17 มิ.ย. 2019 เวลา 04:28 • การศึกษา
เมื่อ "พึ่งพา" ไม่ใช่ "พึ่งพา (มา)"
ประเด็น ๑ ที่ทำให้เรามักเขียนผิด คือเราออกเสียงผิด และเมื่อออกเสียงผิดจนเคยชิน ทำให้เวลาต้องเขียนจึงเขียนผิด
ยกตัวอย่างที่รกตามากมายเมื่อมีเหตุแห่งมรณกรรมเกิดขึ้น ผู้คนอยากพูดว่า "ขอให้ไปสู่สุคติ" แต่มักมีผู้เขียนว่า สุขคติ เพราะไปออกเสียงเพลินว่า สุกคะติ แต่ถ้าเราพูดให้ชัด ๆ ทุกครั้งว่า สุคะติ น่าจะไม่ทำให้เขียนผิดอีกเลยนะครับ
หรือคำว่า "ปีติ" ที่มักพูดกันว่า "ปลาบปลื้มปิติยินดี" จะเห็นได้ชัดว่าตราบใดที่เรายังพูดว่า ปิติ เราจะไม่มีทางเขียนคำว่า ปีติ ถูกได้เลย คำ ๆ นี้ ป ปลา สระอี นะครับ
ยกเว้นบางคำที่เขียนไม่ตรงเสียงอ่านนะ ซึ่งนับว่าต้องใช้ความจำ และหรือความรู้ความเข้าใจถึงรากศัพท์ที่ไปที่มากันพอสมควร อาทิ ตรัส เรามีอีกคำให้เลือกใช้ที่มีความหมายเดียวกัน คือ ดำรัส ซึ่งจะเห็นว่าเราเขียน ดำรัด แต่อ่านว่า ดำหรัด
หรือ ตำรับ เขียนตามนั้นแหละครับ แต่อ่านว่า ตำหรับ และพอดีพอร้ายก็มีคนเขียน ตำหรับ เข้าจริง ๆ
กลับมาถึงคำว่า พึ่ง ซึ่งปัจจุบันพจนานุกรมให้ไว้ ๒ ความหมาย คือ พึ่ง ใน พึ่งพา และพึ่ง ใน พึ่งมา พึ่งมี พึ่งเป็น พึ่งคลอด อะไรทำนองนั้น
แต่ที่จริงเรามีคำอื่นที่เคยใช้กันมาก่อน หากแต่บัดนี้เหมือนจะล้มหายตายจากกันไปแล้ว อันได้แก่คำว่า เพ่อ หรือ เพิ่ง เช่น อย่าเพ่อเชื่อ พี่เพิ่งมาถึง ฯลฯ
ถ้าลำพังในภาษาพูด เราจะใช้คำว่า "พึ่ง" ในทั้ง ๒ ความหมายก็ดูจะไม่ใคร่กระไรนัก แต่ถ้านำมาใช้ในภาษาเขียน ผมว่ามันดูแปลก และต้องมานั่งเดาความหมายที่ต้องการจะสื่อ
สรุปว่าขอชักชวนให้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เรามาออกเสียงภาษาไทยให้ชัดถ้อยชัดคำกันเถิดครับ แม้ว่าจะไม่มีประโยชน์กับใคร (ซึ่งที่จริงน่ะมี) อย่างน้อยเราก็จะไม่เขียนคำบางคำผิดอีกครับ
โฆษณา