิน Silicon Valley ต้องสั่นสะเทือนด้วยเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติวงการแพทย์
ดวงตาสะกดจิตของ Elizabeth
แต่ภายใต้วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่คือเทคโนโลยีที่ไร้ประโยชน์ เครื่อง microfluidic ที่มีนามว่า Theranos 1.0 นั้นประสบปัญหามากมายจากขั้นตอนการแยกพลาสมาที่ไร้ประสิทธิภาพและผลการตรวจเลือดที่ไร้ความเที่ยงตรง กระนั้น Elizabeth ก็ยังยืนยันจะนำเครื่องมือต้นแบบนี้ไปแสดงให้นักลงทุนต่างๆดู โดยใช้วิธีเตรียมผลเลือดปลอมไว้ก่อนในกรณีที่เครื่องมือมีปัญหา
1
วิธีนี้ทำให้ Theranos ได้ทำสัญญากับบริษัทยายักษ์ใหญ่ Pfizer ให้นำเจ้ากล่อง Theranos 1.0 ไปใช้ใน clinical trial กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเพื่อตรวจประสิทธิภาพของยามะเร็ง กลโกงอันอุกอาจของ Elizabeth นั้นถูกปิดเป็นความลับอยู่ได้เพราะ Elizabeth ไม่อนุญาตให้พนักงานต่างฝ่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เธอจึงเป็นเพียงคนเดียวที่ทราบข้อมูลทั้งหมดในบริษัท และใครก็ตามที่ทักท้วงการกระทำอันไร้จริยธรรมของเธอเป็นอันถูกไล่ออกทันที แม้แต่ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของเธอเองก็ไม่เว้น
เพื่อแก้ปัญหา Theranos 1.0 ในปี 2007 ทีมวิศวกรเสนอวิธีขายผ้าเอาหน้ารอดด้วยการซื้อหุ่นยนต์จากโรงงานกาวมาใช้เป็นแขนกลเลียนแบบมนุษย์ ว่าง่ายๆมันคือหุ่นยนต์ถือ pipette นั่นเอง Elizabeth ตั้งชื่อเจ้าหุ่นยนต์หยอดกาวนี้ว่า Edison แล้วจ้างให้ดีไซเนอร์ชื่อดังจาก Apple ให้ออกแบบกล่องเก๋ๆมาครอบไว้ เจ้าหุ่น Edison นี้ทำงานได้ดีกว่า Theranos 1.0 แค่เพียงเล็กน้อย เพราะข้อบังคับเชิงดีไซน์ของ Elizabeth ที่กำหนดให้ใช้เลือดแค่หยดเดียวทำให้วิศวกรจำต้องเพิ่มปริมาตรเลือดด้วยการเจือจาง ซึ่งเพิ่มความคลาดเคลื่อนของการตรวจวัดอย่างมหันต์
2
ในปี 2009 Elizabeth จ้าง Sunny Balwani อดีตวิศวกรซอฟแวร์ชาวอินเดียที่ร่ำรวยมาจากยุคดอทคอมมาเป็นมือขวา Sunny ได้ตำแหน่งนี้ทั้งๆที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เพราะว่าเขาคือแฟนลับๆของ Elizabeth ที่แอบคบกันตั้งแต่ปี 2003 เมื่อ Elizabeth มีอายุเพียง 19 ปี ในขณะที่ Sunny อายุ 38 แถมมีเมียอยู่แล้ว
1
Elizabeth and sunny
Sunny เป็นเพียงคนเดียวที่รู้ความลับทุกอย่างในบริษัท หน้าที่ของเขาคือกดดันพนักงานในบริษัทให้ทำงานหนัก และกำจัดทุกคนที่ไม่จงรักภักดีออกไป ตั้งแต่ Sunny เข้ามาทำงาน เขาวางอำนาจบาดใหญ่ เล่นพวกพ้อง และไล่พนักงานที่แข็งข้อออก เหลือไว้แต่พนักงานสายประจบและสายสมยอม เขาและ Elizabeth ใช้ความกลัวผลักดันลูกน้อง และพร้อมที่จะดำเนินคดีกับใครก็ตามที่จะเปิดเผยความลับของบริษัท
ถึงแม้เทคโนโลยีจะใช้ไม่ได้ Elizabeth ก็ยังเดินหน้าขายฝันต่อ Theranos สร้างความร่วมมือกับบริษัทยาในยุโรป และได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเม็กซิโกให้นำเจ้าเครื่อง Edison เข้าไปตรวจ Swine flu รวมถึงได้รับตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยในประเทศไทยอีกด้วย Elizabeth ยังได้รับความไว้วางใจจากกองทัพให้นำเครื่องมือเข้าไปใช้ตรวจเลือดทหารในสนามรบที่อัฟกานิสถาน ถึงแม้ว่าความร่วมมือทั้งหมดจะประสบความล้มเหลวเพราะเทคโนโลยีไร้ประสิทธิภาพ แต่ Elizabeth ก็สามารถนำความร่วมมือเหล่านี้มาสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ Theranos จนได้
ภายในปี 2010 Theranos สามารถหาเงินลงทุนรวมได้ถึง 92 ล้านดอลลาร์ โดยดีลที่ใหญ่ที่สุดคือกับร้านขายยาที่มีสาขาทั่วประเทศอย่าง Walgreens ซึ่งเสนอว่าจะสร้าง wellness center รับตรวจเลือดลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีของ Theranos เพราะ Elizabeth อ้างว่าเครื่องมือของเธอสามารถตรวจโรคจากเลือดได้เป็นพันชนิด และสามารถทำได้อย่างรวดเร็วจากเลือดแค่หยดเดียว
เมื่อน้ำที่ปั้นมานานเริ่มตั้งเค้าเป็นประติมากรรม Elizabeth ต้องหาทางสร้างเครื่องมือที่สามารถตรวจโรคจากเลือดได้เป็นพันชนิดอย่างที่เธออ้าง เธอจึงเร่งให้ทีมวิศวกรสร้าง miniLab ซึ่งคือเครื่องมือเวอร์ชั่นใหม่ที่รวบรวมวิธีตรวจเลือดต่างๆเข้าด้วยกันในเครื่องเดียว เพื่อให้สามารถตรวจเลือดได้อย่างอัตโนมัติ แต่ก่อนที่ miniLab จะพร้อมใช้งาน Theranos จึงแก้ปัญหาหน้างานด้วยการใช้ Edison ผสมกับการใช้เครื่องตรวจเลือดมาตรฐานที่ซื้อมาจากบริษัทอื่นแก้ขัดไปก่อน
1
ในปี 2012 Theranos ถูกร้องเรียนจากกองทัพว่าเครื่องมือของบริษัทไม่มีการรับรองจากองค์การอาหารและยา ทำให้ FDA เข้าตรวจสอบแล็บ แต่ก็กลับรอดมาได้ด้วยความปลาไหลของทั้ง Elizabeth และ Sunny สถานการณ์ในบริษัทเริ่มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ miniLab ไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ ส่วนพนักงานก็พากันโดนไล่ออกเป็นว่าเล่น Ian Gibbons หัวหน้าแล็บชีวเคมีของ Theranos ผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีการตรวจเลือดหลายหลาก ถูกภาวะกดดันถาโถมจนซึมเศร้าและกินยาฆ่าตัวตายในปี 2013 แต่ Theranos ไม่แม้แต่จะจัดงานไว้อาลัยให้ Ian ทำให้ภรรยาของเขาโกรธมาก
ในปี 2013 Theranos เปิดตัว miniLab และ wellness center ที่ Walgreens แปลว่าใครก็ได้สามารถเดินเข้าไปที่ร้านขายยาแล้วขอตรวจเลือดโดยใช้เทคโนโลยีของ Theranos การเปิดตัวครั้งนี้ก่อให้เกิดการทักท้วงอย่างหนาหูจากทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในบริษัท เพราะพวกเขาต่างรู้ดีว่า เครื่องมือของ Theranos นั้นไม่มีความพร้อมใช้งานจริง การวินิจฉัยที่ผิดๆ อาจจะก่ออันตรายถึงชีวิตแก่คนไข้ได้
ไม่ว่าข้างในบริษัทจะปั่นป่วนแค่ไหน แต่ความสุกใสของภาพพจน์บริษัททำให้สื่อทั้งหลายต่างพากันให้ความสนใจ Elizabeth Holmes หนังสือนิตยสารระดับโลก เช่น Forbes Fortune หรือ New York Times เรียงรายมาขอให้เธอขึ้นปก เวทีไหนๆก็อยากให้เธอไปพูด ไม่ว่าจะเป็น TED Talk หรือเวทีอภิปรายกระทบไหล่ Bill Clinton และ Jack Ma
ในปี 2014 Theranos ได้รับการประเมินค่าอยู่ที่ 9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้ Elizabeth มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ เธอจึงกลายเป็นเศรษฐีพันล้านหญิงที่อายุน้อยที่สุดที่สร้างทรัพย์สินมาด้วยมือของเธอเอง Elizabeth ทำตัวแบบเซเลป จ้างบอดี้การ์ดชุดดำหลายคนรายล้อม จ้างเชฟส่วนตัวที่ตามเธอไปทุกที่ และเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เธอยังจ้างบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่เจ้าเดียวกับที่ Apple เคยใช้มาทำ PR ให้บริษัท และจ้างทนายมือหนี่งของประเทศ นามว่า David Boies มาเป็นทนายประจำบริษัท
แต่วิมานในอากาศของ Elizabeth นั้นลอยอยู่บนฟ้าได้ไม่นาน
จุดจบของ Theranos จะเป็นอย่างไร ติดตามต่อในตอนถัดไป
#นักวิจัยไส้แห้ง
อ้างอิง
Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup โดย John Carryrou
โฆษณา